หน้า 2 จากทั้งหมด 5

Re: "...."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 11 ต.ค. 2016, 06:27
โดย ลุงเนตร
.. ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า เรื่องอริยสัจจ์ ๔ ประการนั้น คือความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่า อะไรเป็นอะไรอย่างครบถ้วน นั่นเอง. ในเรื่องความทุกข์นั้น บอกให้รู้ว่าอย่าไปเล่นกับมัน มันจะเป็นความทุกข์เกิดขึ้นมา ; และเราก็ไม่รู้ มีคนบอกให้ ก็ไม่เข้าใจ ยังขืนไปเล่นกับความทุกข์กันอยู่ และมากยิ่งขึ้น จนเต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้แหละ เรียกว่าเป็นความโง่เขลาหรือเป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตามที่เป็นจริง, เพราะมีอวิชชา จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงปฏิบัติผิด ต่ออะไร ๆ ไปทุกอย่าง ปฏิบัติถูกบ้าง ก็เล็กน้อยเกินไป และถูกแต่ความหมายของคนที่มีกิเลสตัณหา ซึ่งถือว่าถ้าได้อะไรมาตรงตามความต้องการของตนแล้ว ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติถูก, แต่แล้วความทุกข์ก็ยังเหลืออยู่เต็มไปหมด. เช่นนี้ ตามทางธรรมไม่ถือว่าปฏิบัติถูก ทั้ง ๆ ชาวโลกเขาจะถือว่าเป็นการปฏิบัติถูกที่สุดก็ตาม ; เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ถือว่า นั่นคือการรู้ที่ถูกต้อง ว่าอะไรเป็นอะไร ; ถือเป็นเพียงความรู้อย่างโลก ๆ และถูกต้องเพียงนิดเดียว แม้อย่างโลก ๆ . ส่วนที่เป็นทางธรรมแล้ว ก็ยังนับว่าไม่รู้อะไรเลย ดังนี้. นี้เรียกว่าถ้าจะพิจารณากันโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ ประการ ซึ่งท่านทั้งหลายอาจได้ยินได้ฟังกันอยู่ตามปกติ ก็ยังจะเห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนานั้น. คือวิชาที่บอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง ดังนี้.

Re: "..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ.."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ".."

โพสต์: 11 ต.ค. 2016, 06:30
โดย ลุงเนตร
.. ทีนี้ เราจะลองถือเอาหลักบาลี ที่รู้กันโดยมากทั่วไปอีกข้อหนึ่ง ที่เรียกกันว่า หัวใจพระพุทธศาสนา หรือ พระคาถาของพระอัสสชิ มาเป็นเครื่องพิจารณา. เมื่อพระอัสสชิ ได้พบกับพระสารีบุตรแต่ก่อนบวช พระสารีบุตรได้ถามถึงใจความของพระพุทธศาสนา ว่ามีอยู่อย่างไร โดยย่อที่สุด. พระอัสสชิได้ตอบว่า โดยย่อที่สุดแล้ว ก็คือ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา, เตสํ เหตุ ตถาคโต, เตสญฺจ โย นิโรโธ จ, เอวํวาที มหาสมโณ, เป็นใจความสั้น ๆ เพียงเท่านี้ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเรา ก็ว่า “สิ่งทั้งหลายเหล่าใด เกิดมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าท่านทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิง. ของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหตุ ; พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้”. นี่, เป็นคำตอบของพระอัสสชิ แต่ถือกันว่าเป็นหัวใจ ของพุทธศาสนา ในทุกประเทศที่เป็นพุทธบริษัท ถึงกับมีการจารึกลงในแผ่นอิฐ มาตั้งแต่ครั้งใกล้สมัยพุทธกาล คือยุคสมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมาทีเดียว, เป็นอักษร ๔ บรรทัดนี้ เท่านั้น, ถือกันว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะเป็นใจความของพุทธศาสนา.

Re: "..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ.."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ".."

