"..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

ห้องนี้เทียบได้กับ "ห้องนั่งเล่น" ในกระดานเดิมนะครับ
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

..http://www.oknation.net/blog/Aug-sarapo ... 22/entry-9

..คู่มือมนุษย์(ฉบับสมบูรณ์)/ท่านพุทธทาส : บทที่ ๗/สมาธิ และวิปัสสนา ตามหลักวิชาในรูปเทคนิค

..ท่านที่จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลาย,
ในวันแรกที่สุดแห่งการบรรยาย อาตมาได้บรรยายในทางที่จะให้มองเห็นว่าพุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติที่จะให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น; และได้ขยายความของคำว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยการบรรยายครั้งต่อมา คือให้รู้ว่าทุก ๆ อย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา; แล้วได้บรรยายในครั้งต่อ ๆ มาว่า ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนั้น คนเราก็ยังหลงเกาะเกี่ยว ยึดถือ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นอยู่นั่นเอง ทั้งนี้เพราะอำนาจอุปาทาน ๔ ประการ ซึ่งเราต้องทำความเข้ากันให้ละเอียดลออในเรื่องอุปาทานนั้น; และต่อมาได้อธิบายเรื่องสิกขา ๓ ประการ ซึ่งมีความมุ่งหมายในการตัดอุปาทานโดยตรง; และต่อมา ได้บรรยายเรื่องเบญจขันธ์ ๕ อย่าง ในฐานะเป็นที่เกาะ เป็นที่ยึดถือ ของอุปาทาน; และต่อมาก็ได้บรรยายถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ การรู้แจ้งตามที่เป็นจริงในเบญจขันธ์นั้น เพื่อตัดอุปาทานนั้นเสีย และเป็นวิธีที่เป็นไปตามคอมมอนเซ้นส์หรือตามธรรมชาติ เป็นส่วนใหญ่.

บัดนี้ อาตมาอยากจะอธิบายถึงวิธีที่จะทำญาณทัสสนะความเห็นแจ้งนั้น ให้เกิดขึ้นตามวิธีที่ท่านจัดไว้ในรูปของหลักสูตรหรือหลักวิชา เป็นระเบียบที่รัดกุม หรือที่พอจะเรียกได้ว่าเทคนิคของเรื่องนี้, และขอให้ชื่อในที่นี้ว่า “สมาธิ และ วิปัสสนา ตามหลักวิชา (ในรูปของเทคนิค)”. แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในรูปพระพุทธภาษิต เพราะเป็นสิ่งที่พระโบราณาจารย์ยุคหลัง ๆ จัดขึ้นมาก็ตาม ก็ นับว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีอุปนิสัยยังอ่อน ยังมองไม่เห็นทุกข์ตามธรรมชาติมาก่อนด้วยตนเอง, และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับคนพวกนิยมหรือแตกตื่นไปทำวิปัสสนากัน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมองเห็นความจริงของชีวิตอะไรมาก่อนเลย ซึ่งมีมากในปัจจุบันนี้ด้วยเหมือนกัน. แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า เรื่องที่เป็นเทคนิคชนิดนี้จะเป็นเรื่องวิเศษไปกว่าที่จะเป็นไปตามคอมมอนเซ้นส์หรือตามธรรมชาติ ดังที่ได้บรรยายมาแล้วเมื่อวันก่อน เพราะเหตุว่า เมื่อตรวจดูในพระบาลีไตรปิฎกโดยตรง จะเห็นว่ามีแต่วิธีที่กล่าวอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ได้บรรยายไปแล้วนั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่มีอะไรบางอย่างชวนให้เห็นว่า นั่นมันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับบุคคลที่มีบุญบารมี หรือที่เรียกว่ามีอุปนิสัยที่ได้สร้างมาพอสมควร หรือแก่รอบ พอที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นได้เหมือนกับทำเล่น ๆ อย่างนั้น. ทีนี้ มีปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่มีบารมี ไม่มีอุปนิสัย ไม่ได้อบรมมาจนแก่รอบอย่างนั้น ว่าจะทำอย่างไร ? ท่านก็เลยวางวิธีว่า เราจะต้องเร่งรัด หรือต้องมีระเบียบปฏิบัติ ที่เป็นการเร่งรัดไปตั้งแต่ต้นทีเดียว ต้องทำให้มีระเบียบ ให้ไปตามระเบียบไปตามลำดับอย่างรัดกุม จึงเป็นอันว่าระเบียบที่รัดกุมในรูปเทคนิคอย่างนี้ ก็มีไว้สำหรับคนทุกคนที่ยังไม่มีอุปนิสัยแก่กล้านั่นเอง จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ไว้.
