แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

บอร์ดนี้ คุยเรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์วัดความเร็ว ทั้งไมล์ธรรมดา ไร้สาย หรือระบบ GPS

ผู้ดูแล: seven@klein, Cycling B®y, tntm, เสือ Spectrum

กฏการใช้บอร์ด
บอร์ดนี้ คุยเรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์วัดความเร็ว ทั้งไมล์ธรรมดา ไร้สาย หรือระบบ GPS
ตอบกลับ
giro
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 3092
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 15:14
Tel: 0865040751
team: Team Bike And Body Cycoling
Bike: Kemo KE-R5, Giant Propel Advance SL, Specialized Alez E5 Revolution
ตำแหน่ง: ซอยอารีย์ พหลโยธิน กทม.
ติดต่อ:

แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย giro »

4iiii Precision
รูปภาพ
คงได้ผ่านตากันไปบ้างแล้วสำหรับกระแสการแชร์ในโลกโซเชียลเมื่อราวๆ 3-4 สัปดาห์ก่อนถึงการออกวางตลาดอย่างจริงจจังของพาวเวอร์มิเตอร์ที่หลายๆคนจับตามอง จ้องรอคอยกันมาอย่างยาวนานด้วยการเปิดตัวมาเป็นพาวเวอร์มิเตอร์ที่ทำงานได้จริง วัดทอร์คจริงๆและมีราคาที่ย่อมเยาว์ที่สุดในโลก พ่วงมาด้วยการชูจุดเด่นน้ำหนักเบาที่สุดในสามโลก แถมปีนี้ยังจับเอาไปลงตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีม Etixx-Quick Step ยอดโปรทีมระดับดิวิชั่นสูงสุดที่มีดาราดังนักปั่นทั้งแนวสปรินท์เตอร์ แนวคลาสสิค ไทม์ไทรอัล และสายทัวร์ ไต่เขาแบบบินได้
รูปภาพ
และก็น่าจะได้ผ่านตากับบทความพรีวิวระดับสุดยอดตำนานของท่านอาจารย์หมอลูซิเฟอร์ คุณหมอนักปั่นที่ลงลึกรายละเอียดได้อย่างยอดเยี่ยม ตามไสตล์มาตรฐานเกจิวัดป่าชื่อดังคร่ำหวอดมาในวงการยาวนานนับสิบปี ก็ต้องกล่าวอนุโมทนากันด้วยพรรษาที่อ่อนกว่ามากของผม ระดับพระบวชใหม่จีวรสียังสดๆแบบนี้ว่า เรื่องรายละเอียดคงต้องยกให้พระครูลุยอยู่บนวิหารหลวง ทางนี้หลวงพี่จะมาตอบคำถามญาติโยมกันหน้ากุฏิพอให้กระจ่างประสาสนทนาธรรมง่ายๆกันครับ
รูปภาพ
เอาล่ะ เล่นพระเล่นเจ้าให้เสี่ยงนรกกันไปพอหอมปากหอมคอ มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่านะครับ
สำหรับ 4iiii Precision ที่ได้มานี้ เป็นเสป็คของขาจานแบบ Shimano Ultegra ซึ่งติดมาสำเร็จจากโรงงานเลย เป็นขาใหม่เอี่ยม แพ็คมาในกล่องอย่างเรียบร้อยสวยงาม น้ำหนักหยิบขึ้นมา ไม่ได้รู็สึกว่ามันแตกต่างไปจากขาจานปกติแต่อย่างไร ดูด้านนอก เหมือนเดิมทุกอย่าง ต้องพลิกมาดูอีกด้านนึงจะเห็นไอ้เจ้าตุ่มดำๆติดอยู่ ซึ่งนี่แหละคือชิ้นส่วนที่ติดมาเพื่อวัดแรงบิด(ทอร์ค)ที่กระทำกับขาจาน จากนั้นเอาไปคำนวนเป็นแรงวัตต์ว่าเราออกแรงลงไปเท่าไหร่
รูปภาพ
ดังนั้น! ใครหมายจะติดเจ้า 4iiii เน้นแต่งหล่อว่ารถข้าติดวัตต์ เห็นทีจตะไม่สมใจนะครับ เพราะติดแล้ว ปั่นไปไหนคนเค้าไม่รู้แน่นอน ดูยังไงๆ ก็ไม่ต่างจากเดิม ถ้าไม่มายืนจ้องดูขาจานข้างซ้ายด้านในกัน ก็ไม่มีทางเห็นว่ารถคันนี้เล่นอาวุธหนัก แต่ผมก็เชื่อว่า 4iiii ไม่ใช่ทางเลือกของการเอาวัตต์มาแต่งรถให้จบสวยครับ ด้วยราคามันน่าจะไปทางฟังก์ชั่นการใช้งานและราคาที่คุ้มค่ามากกว่า
รูปภาพ
เสป็คพื้นฐานจากผู้ผลิต (4iiii เป็นบริษัทสัญชาติแคนาดา ทำอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์แนวแก็ดเจ็ทกิจกรรมกลางแจ้ง มีของเล่นน่าสนใจอีกหลายตัวเลยทีเดียว) เคลมว่าเจ้า 4iiii นี้มีความแม่นยำที่ค่าความคลาดเคลื่อน บวกลบ 1% นั่นแปลว่าอะไร? แปลว่า ถ้าจับออกแรงจริง 100 วัตต์ ไม่ว่าจะวัดกี่ครั้งก็ตามจะได้ค่าแสดงออกมา 99-101 วัตต์เสมอไป ที่สำคัญ หากเปลี่ยนขา(เปลี่ยนคัน เปลี่ยนรถ ย้ายคันไปใช้ 4iiii ตัวอื่น) พาวเวอร์มิเตอร์แต่ละตัวก็จะวัดอยู๋ในช่วง 99-101 วัตต์เท่ากัน *ในบรรทัดฐานที่ทุกตัวคาลิเบรทมาสมบูรณ์เหมือนกันและทำการตั้งค่าศูนย์ในสภาพแวดล้อมนั้นๆเหมือนกัน
รูปภาพ
หลักการวัดเป็นแบบ 3 แกน แตกต่างจากพาวเวอร์มิเตอร์รายอื่นๆที่วัดที่ขาเหมือนกัน กล่าวคือ วัดแรงกระทำตามแนวกว้างxยาวของขาจาน และแนวแกนตั้งฉากกับแนวขาจาน ฟังดูงงๆใช่มั้ยครับ แปลง่ายๆแบบบ้านๆก็คือ แรงแรกที่วัดก็คือแรงที่กดขาจานที่ตำแหน่งขนานพื้นลงไป หรือแนวที่รอบๆวงรอบการปั่น แรงที่สองที่วัดได้เกิดจากแรงที่กระทำตามหน่ง 12 นาฬิกาแล้วเรากดบันไดลงไปตรงๆ (หรือ 6 นาฬากาแล้วกดบันไดลงบนพื้น) แรงทั้งสองนี้คิดเสียว่าเป็นแกน X และ Y ซึ่งเป็นแรงหลักๆที่เราออกแรงขับเคลื่อนขาจานไปหมุนใบจานและหมุนโซ่ให้ล้อหลังหมุนพาจักรยานและคนปั่นเคลื่อนที่ไปนั่นเอง