โพสต์: 11 ต.ค. 2016, 09:14
โดย NOKNICE
:mrgreen:

Re: "..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ.."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ".."

โพสต์: 11 ต.ค. 2016, 20:39
โดย ลุงเนตร
NOKNICE เขียน::mrgreen:
"..ขอบคุณมาก ที่เข้ามาเป็นกำลังใจ.."

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:23
โดย ลุงเนตร
.. ถ้าเอาตามหลักนี้ ก็กล่าวได้ว่า ใจความของพุทธศาสนานั้น คือการบอกให้รู้ว่า “สิ่งทั้งปวงนั้น มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา, มันดับไม่ได้ จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน”. แม้ใจความสำคัญนี้ ก็เป็นการชี้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นอีกเหมือนกัน คือเป็นการชี้ให้รู้ว่าอย่าไปเห็นว่าปรากฏการณ์อะไรเป็นตัวตนที่ถาวร ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร มีแต่สิ่งที่เกิดงอกงามออกมาจากเหตุ และงอกงามเจริญต่อไปโดยอำนาจของเหตุ และจะดับไปเพราะความสิ้นสุดของตัวเหตุ. คำว่าเหตุในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่ง ซึ่งเราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัจจัย ก็ได้. สิ่งหนึ่ง ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งสิ่งอื่น ๆ สืบต่อกันไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หรือปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ ไม่มีตัวมันเองที่เป็นของอิสระตายตัว เป็นแต่ความเลื่อนไหลไป ในฐานะเป็นผลของสิ่งที่เป็นเหตุ ที่ปรุงทะยอยกันมาไม่หยุด. เพราะอำนาจของธรรมชาติมีลักษณะปรุงไม่หยุดยั้ง สิ่งต่าง ๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด และเปลี่ยนแปลงกันไม่หยุด พุทธศาสนาจึงบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน มีแต่ความที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไป และเป็นความทุกข์รวมอยู่ในนั้นด้วย เพราะไม่มีอิสระในตัวเอง ต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ ; จะไม่มีความทุกข์ ก็ต่อเมื่อหยุดหรือดับ. จะหยุดหรือดับ ก็ต่อเมื่อดับเหตุ ทำเหตุนั้นให้หยุดให้ดับ ไม่ให้มีการปรุงสืบไป. ข้อนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างลึกซึ้ง อย่างสุดสามารถที่คนเราหรือว่าผู้มีสติปัญญาตามธรรมดาจะบอกได้ นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริง ๆ . การบอกนี้คือบอกให้รู้ ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นแต่เรื่องของมายา คือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันขึ้นเท่านั้น อย่าไปหลงยึดถือ จนชอบ หรือชังมันเข้า ; ทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความชังดีกว่า ; เมื่อทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความชังในสิ่งทั้งปวงได้จริง ๆ แล้ว นั่นแหละ คือการออกมาเสียได้จากอำนาจแห่งเหตุ เป็นการดับเหตุเสียได้ ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดได้ เพราะความชอบหรือความชังอีกต่อไป. ข้อนี้เห็นได้ว่า หลักหัวใจพระพุทธศาสนานั้น ก็เป็นการชี้ในข้อที่ว่า “อะไรเป็นอะไร” อย่างถูกต้องลึกซึ้งที่คนทั่วไปตามธรรมดาไม่เคยได้ยินได้ฟังนั่นเอง อีกอย่างเดียวกัน.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:25
โดย ลุงเนตร