ระเบียบวิธีตั้งหน้าปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดญาณทัสสนะ คือความเห็นแจ้งขึ้นมานี้ ท่านเพิ่งเรียกกันในยุคอรรถกถาโดยชื่อใหม่อีกชื่อหนึ่ง ว่า “วิปัสสนาธุระ” และจัดให้เป็นคู่กันกับ “คันถธุระ” ซึ่งเป็นเรื่องการเรียนตำราคัมภีร์โดยตรง; ส่วนวิปัสสนาธุระนั้น คงให้เป็นเรื่องการเรียนจากภายในไปตามเดิม คืออบรมจิตโดยเฉพาะ เป็นการศึกษาสิ่งต่าง ๆ จากภายในไม่เกี่ยวกับตำรา จนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมา ที่เรียกว่าวิปัสสนา. พึงเข้าใจว่า โดยเหตุที่คำว่า “คันถธุระ” และ “วิปัสสนาธุระ” ๒ คำนี้ ไม่ได้มีมาในบาลี เราจึงหา ๒ คำนี้ไม่พบในพระไตรปิฎก จะมีปรากฏก็อย่างในหนังสือชั้นหลัง ๆ เช่นอรรถกถาธรรมบทเป็นต้น. แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็อาจใช้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ว่า วิปัสสนาธุระนั้น เป็นธุระ หรือเป็นการงานของพุทธบริษัท ผู้ตั้งอกตั้งใจจะทำการดับทุกข์ ด้วยการทำความเพียรในทางเพ่งพิจารณาโดยตรง นี่เรียกว่าวิปัสสนาธุระ. เราไม่จำเป็นจะต้องตั้งคำใหม่ขึ้นมาอีก; เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าเรากำลังจะพูดกันถึงสิ่งที่เขาเรียกกันว่า วิปัสสนาธุระ หรือระเบียบแห่งการทำวิปัสสนา ที่เรียกกันในยุคอรรถกถานั่นเอง.
คำว่า”วิปัสสนา”นี้ มีทางฟั่นเฝืออยู่บางอย่าง คือในบางกรณี เกิดไปแยกการทำทางจิตนี้เป็น ๒ ประเภทโดยเด็ดขาด คือทำเพื่อให้เกิดสมาธิประเภทหนึ่ง ทำให้เกิดปัญญาประเภทหนึ่ง เหมือนอย่างที่ได้เคยอธิบายมาแล้ว และเกิดเรียกชื่ออย่างอื่นขึ้นอีกคู่หนึ่ง คือเรียกการทำสมาธินั้นว่า สมถภาวนา และไปเรียกการทำทางปัญญาว่า วิปัสสนาภาวนา เลยทำให้คำว่าวิปัสสนามีความหมายแคบเข้ามา เหลือแต่เพียงเรื่องของปัญญา. แต่ว่าโดยที่แท้แล้ว คำว่าวิปัสสนาธุระ ต้องกินความรวบหมดทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา คือหมายถึงทั้งสมาธิและทั้งปัญญานั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รวบเอาศีลซึ่งยังไม่ใช่ตัวภาวนาอะไรเลย เข้าไปอีกด้วย ในฐานะเป็นบริวารหรือบาทฐานของสมาธิ เพื่อจะให้เข้าใจการปฏิบัติวิปัสสนานี้ได้ดี พระอาจารย์แต่กาลก่อน ท่านนิยมตั้งให้เป็นหัวข้อ เป็นข้อ ๆ มาทีเดียว หัวข้อแรกที่สุด ก็ว่า :
อะไรเป็นบาทฐานที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา ? และถัดไปก็ คือ
อะไรเป็นลักษณะเครื่องสังเกตว่าเป็นตัววิปัสสนา ?
อะไรจะเป็นกิจ คือตัวการงาน การกระทำที่เรียกว่าวิปัสสนา ?
และ อะไรเป็นผลสุดท้ายของวิปัสสนา ?