ส่วนแนวที่ 3 เกิดที่แกน Z หรือแนวแรงกระแนวระนาบ ลองนึกภาพวงรอบการปั่นนะครับ ของขาซ้ายที่เราปั่นๆอยู่ วาดเป็นรูปวงกลม แรงอะไรก็ตามที่กระทำทิ่มมาจากด้านซ้ายหรือขวา อยู่นิกเหนือที่เราออกแรงเป็นวงกลมจะเกิดแรงบิดบนขาด้วย พูดแบบนี้ก็จะงงว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกันหนอ??

คิดง่ายๆว่าในการปั่นจักรยาน เราไม่ได้ออกแรงในแนวระนาบวงกลมเท่านั้น แต่เราเกิดการออกแรงนอกระนาบนี้ด้วยเสมอ ถ้าแบบธรรมชาติก็เช่น การยืนโยกรถ ที่เมื่อรถเอียงไปแล้วเราทิ้งน้ำหนักตัวลงไป แรงส่งลงไปมากกว่าแค่แนวแกน X และ Y เท่านั้น (เพราะวงกลมการหมนเอียงอยู๋) หรือแบบไม่ธรรมชาติเช่นคนที่ออกแรงแปลกๆ มีการบิด เฉือนแรงจะจากเทคนิคการปั่นหรือจากการฟิตติ้งก็ตามแต่ ก็จะเป็นที่มาของแรงในแกนดังกล่าว

การวัดแรงแนวนี้มันดีอย่างไร? นี่แหละครับคือปัญหาของระบบวัดขาจานแบบเดิมซึ่งเมื่อเกิดแรงแบบนี้จะไม่สามารถแยกได้ อันที่จริงไม่ว่าจะวัดที่ไหนก็มักจะแยกไม่ได้ แต่หลังๆระบบวัดที่บันไดสามารถแยกแนวแกนด้านในและนอกของบันไดได้ ซึ่งก็คล้ายกับการวัดแนวในแกนที่ 3 นี้นั่นเอง เบื้องต้นตอนนี้ ที่เฟิร์มแวร์ปัจจุบัน 4iiii ถูกออกแบบมาให้ตรวจจับแนวในแกนนี้นำมาแสดงค่าร่วมเพื่อให้ได้วัตต์ที่กระทำสมจริงที่สุด ในอนาคตจะสามารถแยกและกรองแนวแรงต่างๆที่เสียเปล่า นำy หรือบอกเราได้ว่าแรง 200 วัตต์ที่เราออกไป จริงๆมันขับเคลื่อนไปเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และกำลังเสียแรงเปล่าไปเท่าไหร่นั่นเอง