.. อีกทางหนึ่งนั้น อาตมาอยากจะชี้ให้ท่านทั้งหลายสังเกตเห็นสักนิดหนึ่งถึงวัตถุประสงค์แห่งการออกบวชของพระพุทธเจ้า ว่าท่านออกผนวชจากความสุขในราชสมบัตินั้น โดยพระประสงค์อย่างใด. พระพุทธภาษิตที่ตรัสในข้อนี้ มีอยู่อย่างชัดเจนว่า พระองค์ใช้คำว่า กึ กุสลคเวสี หมายถึงพระองค์ในขณะที่เป็นผู้ออกจากเรือน บวชแสวงหาอยู่ว่า “อะไรเป็นกุศล ๆ” ฟังดูให้ดี. ที่พระองค์ทรงออกบวชจากบ้านจากเรือน ก็เพื่อแสวงหาความรู้ที่ว่า อะไรเป็นกุศล ? แต่คำว่า “กุศล” ของพระองค์ในที่นี้หมายถึงความรู้ หมายถึงความฉลาด. กุศล แปลว่า ความฉลาด ในที่นี้หมายถึงความรู้ที่ถูกต้องที่สุด ว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะก็คือว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป้นความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์นั้น. นี้เรียกว่าความฉลาดหรือกุศล เป็นกุศลถึงที่สุด เป็นความฉลาดถึงที่สุด อยู่ที่ตรงนั้น. การออกผนวชของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการออกแสวงหา ว่าอะไรเป็นความรู้ที่ฉลาดที่สุดในโลกทั้งปวง ; ในที่สุดก็ได้ทรงพบความรู้อันนี้ นี่, เราจะเห็นได้ว่า พระองค์ออกผนวช เพื่อแสวงหาความรู้ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร : เพราะถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้องครบถ้วนสิ้นเชิงจริง ๆ แล้ว นั้นก็คือความฉลาดหรือความรู้ที่ถึงที่สุดดุจกัน ; พระองค์จึงทรงออกแสวงหาความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ; ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์นั่นแหละ คือตัวพุทธศาสนา.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:26
โดย ลุงเนตร
.. ทีนี้ ถ้าจะถือตามที่คนทั่ว ๆ ไปได้ยินได้ฟัง โดยเฉพาะที่คนแก่คนเฒ่าพูดกันติดปาก ก็คือ เรื่องพระไตรลักษณ์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักสำคัญ หรือตัวพุทธศาสนาอีกแนวหนึ่งด้วยเหมือนกัน. ไตรลักษณ์ มีเป็นหัวข้อสั้น ๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. นี้เป็นหลักพุทธศาสนาที่เราต้องรู้. ถ้าไม่รู้ ก็เรียกว่าไม่รู้พุทธศาสนา. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ คือการประกาศความจริงออกไปว่า “สิ่งทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น ไม่เที่ยง, สิ่งทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นทุกข์, สิ่งทั้งปวงทั้งที่ปัจจัยปรุงแต่งและปัจจัยไม่ปรุงแต่งนั้น เป็นอนัตตา” นี้, เป็นหลักพระพุทธศาสนา. นี่ยิ่งเป็นการตอบปัญหาของคำถามที่ว่า “อะไรเป็นอะไร” เป็นอย่างยิ่ง ; ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านี้แล้วคือ การบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:28
โดย ลุงเนตร
.. ที่ว่าเป็นอนิจจัง ก็คือสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่มีอะไรเป็นตัวมันเองที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะ. ที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ นั้น หมายถึงข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทนทุกข์ทรมานอยู่ในตัวมันเอง, มีลักษณะที่ดูแล้ว น่าเกลียดน่าชัง น่าเบื่อหน่าย น่าระอา อยู่ในตัวมันเองทั้งนั้น. และ ที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา นั้น หมายถึงการบอกให้รู้ว่าบรรดาสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือเอาด้วยจิตใจที่ยึดมั่นเป็นตัวตน หรือเป็นของตน, ไม่มีทางจะยึดเอาเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนได้เลย ; ถ้าไปยึดถือเข้า ก็ต้องเป็นความทุกข์. นี่แหละ, เป็นการบอกให้รู้ ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น มันยิ่งกว่าไฟ เพราะว่าไฟนั้น มันลุกโพลง ๆ อยู่ เราเห็นว่าเป็นไฟ ก็ไม่เข้าใกล้ ; แต่สิ่งทั้งปวงนั้น มันเป็นไฟที่มองไม่เห็นได้ว่าเป็นไฟ เราจึงเข้าไปกอดกองไฟกันด้วยความสมัครใจ มันก็เป็นทุกข์ตลอดกาล. นี้คือ การบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไรเป็นอะไร โดยนัยแห่งพระไตรลักษณ์ นี้ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นชัดได้ว่า พุทธศาสนา คือวิชาหรือระเบียบปฏิบัติที่ทำให้รู้ได้ ว่าอะไรคืออะไร เท่านั้นเอง