เมื่อตั้งปัญหาว่าอะไรเป็นที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา, ก็มีคำตอบว่าศีล กับ สมาธิ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา เพราะว่าวิปัสสนานั้นหมายถึงการรู้แจ้งเห็นจริง. การรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ในเมื่อบุคคลมีจิตใจที่ปีติปราโมทย์ คือไม่มีอะไรเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ. ข้อนี้ ศีลช่วยได้ถึงที่สุด; เมื่อไม่ขาดศีล มีศีลบริสุทธิ์ ก็มีปีติปราโมทย์ ฉะนั้นจึงต้องมีศีล. ท่านเปรียบว่า เหมือนอย่างคนจะตัดต้นไม้ หรือตัดป่าลงสักป่าหนึ่ง เขาจะต้องมีที่ยืนบนแผ่นดิน. ถ้าเขาไม่มีแผ่นดินสำหรับยืน เขาจะทำงานได้อย่างไร ฉะนั้นแผ่นดินในที่นี้ ก็เปรียบเหมือนกับศีล หรือศีลเปรียบเหมือนกับแผ่นดินในที่นี้ สำหรับคนที่จะตัดป่าคือกิเลส จะได้ยืน. ถ้าปราศจากศีลเสียแล้ว ก็เหมือนกับไร้แผ่นดินที่จะยืนทำงาน; ฉะนั้นจึงต้องมีแผ่นดินสำหรับจะยืน คือศีล. ส่วนกำลังหรือเรี่ยวแรงสำหรับจะตัดนั้น ท่านเปรียบเหมือนกับสมาธิ คือเขาจะต้องมีสมาธิเป็นกำลังงาน. ส่วนตัว ปัญญาหรือญาณ ซึ่งเป็นตัววิปัสสนา ก็คือของมีคมสำหรับตัด หรือตัวการตัด เพราะว่าความเห็นแจ้ง ย่อมตัดความมืดบอดคืออวิชชา. โดยเหตุนี้ ศีลจึงเป็นของจำเป็น จนถึงกับเป็นสิ่งแรกที่ท่านเอ่ยถึง ในเรื่องวิปัสสนาธุระ ว่าเป็นที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา ซึ่งถ้าเปรียบก็เหมือนกับที่ยืนทำงาน สำหรับจะถางป่าหรือตัดป่ารก ให้เป็นที่ราบเตียนดังกล่าวแล้ว. โดยเหตุนี้ ศีลจึงถูกลากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิปัสสนาธุระด้วย โดยไม่มีทางจะแยกออกจากกันได้ เหมือนดังที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก.
คำกล่าวเช่นนี้ มีหลักที่อ้างอิงในพระบาลีโดยตรง, เช่นในบาลีมัชฌิมนิกาย ได้มีการกล่าวถึงความบริสุทธิ์สะอาดของการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ เป็นอย่าง ๆ ไปตามลำดับ จนครบ ๗ อย่าง ก็ถึงที่สุด คือการบรรลุมรรคผล. ในขั้นแห่งความบริสุทธิ์ ๗ อย่างนั้น ท่านก็ได้ยกเอาศีลเป็นข้อแรก เรียกว่า สีลวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งศีล. สีลวิสุทธิ ก็ส่งให้เกิด จิตตวิสุทธิ คือความหมดจดดีแห่งจิต. ความหมดจดแห่งจิต ก็ส่งให้เกิด ทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งทิฏฐิคือความเห็น. ความหมดจดแห่งทิฏฐิ ก็ส่งให้เกิด กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความรู้ที่จะข้ามความสงสัยเสียได้. ทีนี้ ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามความสงสัยนี้ ก็ส่งให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็นแจ้งชัดว่าอะไรเป็นหนทาง อะไรไม่ใช่หนทาง. ความหมดจดในเรื่องความรู้ ว่าอะไรเป็นทางอะไรไม่ใช่ทาง ก็ส่งให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวการปฏิบัตินั้น. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้ ก็ส่งผลให้เกิด ญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นขั้นสุดท้าย คืออริยมรรค ซึ่งเป็นคู่กับอริยผล. เมื่อบรรลุอริยมรรคก็ไม่ต้องกล่าวถึงอริยผล เพราะเป็นสิ่งที่เกิดเองอย่างหลีกไม่พ้น; ฉะนั้นท่านจึงกล่าวสิ้นสุดลงเพียงแค่อริยมรรค ในฐานะขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ.
ท่านเปรียบอุปมาเรื่องการปฏิบัติตามลำดับนี้ว่า เหมือนกับสมัยโบราณ การเดินทางของพระราชา เขาใช้รถม้าอย่างดีอย่างเร็ว แต่รถม้าไม่เหมือนรถยนตร์ มันจะวิ่งมาก ๆ เหมือนรถยนตร์นั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องการมีการวิ่งรับกันเป็นช่วง ๆ เป็นตอน ๆ เขาจึงเตรียมม้ากับรถไว้ชุดหนึ่ง สำหรับวิ่งตรงช่วงที่หนึ่ง รถกับม้าอีกชุดหนึ่ง ไว้วิ่งตรงช่วงที่สอง อีกชุดหนึ่งตรงช่วงที่สาม ช่วงที่สี่ เป็นลำดับไป จนถึงช่วงที่ ๗. ถ้าพระราชามีธุระด่วนอะไรเกิดขึ้น คนอยู่ช่วงที่หนึ่งก็ขับรถวิ่ง พอสุดช่วงที่หนึ่งแล้ว ส่งมอบให้คนช่วงที่ ๒ คนช่วงที่ ๒ ก็ขับวิ่งไปสุดช่วงที่ ๒ แล้วก็ส่งมอบให้คนช่วงที่ ๓ ที่ ๔ เรื่อยไป, พระเจ้าแผ่นดินก็อาจเดินทางวันหนึ่งตั้งหลายร้อยกิโลเมตรได้ เหมือนอย่างที่เรามีรถยนตร์ใช้สมัยนี้ และถึงที่สุดในวันเดียวได้เหมือนกัน เพราะการส่งกันเป็นช่วง ๆ . อุปมานี้ ท่านใช้เปรียบเทียบกับวิสุทธิ หรือความหมดจด ๗ ช่วง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น. ช่วงแรกที่สุด ได้แก่สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ในฐานะที่เป็นของจำเป็นเบื้องต้นที่จะขาดไม่ได้. เพราะเหตุนี้เอง ศีลจึงถูกนับเนื่องเข้าในเครือของวิปัสสนาด้วยอย่างที่จะแยกกันไม่ได้ ในฐานะที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เปรียบเหมือนพื้นแผ่นดินที่จะต้องใช้เป็นที่ยืนดังกล่าวแล้ว.