รูปภาพ
กลับมาแกะกล่องกันต่อ หลวงพี่ก็ร่ายพระคำภีร์ที่ท่องมายาวไปนิด นี่คือสภาพที่เปิดกล่องมาเจอครับ ขาจานแพ็คมาอย่างเรียบร้อยดี
รูปภาพ
ภายในกล่องบรรจุขาจาน พร้อมติดตั้งตัวยูนิตวัดมาเสร็จสรรพ ให้ถ่านสำรองมาอีก 1 ก้อน และบัตรแสดงค่าการคาลิเบรทมาจากโรงงานเพื่อให้เราเปรียบเทียบว่าสภาพของขาเรายังดีอยู๋หรือไม่ ค่านี้ดูได้จากเวลาทำการซอฟท์คาลิเบรทหรือปรับค่าศูนย์จากไมล์ หรือแอปพลิเคชั่นบนมือถือ
รูปภาพ
มาเรื่องการเชื่อมต่อกันนะครับ 4iiii ส่งสัญญาณสื่อสารข้อมูลผ่านทาง ANT+ สัญญาณไร้สายยอดนิยมของอุปกรณ์ต่างๆของกิจกรรมกลางแจ้ง ตอนนี้ยังแสดงได้แค่ค่าวัตต์และค่าอื่นๆพื้นฐานที่เชื่อมโยง อย่างที่บอกครับว่าในอนาคตเมื่ออัพเฟิร์มแวร์ที่พัฒนาต่อไป จะรองรับการคำนวนค่าต่างๆที่เป็นประโยชน์กับการฝึกซ้อมเพิ่มขึ้นจากการวัดที่ทำได้ในปัจจุบัน ที่สำคัญ ยังควบคู่การสื่อสารส่งข้อมูลทาง Bluetooth อีกด้วย ทำให้ 4iiii สามารถแสดงข้อมูลและสื่อสารได้ทั้ง สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ที่มีแอปพลิเคชั่น(ฟรี) หรือซอฟท์แวร์ต่างๆที่รองรับ (พวกโปรแกรมโค้ช โปรแกรมสำหรับตรวจจับการออกแรงปั่นต่างๆ) รวมถึงอัพเดทเฟิร์มแวร์ผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนโดยตรงด้วยตนเอง ถ้าใครอ่านของท่านอาจารย์หมอลูฯ จะพบอีกว่าแอปฯนี้แสดงรายละเอียดและตั้งค่าต่างๆของการวัดวัตต์ได้อีกเพียบ เช่นอัตราแบทเตอรี่คงเหลือ, การปรับตั้งชดเชยน้ำหนักแรงซ้าย-ขวา
รูปภาพ
ระบบพลังงานที่ใช้ก็ตามในภาพครับ เรียกกันง่ายๆว่า"ถ่านกระดุม" หาซื้อไม่ยาก หนึ่งก้อน เคลมว่าใช้งานได้ 100 ชั่วโมง ซึ่งมีปัญหาในเฟิร์มแวร์รุ่นก่อนว่ามันินถ่านแบบซดหนัก ใช้ไม่ถึงร้อย ซึ่งก็ได้แก้ไขในเฟิร์มแวร์ล่าสุดเรียบร้อยแล้ว (ใครซื้อจากตัวแทนจำหน่ายตอนนี้จะได้เฟิร์มแวร์ล่าสุดอัพมาเรียบร้อยเลย)

รูปภาพ
ตุ่มๆวัดติดกับขาจานมาด้วยอีพิ็กซี่พิเศษที่ทาง 4iiii ค้นคว้าพัฒนาขึ้นให้มีความคงทนแข็งแรงและให้ตัวได้น้อยที่สุด ซึ่งเจ้ากาวที่ว่านี้เป็นตัวปัญหาหนึ่งของการจัดจำหน่ายเนื่องจากในหลายๆประเทศไม่สามารถนำเข้าได้ครับ ในส่วนผสมมีสารเคมีต้องห้ามของหลายๆประเทศอู่ เป็นปัญหาที่ทำให้ก่อนหน้านี้ต้องชลอโครงการและวิธีขายปลีกออกไปก่อน เดี๋ยวจะมาตอบคำถามและอธิบายในส่วนของ Q&A นะครับ
รูปภาพ
เนื่องจากตุ่มๆที่ยื่นมาค่อนข้างมาก ทำให้ 4iiii มีปัญหากับเฟรมบางตัวที่มีตะเกียบโซ่ด้านซ้ายบานออกมามาก หรือระยะเคลียร์ระหว่างขาจานด้านซ้ายกับเฟรมน้อยเกินปกติ โดยเฉพาะเฟรมจำพวกเบรคซ่อนด้านล่างตะเกียบโซ่ และมีย่วนยื่นออกมา ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจ ลองตรวจสอบกับทางผู้นำเข้าก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่ ระยะห่างที่แนะนำจากโรงงานคือประมาณ 20 มิลลิเมตรครับ
รูปภาพ
ขาที่ได้มา ย้ำว่าเป็นขาใหม่เอี่ยม เนื่องจากตอนนี้ 4iiii ได้ทำสัญญาจัดซื้อขาเป็นชิ้นส่วน oem จากบริษัท Shimano เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาระบบการจัดจำหน่ายเพื่อให้รองรับกับขาคาร์บอนและออกมาในรูปแบบของขา Sram ในอนาคต (ซึ่งไม่ง่าย)
รูปภาพ
จุดเด่นสำคัญที่ชูก็คือน้ำหนัก ด้วยน้ำหนักเคลมว่าเบาที่สุดในโลก ตัววัดติดตั้งมีน้ำหนักเพียง 9 กรัม ดังนั้นเมื่อติดวัตต์ไปแล้ว รถของท่านจะแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิมแม้แต่น้อย เหงื่อไม่กี่หยดที่ค้างอยู๋บนเฟรมนั่นแหละครับคือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา แก้ปัญหาการติดวัตต์แล้วรถหนักได้ง่ายดายเหลือเกิน
รูปภาพ
จากนั้นลองจับมาชั่งน้ำหนักเทียบระหว่างขา Ultegra 6800 ข้างซ้ายที่ติด 4iiii กับไม่ติดว่าเป็นไปตามที่เคลมน้ำหนักรหือไม่ ก็พบว่าขาที่ติดตัววัดวัตต์เข้าไปมีน้ำหนัก 203 กรัม
รูปภาพ
ส่วนขาที่ไม่ได้ติด ชั่งได้น้ำหนัก 189 กรัม บวกลบหักหนี้กันไปแล้วสรุปว่าเจ้า 4iiii มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมา 14 กรัม ผิดพลาดไปจากที่ผู้ผลิตเคลมมาตั้ง 5 กรัม!! ผมเดาเอานะครับว่ามันคือน้ำหนักของอีพ็อกซี่ที่แปะมา่ หรือไม่ก็ ... เป็นที่ตาชั่งไม่แม่นเป๊ะๆ หรือไม่ก็วางตำแหน่งไม่สมดุลย์ หรือไม่ก็ ... ทั้งหมดรวมกัน เอาเป็นว่า 5 กรัม ไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร จะ 9 กรัม หรือ 19 กรัม ก็ยังคงเป็นวัตต์ที่เบาที่สุดอยู่ดี