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:30
โดย ลุงเนตร
.. ทีนี้ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ไม่ต้องสงสัย เราก็จะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง. การที่เราจะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวงโดยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น เป็นไปไม่ได้. เพราะฉะนั้น คนจะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา กรรมฐาน ภาวนาให้ถูกต้อง โดยไม่หวังผลเป็นความรู้ ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไรอย่างไรนั้นเป็นไปไม่ได้ ; เป็นความเขลาอย่างยิ่ง. เราจะต้องปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร แล้วเราจึงจะรู้ว่าสิ่งนั้นประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ หรือว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่เราได้อย่างไร.


เมื่อได้ก้าวมาถึงหลักที่ว่า เราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร และเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะตรงต่อกฎธรรมชาติธรรมดาของสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่จริง ๆ ดังนี้แล้ว หลักในพระบาลีก็มีอยู่อีกพวกหนึ่ง หรือส่วนหนึ่งที่เป็นคำตอบของปัญหาข้อนี้สืบไป ได้แก่ กฎหรือหลักที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์. คำว่า โอวาทปาติโมกข์ แปลว่า ประธานหรือหัวหน้าของคำสอนทั้งหมด หรือจะแปลว่า คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด อย่างนี้จะดีกว่า.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:32
โดย ลุงเนตร
.. โอวาทปาติโมกข์ มีอยู่ ๓ ข้อสั้น ๆ คือการไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เต็มที่ให้ครบถ้วน, และการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง. นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่สิ่งทั้งปวงเป็นจริงอยู่อย่างไร. เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ยึดถือเอาไม่ได้ ไปหลงใหลด้วยไม่ได้ เราต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงในลักษณะที่ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง, คือเว้นจากการทำชั่วทั้งปวง ที่หมายถึงความละโมบโลภมาก ด้วยอำนาจของกิเลสที่อยากทำชั่ว เพราะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น ไม่น่าหลงใหลเลย, ไม่น่าไปลงทุนทำเอาด้วยการฝืนศีลธรรมหรือฝืนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อไปทำความชั่ว. ทั้งสองขั้นนี้ไม่ต้องสงสัย ท่านทั้งหลายย่อมจะทราบได้เองเป็นอย่างดีว่า เป็นแต่เพียงขั้นศีลธรรมหรือระเบียบปฏิบัติทั่วไปที่จะต้องประพฤติ เพื่อความเป็นอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นผาสุกกันอย่างโลก ๆ และทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนใหญ่. ส่วนข้อที่สาม ที่มีหลักอยู่ว่า ให้ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจด จากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวงนั้น นั่นแหละเป็นตัวใจความสำคัญหรือเป็นตัวพุทธศาสนาโดยตรง.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:34
โดย ลุงเนตร
.. การทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง นั้น หมายความว่าทำจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง. ถ้าจิตใจยังไม่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ไปไม่ได้เลย. จิตใจที่จะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงนั้น ต้องมาจากความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเสมอไป; ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็จะต้องไปหลงรักหลงชังอะไร หรือมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้, แล้วจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไรกัน, คนเรามีความรู้สึกตามธรรมดาอยู่สองอย่างเท่านั้น คือรักกับเกลียด ชอบกับชัง, หรือพอใจกับไม่พอใจ. ถ้าเรียกอย่างภาษาบาลีก็เรียกว่าอภิชฌาและโทมนัส. คนเราเมื่อมองสิ่งทั้งหลายไม่ว่าสิ่งใด ด้วยความยึดถือของปุถุชนตามปรกติทั่ว ๆ ไปแล้ว จะเกิดความรู้สึกขึ้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ คือ อภิชฌา หรือโทมนัส. อภิชฌา ก็พอใจอยากจะได้. โทมนัส ก็คือความไม่พอใจ แม้ว่าสิ่งนั้นยังไม่เคยทำอะไรให้เป็นที่ขัดใจตัว มากไปกว่าการกีดขวางเกะกะรำคาญตา มาขวางหน้าขวางตา ทำให้เกิดความรำคาญแม้แต่นิดหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นโทมนัส. นี่ เป็นลักษณะธรรมดาของการที่จิตใจของคนเราตกเป็นทาสของอารมณ์ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเองเลย, เมื่ออารมณ์ในโลกมีมากเหลือจะนับ เราก็เป็นทาสของอารมณ์มากเหลือจะนับ.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:36
โดย ลุงเนตร
..ความไม่รู้ว่าอารมณ์หรือสิ่งทั้งปวงนั้นคืออะไร, ซึ่งรวมความแล้วก็คือ ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นความชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ อย่างที่เรียกว่าอภิชฌาหรือโทมนัส. ความพอใจ หรือที่เรียกว่าอภิชฌาในที่นี้ มีลักษณะที่จะรวบอะไร ๆ เข้ามาหาตัว. ส่วนความไม่พอใจหรือโทมนัสนั้น มีลักษณะที่จะปฏิเสธหรือผลักไสอะไร ๆ ออกไปเสียจากตัว. ขอให้กำหนดความหมายให้กว้าง ๆ อย่างนี้ อย่ามุ่งเอาแต่เพียงเรื่องรักหรือความกำหนัด ที่เป็นกิเลสตัณหาทางกามารมณ์อย่างเดียว, แม้ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ก็ยังมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความชอบหรือความชังอย่างเต็มที่ด้วยเหมือนกัน จึงต้องจำกัดความหมายว่า ถ้าสิ่งใดทำให้เกิดความรู้สึกอยากเอาเข้ามาหาตัว ก็เรียกว่าเป็นความพอใจ; สิ่งใดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่จะผลักออกไปเสียให้พ้น หรืออยากทำลายให้สูญสิ้นไป อย่างนี้เรียกว่าเป็นความไม่พอใจ. ถ้ายังมีความรู้สึกสองอย่างนี้อยู่แล้ว ก็หมายความว่ายังไม่เป็นอิสระ. จิตยังไม่เป็นอิสระ เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง, ยังเลือกหลงรักหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จิตยังไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากความครอบงำของสิ่งทั้งปวงได้. โดยเหตุนี้เอง หลักพระพุทธศาสนาในขั้นสูงสุดนี้ จึงปฏิเสธการยึดถือหมดทั้งสิ่งที่น่ารักน่าชังซึ่งคนธรรมดาพากันหลงรักและหลงชัง, และเป็นการปฏิเสธเลยขึ้นไปถึงความดีและความชั่ว เป็นผู้ไม่หลงติด ทั้งในความดีและความชั่ว ทั้งสองประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น, จิตจึงจะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง และบริสุทธิ์จากสิ่งห่อหุ้มจริง ๆ .