สำหรับคำว่า ศีล นี้ ได้อธิบายมาแล้วเป็นส่วนมาก ในการบรรยายครั้งก่อน ๆ ซึ่งสรุปได้ความว่า หมายถึงปรกติทางกาย ทางวาจา. ขอให้ท่านทั้งหลายจำความหมายของคำว่า ศีล ๆ นี้ไว้อย่างสั้น ๆ ว่า คือความปรกติปราศจากโทษในทางกาย ทางวาจา. ส่วนการที่จะแจกศีลเป็น ๕ ข้อ ๑๐ ข้อ หรือกี่ข้อนั้น ไม่เป็นความสำคัญอะไรเลย. ถ้ายังมีความไม่ปรกติทางกายทางวาจาอยู่แล้ว ยังเรียกว่าไม่มีศีลที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามความหมายของศีล. ต่อเมื่อมีความปรกติ คือไม่เกิดโทษรบกวนขึ้นทางกาย ทางวาจา จึงจะถือว่ามีศีล. ฉะนั้นเราอาจจะตั้งศีลของเราเองขึ้นได้ โดยถูกต้อง ไม่มีผิดพลาด ถ้าหากว่าเรายึดหลักอันนี้. ตัวอย่างเช่นเราไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา ไปประพฤติผิดในของรักของเขา ไปโกหกเขา มันก็เกิดความไม่ปรกติขึ้นทางกาย ทางวาจา ทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายเศร้าหมอง; หรือแม้ที่สุดเราประพฤติผิดเรื่องเล็กน้อย ทางมรรยาท ทางสังคม หรือแม้แก่ตัวเราเอง จนทำให้เกิดความไม่ปรกติสุข ที่เกี่ยวกับทางกายหรือทางวาจาขึ้น นี้ก็เรียกว่าไม่มีศีล. ฉะนั้นเราอาจจะถือศีลเพียงตัวเดียว แล้วได้ศีลทั้งพระไตรปิฎก คือทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ก็มีทางที่จะทำได้ โดยการรักษาความปรกติไม่มีโทษเกิดขึ้นทางกายวาจานั่นเอง ขอให้จำไว้ว่า ศีลนั้นมีความหมายอย่างนี้ เพราะคำว่า ศีล เอง ก็แปลว่า ปรกติ ขอให้จำไว้อย่างแม่นยำ.
เมื่อมีความปรกติ คือความสงบหรือเหมาะสมในทางกาย วาจา ก็ย่อมจะเกิดความปรกติ หรือความเหมาะสมในทางจิต ที่เรียกว่า จิตตวิสุทธิ ความหมดจดทางจิตตามมา. ข้อนี้ได้อธิบายแล้วโดยละเอียดในเรื่อง สิกขา ๓ ที่ว่าถึง สมาธิ แล้ว. ขอสรุปใจความสั้น ๆ ของคำว่า สมาธินี้ ว่าได้แก่ ความที่มีจิตอยู่ในสภาพที่เหมาะสม ที่จะปฏิบัติงานทางจิต. คือถือเอาบทที่แสดงลักษณะของสมาธิว่า กมฺมนิโย; ส่วนคำว่า สมาหิโต, ปริสุทฺโธ, ปริโยทาโต และบทอื่น ๆ นั้น ก็ยังไม่มีความหมายสำคัญเท่ากับบทที่ว่า กมฺมนิโย คือจิตมีสภาพเหมาะสมสำหรับจะปฏิบัติงานทางจิต. นี่แหละ คือความหมายอันถูกต้องของคำว่า สมาธิ ไม่ได้หมายความว่าตัวแข็งทื่อ ไม่มีความรู้สึกเป็นก้อนหินก้อนดิน หรือว่าเข้าฌาน ซึมเซาไปในความสุขของฌานนั้น ก็ไม่ใช่. นั่นไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่จะปฏิบัติงานทางจิต แม้ที่สุดแต่เรามีความโปร่งสบาย จิตใจสดชื่น เป็นที่พอใจของตัวอยู่ ก็เรียกว่ากำลังมีคุณสมบัติของความเป็นสมาธิอยู่ และอาจเริ่มทำงานทางจิตหรือวิปัสสนาธุระได้.