Q&A
คำถามที่เข้ามามากที่สุด ตั้งแต่ที่เกิดข่าวลืของ 4iiii และได้สอบถามจากเพื่อนนักปั่นจำนวนมากระหว่างที่ผมนำมาทดลองใช้งาน ก็นำไปสอบถามผู้นำเข้าให้ติดต่อถามไปทางผู้ผลิต และได้เป็นคำตอบมาดังนี้ครับ


รูปภาพ
สั่งซื้อ 4iiii มาติดเองได้หรือไม่?
แรกเริ่มเราจะเห็นว่า 4iiii มีการขายแบบส่งมาเฉพาะตุ่มยูนิตให้เรามาติดเอาเองกับขาอะไรก็ตามที่เราต้องการได้ และมีราคาแสนจะถูกเหลือเกิน ปัญหามันเกิดมา 2 ประการครับ
-ประการแรกคือเรื่องของกาว ที่มาในแพ็คเกจการติดตั้ง โดนห้ามนำเข้าจากหลายประเทศ ทำให้เกิดปัญหาึ่งในนั้นคือพี่เบิ้มสหรัฐฯนั่นเอง ตลายไม่ได้ แคนาดาปวดตับ!)
-ปัญหาต่อมาคือ คนที่นำไปติดเอง แม้ว่าจะทำตามขั้นตอนติดตั้งและคาลิเบรทที่แนะนำแล้ว ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดความเพี้ยนจากการติดตั้ง สุดท้ายเป็นธุระต้องส่งกลับไปแก้ไขที่แคนาดาอีกครั้ง และกลายเป็นงานที่ยุ่งกว่าเดิมเสียอีก
ดังนั้นทางออกคือ ต่อไปนี้ ในตลาดค้าปลีกทั่วไป 4iiii จะยกเลิกระบบการขายแบบติดตั้งเอง เหลือเพียงแบบขายพร้อมขาสำเร็ต และส่งขาไปติดเท่านั้น


รูปภาพ
เราสามารถส่งขาไปติดที่แคนาดาได้หรือไม่?
ได้อย่างแน่นอนครับ เพราะแม้จะมีตัวแทนจำหน่ายในไทยแล้วก็ตาม แต่หากท่านจัดการชำระเงิน ส่งขาไปถึงที่นั่น ก็ต้องติดกลับมาให้ท่านนั่นแหละครับ แต่สิ่งที่พบจากลูกค้าที่รีวิวบนสื่อต่างๆพบว่า ขาที่ส่งไปนั้นกลับมาเป็นขารุ่นเดิม แต่ไม่ใช่ขาเดิม ผมได้เจอลิงค์ใน youtube ว่าพ่อหนุ่มได้ส่งไปติดแล้วได้ขาคนอื่นกลับมา สภาพสวยงามกว่าของตนเอง ... แล้วใครได้ขาเอ็งไปล่ะทีนี้?? ... อีกประการก็คือจากที่มีผู้ทดลองสั่งมาประเทศไทยแล้ว 2-3 รายผมก็ได้สอบถามพบว่าใช้เวลารอประมาณ 4-5 สัปดาห์ ที่ต้องถอดขาจานส่งไปติด ดีที่ทั้งหมดมีจักรยานมากกว่า 1 คันแลด้ระหว่างนั้น หากท่านมีคันเดียว ส่งขาซ้ายไปติด.... จอดยานท่านทิ้งไว้เลยครับราวๆเดือนนึงกว่าจะได้ปั่นอีกรอบ
ซึ่งผู้นำเข้าไทย ณ ก้าวแรก ทำราคาจายพร้อมขายึดอัตราราคาบนเว็บไซท์+ค่าส่งเป็นหลัก สิ่งที่เพิ่มเติมจากนั้นก็จะมีภาษี และต้นทุนในการสต็อคของและอะไหล่ในอนาคต ซึ่งจะถือว่าอำนวยความสะดวกให้ เพราะในอนาคต ทางแคนาดาได้ยืนยันข้อมูลมาแล้วว่า
4iiii กำลังเริ่มการผลิตเพื่อลงตลาดแมสพร้อมจัดจำหน่ายจำนวนมากในราวๆเดือน 6-7
ดังนั้นต่อไปนี้ 4iiii จะจัดจำหน่ายผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้าน เหมือนกับอุปกรณ์จักรยานอื่นๆ เดินไปเลือกเอาจากร้านไปครับไม่ต้องไปสั่ง หรือส่งไปติดเอาเอง