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:37
โดย ลุงเนตร
.. ขอย้ำในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งว่า ข้อที่ ๑ ว่าอย่าทำความชั่ว, ข้อที่ ๒ ว่าให้ทำความดี, และข้อที่ ๓ ว่าให้ทำจิตใจอยู่เหนือความครอบงำทั้งของความดีและความชั่ว จึงจะเป็นอิสระและบริสุทธิ์สิ้นเชิง. ความข้อนี้ทั้งหมด หมายถึงการรู้จักโลกทั้งปวงหรือรู้จักสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้อง ว่าไม่มีอะไรที่น่าผูกพันตัวเข้าไปเป็น “ทาส” ของมัน ทั้งที่ถือกันว่าเป็นความดีหรือความชั่วก็ตาม. คำสอนนี้แหละเป็นคำประกาศให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า, เป็นการชี้ระบุว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดสิ้นเชิง ชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว. เมื่อคนเหล่าอื่น พวกอื่น ลัทธิอื่น นิยมกันแต่เพียงให้เว้นความชั่ว ไปยึดถือในความดี ให้หลงใหลในความดี ให้ผูกพันในความดี จนถึงยอดของความดี คือพระเป็นเจ้าหรืออะไรก็ตาม, พุทธศาสนาก็ยังไปไกลกว่านั้น คือการไม่ยอมผูกพันตัวกับสิ่งใดเลย. การผูกพันในความดีนั้น จัดไว้เป็นการปฏิบัติถูกในระยะกลางเท่านั้นเอง. ขอให้สังเกตให้รู้ว่า ท่านจัดไว้ในฐานะเป็นสิ่ง ที่ต้องทำในเมื่อเรายังจะทำอะไรให้สูงไปกว่านั้นไม่ได้เท่านั้นเอง. ในระยะแรก เราเว้นจากความชั่ว, ขั้นนี้ยังต่ำอยู่ในระยะถัดมา เราทำความดีให้เต็ม. ส่วนในระยะสูงสุดนั้น เราทำจิตให้กระโดดลอยสูงอยู่เหนือความครอบงำของความดีและความชั่ว.



Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 12 ต.ค. 2016, 15:40
โดย ลุงเนตร
.. การที่ผูกพันตัวอยู่ใต้ผลของความดี หรือที่เรียกว่า ตัวความดีก็ตามนั้น ยังไม่ใช่ความพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง, ยังไม่เป็นความรู้ที่ถูกต้องถึงที่สุด ว่าอะไรเป็นอะไร. เพราะเหตุใดจึงสอนเช่นนี้ ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องการคำอธิบายยืดยาว, แต่อาตมาอยากจะสรุปความสั้น ๆ ชนิดที่ท่านทั้งหลายอาจนำไปคิดให้เห็นเองก็ได้ คือว่าคนชั่ว ก็จะต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนชั่ว; คนดีก็จะต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนดี. อาตมาใช้คำว่า “ความทุกข์ตามประสาของคนดี”; จะดีอย่างมนุษย์ก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ที่ดี. จะดีอย่างเทวดาก็มีความทุกข์อย่างของเทวดา แม้จะเป็นพรหม เป็นยอดของเทวดาก็มีความทุกข์อย่างของคนดีชั้นยอดของพรหม, ไม่มีข้อยกเว้นในข้อที่ว่าคนดีจะไม่มีความตามแบบตามประสาของคนดี. จะไม่มีความทุกข์เลย ก็ต่อเมื่อกระโดดขึ้นไปให้พ้นให้สูง ขึ้นไปอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่าความดี กลายเป็นโลกุตตระคือเหนือโลกแล้วเท่านั้น. ถ้าเรียกโดยสมมติ ก็คืออยู่ในโลกของพระอริยเจ้า จนกลายเป็นพระอริยเจ้าไป. นั่นคืออยู่เหนือความดี. อย่าเข้าใจผิด เอาความดีไปผูกพันกับพระอริยเจ้า จนแต่งตั้งพระอริยเจ้าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนั้น, นี้จะกลายเป็นความบ้าหลังอย่างที่สุด เพราะว่าความดีนั้น เป็นของจำกัดอยู่แต่ในวงของโลก, ในวิสัยโลก อย่างโลก ๆ โดยสมมติ.

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์: 13 ต.ค. 2016, 19:35
โดย ชูชีพ
ลุงเนตรบวชแล้วหรือครับสาธุด้วยครับบทความดีมีสาระครับ