ทีนี้ ต่อไปจากนี้อีก ๕ อย่าง, หรือ ๕ สุทธิ คือทิฏฐิวิสุทธิ, กังขาวิตรณวิสุทธิ, มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ, ปฏิปทาญาณวิสุทธิ, และญาณทัสสนวิสุทธิ นั้นเป็นตัววิปัสสนาแท้. ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ใน ๗ อย่างนั้น ๒ อย่างแรก คือสีลวิสุทธิ กับ จิตตวิสุทธิ จัดเป็นปากทางของวิปัสสนา. อีก ๕ อย่างข้างปลาย นับตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นไปนั้น เป็นตัววิปัสสนา; เลยได้ลำดับใหม่ว่า ตัววิปัสสนาที่ ๑ นั้น คือทิฏฐิวิสุทธิ หมายถึงความมีทิฏฐิบริสุทธิ์หมดจด คำว่า ทิฏฐิ ในที่นี้ หมายถึงความเห็นอย่างที่คนเราใช้เป็นเครื่องยึดมั่นถือมั่นอะไรบางสิ่งบางอย่างนั่นเอง, เป็นของประจำตัวอยู่ด้วยกันทุกคน, คือความคิดเห็นที่ถืออยู่เป็นหลักประจำใจตลอดเวลา.
ตัววิปัสสนาที่ ๑ เรียกว่าความหมดจดของทิฏฐิ หมายถึงความหมดจดจากความเห็นผิด ที่เราเห็นผิดกันอยู่ตามธรรมชาติธรรมดามาแต่เดิม หรือด้วยการถูกแวดล้อมเป็นพิเศษก็ตาม นับตั้งแต่ความเชื่องมงายไร้เหตุผลในเรื่องของไสยศาสตร์ ขึ้นมาถึงเรื่องความเข้าใจผิดในธรรมชาติ เช่นร่างกาย จิตใจ วิญญาณเหล่านี้ ก็เข้าใจผิดเห็นเป็นของเที่ยง ของสุข หรือเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม หรือเป็นอะไรล้วนแต่ขลัง ๆ ศักดิ์สิทธิ์ไปทั้งนั้น; ไม่สามารถจะเห็นว่ามันเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือส่วนที่เป็นร่างกาย; เป็นวิญญาณธาตุ คือที่เป็นส่วนจิต, และเป็นอากาสธาตุ คือ ส่วนที่เป็นพื้นฐานทั่ว ๆ ไป, หรือไม่เห็นว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงนามและรูป หรือกายกับใจ แต่ไปเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน มีเจตภูตหรือวิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์เข้า ๆ ออก ๆ อยู่กับร่างกาย, มองไม่เห็นว่าเป็นนามรูป; มองไม่เห็นว่าเป็นขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; ไม่เห็นว่าเป็นเพียงอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้เป็นต้น; ความรู้สึกจึงน้อมไปในทางที่ยึดถือความขลัง ยึดถือความศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้เกิดความหวาดกลัว แล้วเกิดพิธีรีตองต่าง ๆ เพื่อจะมาแก้ความหวาดกลัว จนกระทั่งติดมั่นแน่นแฟ้นในพิธีรีตองต่าง ๆ ตามความเชื่อความคิดเห็นอันผิดเหล่านั้น. นี่เรียกว่าความเห็นยังไม่สะอาดหมดจด จะต้องละความเห็นอย่างผิด ๆ ทำนองนั้นให้หมดจดเสียก่อน จึงจะเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๑ ขึ้นมาได้, และเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ. ถ้าจะกล่าวให้ชัดตามโวหารสำหรับพวกเราสมัยนี้ใช้กันอยู่ ก็น่าจะใช้คำว่า เป็นผู้มีความรู้ที่เป็นวิทยาการ และเป็นผู้อยู่ในอำนาจของเหตุผล มีความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ของธรรมชาติทั้งหลายอย่างถูกต้อง, ก็พอจะเรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดสะอาดดีของความเห็น. ขอให้ทำความเข้าใจในลักษณะที่สิ่งนี้จะมาเกี่ยวข้องกับตัวเราให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ และให้ใช้เป็นประโยชน์ได้จริง ๆ จึงจะเป็นผู้ที่นำตนเข้าไปในร่องรอยของสิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนา” คือความรู้ความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง. รวมความให้สั้น