รูปภาพ
4iiii มีให้เลือกในรุ่นและขนาดใดบ้าง?
ณ ตอนนี้ ทางแคนาดาได้ชี้แจงว่ามีการผลิตจำหน่ายอย่างเป็นทางการใน 3 รุ่นได้แก่ Shimano 105, Shimano Ultegra และ Shimano Dura Ace ในความยาวขา 165, 170, 172.5 และ 175 ส่วนประเทศไทยจะมีการสต็อคขาทั้ง 3 รุ่น ในความยาว 165, 170 เป็นส่วนมาก และเสริม 172.5 ในจำนวนน้อยกว่า สำหรับขา 175 จะเป็นการสั่งพรีออเดอร์ หรือร้านตัวแทนจำหน่ายบางร้านมีสต็อคเอาไว้เท่านั้น

ขา Sram เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากครับ เบื้องต้น 4iiii สามารถติดตั้งบนขาคาร์บอนได้สำเร็จแล้ว มีความแม่นยำเทียบเท่ากันแต่มีข้อแม้ว่าต้องทำการคาลิเบรทใหญ่ทุกปี เนื่องจากคาร์บอนมีอัตราความเสื่อมตัวที่ส่งผลกับการวัดแรงบิดมากกว่าอลูมินั่มมาก มันอาจจะน้อยนิดไม่ส่งผลกับการปั่นแต่ส่งผลกับการวัดแรงกระทำอย่างมาก ดังนั้นหากขาดังกล่าวได้รับการปรับตั้งละเอียดทุกปีก็ไม่มีปัญหา แต่ ... ถ้าท่านต้องซื้อมาติด(ส่งขาไปติด) แล้วทุกปีต้องส่งกลับไปตั้งค่าอีกก็คงไม่สวยนัก ดังนั้น 4iiii จึงระงับโครงการนี้เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีทางออกอื่นที่ให้บริการได้ดีกว่า


รูปภาพ
มีศูนย์ติดตั้งและตั้งค่าในประเทศไทย?
สืบเนื่องจากข้อจำกัดบเื้องต้นทั้งหมด ดังนั้นทาง 4iiii และผู้นำเข้า กำลังศึกษาหาวิธีการตั้งศูนย์ปรับตั้งในประเทศไทย(หรือประเทศใกล้เคียง)ทีสามารถให้บริการทุกอย่างได้ในกรอบจำกัดเวลาที่สมเหตุผลมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการส่งขามาติดตั้ง (ซึ่งระคาจะถูกลงไปอีก ทีนี้แหละ ขา Sora ก็คงได้ติดวัตต์) หรือการติดขาคาร์บอนและคาลิเบรททุกปีก็ทำได้ง่ายๆ ในกรณีมีศูนย์ในไทย ก็น่าจะใช้เวลาราวๆ 7-10 วันในการส่งไป-กลับ เพื่อติดตั้งหรือปรับตั้งค่า แน่นอนครับว่าตอบโจทย์กว่ามาก ทั้งนี้ จะเป็นไปได้ในระยะเวลาช้าหรือเร็ว ก็ต้องคอยดูโอกาสต่อไป เพราะเท่าที่ทราบมา นอกจากฝรั่งจะหวงวิชาแล้ว ยังมีเรื่องของโรงงานผลิตที่ไปทำสัญญาผลิตเอาไว้เสียมากมายเรียบร้อยแล้ว หากมาตั้งศูนย์แบบนี้ชนก็อาจไม่สวยสำหรับตลาดโลกโดยรวม


รูปภาพ
4iiii วัดได้ข้างเดียว?
อันนี้แน่นอนครับ เพราะตัวที่ขายนี้เป็นแบบขาซ้ายข้างเดียว แต่สำหรับแบบวัดได้สองข้าง ขณะนี้กำลังพัฒนาทดสอบการใช้งานอยู่ักับทีม Etixx-Quick Step ให้พ่อ Marcel Kittel กับ Tony Martin กระทืบเล่นกันอยู่ครับ อันที่จริงโดยคอนเซ็ปท์เดิมของ 4iiii เค้าสามารถติด 2 ข้างและใช้งานเป็นแบบวัดสองข้างได้เลยนะครับ ทั้งสองตัวจะสื่อสารกันเองผ่าน Bluetooth และส่งข้อมูลรวมมายังไมล์หรือสมาร์ทโฟนของเรา แต่ปัญหามันอยู่ที่ข้างขวาเมื่อติดใบจานไปแล้วเปลี่ยนถ่านทีต้องแกะใบจานออกด้วยนี่แหละ แถมเกิดปัญหาจุดจิกจากการติดตั้งตามมา ดังนั้นจึงต้องพัฒนากรอบหน้าตาออกมาใหม่ และตอนนี้ก็ออกมาเป็นแบบใหม่เลย หน้าตาเป็นเหมือนในภาพ รายละเอียดยังไม่ชัดเจนครับ