ๆ ที่สุด ทิฏฐิวิสุทธินี้ท่านจำกัดความไว้ ว่าเป็นความเห็นที่รู้จักแยกแยะคำว่าตัว คำว่าสัตว์ บุคคล มึง กู เรา เขา เหล่านี้ให้กระจายออกไปในลักษณะที่เป็นเพียงส่วน ๆ เช่นเป็นขันธ์ห้า หรือเป็นรูปนาม คือเป็นกายกับใจเป็นอย่างน้อย อย่าให้หลงผิดทั้งตน ๆ คือหลงสมมติที่เป็นสัตว์เป็นบุคคลทั้งกลุ่มหรืออะไรทำนองนั้น, มิฉะนั้น จะเลยเถิดเห็นฟ้าเป็นเทวดา เห็นแม่น้ำลำธารเป็นเทวดา เห็นต้นไม้เป็นเทวดา หรือมีเทวดาอย่างนี้เป็นต้นสืบไปอีก. เราต้องรู้จักน้ำก็เป็นน้ำ ฟ้าก็เป็นฟ้า และรู้ว่ามันประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง มีลักษณะอย่างไรบ้าง, ที่เคยเข้าใจว่าน้ำเป็นเทวดา ฟ้าเป็นเทวดา ก็จะหายไป. นี่นับว่าเป็นเครื่องเทียบเคียงให้เข้าใจคำว่าทิฏฐิวิสุทธิ. ถ้าพูดถึงคน ก้อย่าให้หลงเป็นเรื่องของเจตภูต วิญญาณ หรืออะไรทำนองนั้น. แต่ให้เข้าใจว่าเป็นส่วนประกอบของธรรมชาติ หรือของธาตุต่าง ๆ ตามธรรมชาติ มาปรุงกันเข้า ก็จะเริ่มมีความเห็นแจ้งหรือวิปัสสนาอันดับแรกที่เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ. ทิฏฐิวิสุทธินี้ จะส่งต่อไปให้เกิด กังขาวิตรณวิสุทธิ.
เมื่อเราพิจารณาต่อไปอย่างละเอียด ถึง กังขาวิตรณวิสุทธิ ก็คือพิจารณาลงไปถึงเหตุถึงปัจจัยของส่วนหนึ่ง ๆ ที่เราได้แยกออกดูแต่ทีแรกนั้นแล้วอีกชั้นหนึ่ง : ทิฏฐิวิสุทธิ เห็นคน ๆ หนึ่งนี้ เป็นเพียงกายกับใจ. ทีนี้ กังขาวิตรณวิสุทธินี้ มีหน้าที่จะแยกดู ว่ากายกับใจแต่ละอย่าง ๆ นี่ มีเหตุมีปัจจัยสร้างปรุงกันมาอย่างไร ฉะนั้นจึงมองเห็นลึกลงไปอีกว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร เหล่านี้เป็นต้น มันสร้างสรรค์ปรุงแต่งกันมาอย่างประณีตสุขุมจนกระทั่งปรากฏสิ่งที่เราเรียกว่ากายและใจ; กังขาวิตรณวิสุทธิ ที่เรียกว่าความหมดจดแห่งความรู้ที่จะให้ข้ามสงสัยเสียได้นี้ จึงหมายถึงการเห็นแจ้งในพวกเหตุพวกปัจจัยของสิ่งทั้งปวงนั่นเอง. ความสงสัยว่าเรามีหรือไม่มี ตัวของเรามีหรือไม่มี ตัวเราตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ตัวเราเคยเกิดมาแล้วอย่างไร ตัวเราจะเกิดอย่างไรต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น เหล่านี้ท่านเรียกว่าความสงสัย. ในระเบียบของวิปัสสนานั้น ท่านจำแนกความสงสัยเหล่านี้ออกไปราว ๒๐ – ๓๐ อย่าง. แต่เมื่อสรุปแล้ว ก็คือความสงสัยเกี่ยวกับตัวเรามีอยู่หรือไม่ ตัวเราได้มีแล้วหรือไม่ ตัวเราจะมีต่อไปหรือไม่ ในลักษณะอย่างไร เหล่านี้เอง. การที่จะข้ามความสงสัยเสียได้ ก็ต้องโดยเหตุที่ได้ทราบว่ามันไม่มีตัวเรา มีแต่ธาตุ ขันธ์ อายตนะ และเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร เป็นต้น ซึ่งปรุงแต่งขันธ์อายตนะเหล่านั้น. มันไม่มีตัวเรา แล้วเริ่มหมดความเข้าใจเขลา ๆ ว่าเรามีอยู่ เรามีมาแล้ว เราจะมีต่อไปนั้นเสียที. ความสงสัยชนิดนี้ ทำนองนี้ ระงับไปสิ้นเชิงแล้ว ก็เรียกว่าเป็นตัววิปัสสนาที่ ๒ ได้ แต่มิได้หมายความว่าเป็นการหมดกิเลสที่เป็นเหตุให้ถือว่าตัวเราโดยสิ้นเชิง เพราะส่วนที่ละเอียดกว่านั้นยังมีอยู่. ความสงสัยที่รบกวนใจทำนองนั้น ต้องหมดไปตั้งแต่ขั้นนี้. ความสงสัยเหล่านี้ได้ระงับไป เพราะมีความรู้เรื่องการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยต่าง ๆ จนเพิกถอน “ตัวเรา” ชั้นหยาบ ๆ นี้เสียได้.