แต่สำคัญตรงที่ กรณีซื้อขาข้างเดียวไปแล้ว อนาคตข้างขวาออกมา ก็ต้องต้องกลัวตกรุ่น เพราะสามารถอัพเกรดไปเล่นแบบสองข้างได้โดยเก็บข้างซ้ายเอาไว้ ก็แปลง่ายๆว่า ข้างเดียวแต่รองรับอัพเกรดไปสองข้างในอนาคต จับมาใช้ด้วยกันได้ทันทีนั่นเอง


รูปภาพ
4iiii เพี้ยนหรือไม่?
ตอบลอยๆไม่ได้ครับข้อนี้ ขอให้ได้เอากราฟและค่าต่างๆมาลงอีกทีดีกว่านะครับ มันต้องคุยกันยาวๆ แต่เบื้องต้นผมทดสอบใช้มาสักพัก เทียบกับวัตต์อีกหลายๆตัวแล้ว ได้ผลค่อนข้างเกินคาด มีข้อเสียบ้าง ตามปกติครับไม่มีอะไรในโลกสมบูรณ์แบบ ข้อดีก็มีไม่น้อย จะดี หรือเสียอย่างไร และเหมาะกับใคร รอรีวิวเต็มๆ รับรองว่าดีมีบอก เสียก็ใส่ทุกมุมแน่นอน ติดตามรีวิวเต็มๆกันมาก็น่าจะเดาทางกันได้ว่าผมไม่ใช่สายฉะแหลก หรือโค้ชใจดี แต่ที่แน่ๆ ผมน่าจะเป็นตัวแทนเพื่อนๆบอกได้ล่ะครับว่าเจ้านี่เหมาะกับใครและการใช้งานแบบไหนมากที่สุด รอกันหน่อยนะครับ เพราะให้แน่ใจที่สุดว่าใช้จนถึงทุกหยดของมันจริงๆ ค่อยมาเล่าจะดีกว่า

บทความพรีวิวและรีวิวโดย คุณหมอลูซิเฟอร์
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... &t=1430544[homeimg=300,250]http://www.thaimtb.com/forum/picture_mt ... 767138.jpg[/homeimg]
ฟังสาระจักรยาน Podcast
https://open.spotify.com/show/76iDUCWXgqqixg1CmoSDIp
ข่าวสารจัรกยาน
https://www.facebook.com/cyclinghubthailand/
รูปประจำตัวสมาชิก
lucifer
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 6413
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2010, 14:53
team: BPMTB , BPRB , Bikeloves
Bike: Only 2-wheels bike
ติดต่อ:

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย lucifer »

ถ้ามีวัดที่ขาขวาออกมาสมบูรณ์ มันจะลดความกังขาของคนที่ยังลังเลเรื่องวัดขาเดียวได้อย่างแน่นอน

จริงๆจะวัดขาเดียวแล้วคูณสอง หรือ วัดสองขาแล้วมารวมกัน ถ้าเข้าใจวิธีการใช้งาน ผมว่ามันไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาอย่างแน่นอน
ถ้าอ่อนซ้อม อ่อนทักษะ ก็จะพบว่าจักรยานคันไหนๆก็ไม่แตกต่างกันหรอก เพราะปั่นไม่ไปเหมือนๆกัน และบังคับควบคุมได้ห่วยพอๆกัน
รูปประจำตัวสมาชิก
unicorn.biker
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 40
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มี.ค. 2015, 21:55
Bike: Merida Scultura 300

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย unicorn.biker »

การใช้ power meter จะทำให้การฝึกได้ผลดีขึ้นอย่างชัดเจนมั้ยครับ เมื่อเทียบกับดู heart rate monitor อย่างเดียว

แอบสนใจอยู่นิดๆ แต่ติดตรงที่ต้องอัพจาก Tiagra ไปเป็น 105 ด้วยนี่ซิ
ปั่นเพื่อเฟรช ปั่นเพื่อฟิต :)
giro
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 3092
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 15:14
Tel: 0865040751
team: Team Bike And Body Cycoling
Bike: Kemo KE-R5, Giant Propel Advance SL, Specialized Alez E5 Revolution
ตำแหน่ง: ซอยอารีย์ พหลโยธิน กทม.
ติดต่อ:

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย giro »

ขอตอบสั้นๆนะครับ
เอาง่ายๆครับ ด้วยปัจจัยเพียง 2 ข้อยกตัวอย่าง
1.ฮาร์ทเรท โดนปัจจัยภายนอกทำให้ตอบสนองต่างกันได้มากมายเช่น อุณหภูมิ อาหาร การพักห่อน แม้แต่ความตื่นเต้น
2.ฮาร์ทเรท ใช้เวลาในการตอบสนองเปลี่ยนแปลงช้ากว่า เพราะเป็น"ผลของการออกแรง"