เมื่อมาถึงขั้นข้ามความสงสัยเช่นนี้เสียได้แล้ว ก็สามารถทำให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดสะอาดแห่งความรู้ความเห็นว่าอะไรเป็นทางที่จะก้าวต่อไปอย่างถูกต้อง อะไรเป็นทางที่จะไม่ก้าวต่อไปได้คือทางผิด. อุปสรรคที่ทำให้ก้าวไปไม่ได้ในขั้นนี้ก็มีอยู่หลายอย่าง ที่เห็นชัดว่ามันเกิดในขณะที่ทำวิปัสสนานั้นก็คือ สิ่งต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่จิตเป็นสมาธิที่กล่าวแล้วข้างต้น. ในตอนที่จิตเป็นสมาธินั้น มักจะเกิดสิ่งต่าง ๆ ชนิดแปลกประหวาด และจะจับอกจับใจผู้ทำมากเหลือเกิน และแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีสมาธิไหน ที่จะไม่เกิดสิ่งที่จับอกจับใจผู้ทำ เช่นเกิดแสงสว่างรุ่งเรืองน่าอัศจรรย์ เห็นแจ้งปรากฏอยู่ในตาข้างในโดยไม่ต้องลืมตา. ถ้ายิ่งไปน้อมจิตเพื่อให้เห็นนั่น เห็นนี่เข้าด้วย ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าคนเข้าใจผิดว่า “นี่แล้วเป็นผลของวิปัสสนา” หรือยินดีว่า “นี่ก็เป็นของวิเศษสำหรับเราพอแล้ว” ดังนี้ก็ตาม ข้อนั้นย่อมกีดกั้นหนทางของวิปัสสนา คือความเห็นแจ้งในมรรคผล ท่านจึงถือว่าไม่ใช่ทางหรือเป็นเรื่องผิดทาง. อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ปีติอิ่มอกอิ่มใจเกิดขึ้นมากล้น ท่วมทับจิตใจเสียเรื่อยตลอดเวลา จนไม่อาจพิจารณาอะไรได้อีกต่อไป; หรือเกิดไปเข้าใจว่า นี่แล้วเป็นนิพพานในปัจจุบันทันตาเห็นแล้ว ดังนี้เป็นต้น ก็ติดตันเสีย ไม่ก้าวไปได้ นี้ก็เป็นอุปสรรคของวิปัสสนา เกิดสิ่งที่ไม่ใช่ทางขึ้นขวางหน้า. ท่านยังกล่าวว่า แม้ญาณ คือความเห็นแจ้งในนามรูปบางขณะ ที่ทำความความพอใจให้ว่าตนเป็นผู้รู้เห็นอย่างวิเศษ แล้วทะนงตัวฟุ้งซ่านอยู่ด้วยความเห็นแจ้งเหล่านั้น นี่ก็ชื่อว่าเป็นการผิดทาง หรือเป็นอุปสรรคของวิปัสสนา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ด้วยเหมือนกัน. ในบางกรณี จิตตกไปในทางรำงับมากเกินไป จนคอยแต่จะรำงับหยุดนิ่งเสียท่าเดียว น้อมไปในทางพิจารณาธรรมไม่สำเร็จ. บางทีเป็นไปมากในทางกาย จนกายรำงับแข็งทื่อเสียเสมอไป ก่อนแต่จะพิจารณาอะไรได้ หรือน้อมไปเพื่อความเพียรอันสูงขึ้นไปไม่ได้ นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ทั้งในทางที่จะก้าวหน้าต่อไปไม่ได้, และในทางที่จะหลงไปว่าเป็นคุณวิเศษไปเสียเลย. ผู้ที่พอใจหลงใหลแต่ในทางสมาบัติ จึงไม่อาจก้าวไปในทางปัญญา. ยังมีข้ออื่นอีก ซึ่งเป็นไปได้ง่ายที่สุด เช่นเกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นที่พอใจชนิดที่ไม่เคยพบมาเลยแต่ก่อน เกิดแล้วก็แปลกประหลาดเหลือที่จะอธิบายได้ ทำคน ๆ นั้นให้เกิดความพอใจเหลือที่จะประมาณ เพราะว่าในขณะนั้นใจกับกายเป็นสุขแสนที่จะเป็นสุข ปัญหาต่าง ๆ เกลี้ยงเกลาไปจากใจ ระลึกนึกถึงเรื่องที่เคยรักก็ไม่รัก ระลึกนึกไปถึงเรื่องที่เคยเกลียดก็ไม่เกลียด ระลึกนึกถึงเรื่องที่เคยกลัว เคยหวาดเสียว