ดังนั้นจะส่งผลดังนี้ครับ
1.เราต้องการออกแรงในระดับ "ช่วงหนึ่ง" คือ สมมุติเป็นช่วงโซน 4 แล้วกัน เป็นระดับที่แล็คเตทพรั่งพรูออกมาเต็มเหนี่ยวร้อนแรง แต่วันนั้นอากาศร้อนจัดมาก แถมเมื่อคืนนอนน้อยนั่งเชียร์จิ้งจอกสยามย้ำแชมป์ขาดลอยมา วันนี้ปั่นหัวใจมาถึงโซนที่ต้องการแล้ว *แต่* จริงๆร่างกายยังไม่ได้ออกแรงถึงระดับนั้นจริงๆ ซ้อมๆไปหัวใจเต้นเร็ว เหนื่อย หอบ ล้า แต่ระบบการทำงานยังไม่ได้ทำงานถึงระดับที่ต้องการฝึกจริงๆ ผลการฝึกวันนั้นก็ไม่ได้ตามเป้าเต็มที่ เพราะหัวใจที่เต้นเร็วๆรัวๆอยู่มันเกิดจากผลทางด้านอื่น สิ่งเร้าอื่น ไม่ใช่จากที่เราออกแรงในระดบันั้นจริงๆ

2.หัวใจตอบสนองช้ากว่าออกแรงจริงเสมอ อันนี้คงสังเกตุไม่ยาก ย่ำแรงลงไปแล้วหลายสิบวินาทีให้หลังกว่าที่หัวใจจะขึ้นมาถึงระดับที่ต้องการ แถมถ้าเข้าใจผิด จะพยายามอัดให้หัวใจขึ้นมาเร็วๆ แล้วเลี้ยงเอาไว้ ซึ่งมันก็คือการออกแรงมากๆจนล้นโซนแล้วผ่อนลงรักษาหัวใจเอาไว้ให้อยู๋ในโซนที่ต้องการ ในทางกลับกัน เวลาพัก หัวใจก็จะลงมาช้ากว่าให้หลังหลายสิบวินาทีเช่นกัน และนั่นทำให้การใช้ฮาร์ทเรทนำร่องทำได้ยาก เข้าใจได้ยากมากๆสำหรับคนที่ไม่เข้าถึงกึ๋นมันจริงๆ

วัตต์ .. กดเท่าไหร่ก็คือเท่านั้น ไม่ว่าจะ้อน จะหนาว จะอบอ้าว นอนมาก หรือน้อย กด 200 วัตต์วันนี้ อีก 5 วันก็ต้องกดหนักเท่าเดิมเพื่อให้ได้ 200 วัตต์ อยากซ้อมเข้มหนักเท่านี้ ก็ต้องออกแรงเท่าเดิมสเมอไป ส่วนถ้าร้อน นอนน้อย กินของผิดสำแดงมา หัวใจสูงปรี๊ด หรือหนาวเย็นสบาย หัวใจต่ำลงวูบ อันนั้นเราก็จะรู้ได้จากความสัมพันธ์ระหว่างวัตต์และหัวใจ ซึ่งสะท้อนออกมาได้ตามสภาพแวดล้อม และสะท้อนสภาพร่างกายของเรานั่นเอง คนที่ใช้วัตต์ บางวันซึ่งเป็นวันแย่ๆ จะรู็ตัวตั้งแต่ก่อนเหนื่อยด้วยซ้ำ เพราะเราสังเกตุได้ว่า ที่วัตต์ค่าคุ้นเคย หัวใจเราตอบสนองเปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหน

และในการเปลี่ยนแรงที่ออก จาก 200 วัตต์ ลดลงมา 100 วัตต์เพื่อพัก ก็ไม่มีอาการหน่วงให้ต้องเดาและรอ ลดลงมาอย่างไร ค่าก็มาตามนั้น ต้องออกแรงเพิ่มอย่างไร ก็ต้องกดแรงลงไปมากขึ้นเท่านั้น ไม่ถึงก็คือขาด มากไปก็คือเกิน

ดังนั้นสรุปได้ว่า มันคือเครื่องมือ"นำร่อง" ในการออกแรงที่แม่นยำกว่าเดิมมากๆครับ เพราะไม่ว่าจะวัตต์ ฮาร์ทเรท ความเร็ว ทุกอย่างมันคือกรอบที่เรานำมา "นำร่อง" ในการฝึกซ้อมของเรานั่นเอง แต่อะไรจะนำร่องได้แม่นแค่ไหน ดีแค่ไหน ปัจจัยแวดล้อมเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ชนิดของมัน

สุดท้าย วัตต์และหัวใจเป็นของคู๋กันเสมอครับ มีวัตต์ก็ยังคงสนใจหัวใจ และนำค่าที่ได้มาวิเคราะห์หรือนำร่องคู่กันเสมอ
ยกตัวอย่างเช่นการซ้อมเอนดูแรนซ์ ต้องการหัวใจต้นๆโซนสองยาว 3-4 ชั่วโมงลากไปนิ่งๆสบายๆ แต่ให้ตายซ้อมไปอย่างไร ด้วยความล้า อุณหภูมิที่มากขึ้น หัวใจเราจะเต้นเร็วขึ้นแม้จะออกแรงเท่าเดิมโดยธรรมชาติ หากใช้หัวใจนำร่องเพียงอย่างเดียว ผลที่ได้คือ เราจะขี่ช้าลงเรื่อยๆ หรือออกแรงลดลงเรื่อยๆเพื่อรักษาระดับหัวใจเอาไว้ให้เท่าเดิม ดังนั้นความเข้มข้นก็จะหล่นลงจากต้นโซน 2 มาเป็นโซน 1 กลางๆ ไปในที่สุด

แต่ถ้าใช้วัตต์ควบคุมเป็นการนำร่อง คู่กับหัวใจ เราจะสังเกตุได้ว่าหากเรารักษาวัตต์อยู่ที่โซนพิกัดที่เหมาะสม ได้แรงวัตต์ที่พอดีกับหัวใจในโซนนั้น แล้วรักษาวัตต์เอาไว้ไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านพ้นช่วงที่ร่างกายเคยชิน หรือสภาพพื้นฐานพร้อม หัวใจจะมีจุดที่สูงขึ้นอย่างเป็นปัจจัยไร้สาเหตุ(ไม่นับความร้อน) นั่นคือขีดจำกัดของความทนทานอันเกิดจากกล้ามเนื้อย่อยต่างๆของร่างกาย รวมถึงความล้าของร่ากายส่วนอื่นๆด้วย ส่งผลให้ชีพจรสูงขึ้นเป็นปฏิกิริยาของการทำงานที่หนักหน่วงจนอ่อนล้าของร่างกายหลายๆส่วน ขาเราอาจยังมีแรง ใจเรายังไหว แต่กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือระบบพลังงานมันไปถึงขีดจำกัดแล้ว การซ้อมเอนดูแรนซ์ที่สวยงามคือการค่อยๆผ่านกำแพงนั้นไปทีละนิดๆ ขยายอบเขตุออกไปเรื่อยๆอย่างช้าๆและแม่นยำ ซึ่งทั้งวัตต์และหัวใจจะเป็นตัวบ่งชี้ได้แม่นยำที่สุด

ใช้หัวใจนำทางอย่างเดียว คุณอาจจะปั่นด้วยหัวใจ 120 ไปยาวๆ 4-5 ชม.ได้ โดยที่ออกแรงน้อยลงเรื่อยๆอย่างไม่รู้ตัว แต่ถ้ากด 130 วัตต์ไปเรื่อยๆหัวใจราวๆ 120 ตุ้บ พอถึงซักชั่วโมงที่ 3 กว่าๆพบว่า หัวใจแขวนลอยมาอยู๋ที่ 140-150 ทั้งๆที่ออกแรงเท่าเดิม นั่นคือกำแพงของขีดจำกัด ลองฝืนต่อไปอีกสักนิด คราวหน้าค่อยๆเพิ่มเวลา จะพบว่าขีดจำกัดดังกล่าวมาช้าลงเรื่อยๆและสามารถยืนพื้นแรงเท่าเดิม หัวใจเท่าเดิมได้นานขึ้นนั่นเอง

นี่สั้นๆนะครับ จริงๆยังมีอีกเยอะมากๆที่วัตต์สามารถบอกได้
ฟังสาระจักรยาน Podcast
https://open.spotify.com/show/76iDUCWXgqqixg1CmoSDIp
ข่าวสารจัรกยาน
https://www.facebook.com/cyclinghubthailand/
รูปประจำตัวสมาชิก
unicorn.biker
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 40
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มี.ค. 2015, 21:55
Bike: Merida Scultura 300

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย unicorn.biker »

มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นเยอะเลย ถึงการใช้ประโยชน์จาก power meter ขอบคุณครับ
ปั่นเพื่อเฟรช ปั่นเพื่อฟิต :)
PrachChan
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ม.ค. 2015, 19:40
Tel: 0867993934
Bike: Merida Scultura 400

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย PrachChan »

ขอสอบถามเรื่องการสั่งซื้อกับตัวแทนในไทยได้ไหมครับว่าต้องสั่งอย่างไรบ้าง และสั่งที่ไหน
รูปประจำตัวสมาชิก
palmykung
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 26
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 พ.ย. 2010, 12:52
Bike: Strida 5.0, Trek 7.4, Spe roubaix SL3

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย palmykung »

จะสั่งซื้อยังไงได้บ้าง ถามใน FB ของตัวแทนก็เงียบ ไม่ยอมตอบ
ตอนงานเปิดตัว พอดีช่วงนั้นไปเที่ยวต่างประเทศ เลยไม่ได้ไปจองในงาน
รูปประจำตัวสมาชิก
วายร้ายอุ๊
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 111
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ส.ค. 2008, 19:51
team: วายร้ายสายสอง

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย วายร้ายอุ๊ »

นั้น จิ สอบถามไปเงียบ สงสัยให้ไปชื้อเองที่โน้น 5555
รูปประจำตัวสมาชิก
ภูน้ำฟ้า
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 เม.ย. 2015, 10:59

Re: แกะกล่อง 4iiii Precision และคำตอบของคำถามคาใจ

โพสต์ โดย ภูน้ำฟ้า »

ชัดเจนแจ่มแจ้ง ขอบคุณครับ
ตอบกลับ

กลับไปยัง “ไมล์วัดความเร็ว (HRM/GPS/Power meter)”