เคยวิตกกังวลห่วงใยต่าง ๆ ก็ไม่อาจเกิดความรู้สึกทำนองนั้น จึงหลงเข้าใจว่าบัดนี้เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง เพราะมีลักษณะอาการราวกับบุคคลผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง. ตลอดเวลาที่เป็นอย่างนั้น ถ้าพอใจเสียในความเป็นอย่างนั้น ก็เป็นการตัดหนทางแห่งการก้าวหน้าของวิปัสสนา และไม่เท่าไหร่อาการเช่นนั้นจะค่อยเสื่อมหายไป : สิ่งที่เคยกลัวก็จะกลับกลัวอย่างเดิม สิ่งที่เคยรักก็จะรักอย่างเดิม อะไร ๆ ก็จะกลับสู่สภาพเดิม นี่ก็อย่างหนึ่ง หรือพวกหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าความเชื่อ. ความเชื่อที่เคยไม่แน่นแฟ้นมาแต่ก่อน ก็ปรากฏเป็นของแน่นแฟ้นในพระรัตนตรัย หรือในสิ่งที่ตนอยากจะเชื่อ; แม้ที่สุดแต่ความพอใจในธรรม ก็มีอาการรุนแรง; แม้ลักษณะของความเฉยต่อสิ่งทั้งปวง ก็มีอาการรุนแรง; ล้วนแต่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้หลงใหลหรือติดตัน ในสิ่งเหล่านั้นแล้วแต่กรณี. ท่านแสดงลักษณะของสิ่งที่ไม่ใช่ทางก้าวหน้าต่อไปของวิปัสสนาไว้ดังนี้ อาตมาเชื่อว่าเป็นการยากมาก ที่คนแรกพบแรกถึงสิ่งเหล่านี้ จะเข้าใจได้ว่านี่เป็นอุปสรรค หรือเป็นเครื่องขัดขวางของวิปัสสนา มีแต่จะกลับเห็นไปเสียว่านี่เป็นสุดยอดของวิปัสสนาเสียทีเดียว จึงเป็นสิ่งที่ยากหรือประณีตแยบคายอยู่ ต่อเมื่อใดเกิดญาณรู้แจ้งจริง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกีดขวางของวิปัสสนาชั้นที่จะทำการตัดสังโยชน์ตัดกิเลสอันละเอียดเสียได้ เมื่อนั้นจึงจะเชื่อว่ามีมัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาที่ ๓ คือความบริสุทธิ์หมดจดของความรู้ความเห็นที่ว่า อะไรเป็นทางถูก อะไรเป็นทางผิด. เขาจะต้องศึกษาอบรมดำรงตัวให้เดินในทางที่ชอบไว้เรื่อย ๆ ไป จนเกิดความรู้แจ้งชัดในหนทางแห่งวิปัสสนาจิตที่ถูกตรงโดยประการทั้งปวง.
ครั้นมีญาณทัสสนะในเรื่องทางผิด ทางถูก โดยสมบูรณ์เช่นนั้นแล้ว ญาณในขั้นต่อไปก็จำต้องดำเนินถูกทางเป็นธรรมดา และก้าวไปตามลำดับ นับตั้งแต่เห็นความจริงในสังขารทั้งปวงชัดแจ้งถึงที่สุด จนกระทั่งวางเฉยในสิ่งทั้งปวง มีจิตพร้อมที่จะบรรลุถึงการรู้อริยสัจจ์ที่เป็นชั้นคุณวิเศษสืบไป : เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งแปลว่าความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวทางแห่งการปฏิบัติ. นับเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๔, หรือนับเป็น วิสุทธิอันดับที่ ๖ เนื่องจากไม่มีคำอธิบายอันละเอียดของญาณนี้ในบาลีเดิม คือ พระไตรปิฎกโดยตรง นักศึกษาจึงถือเอาตามที่มีอธิบายอยู่ในหนังสือชั้นหลัง ๆ เช่น คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ของพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งถอดรูปมาจากคัมภีร์วิมุติมัคค์ ของท่านอุปติสสะอีกต่อหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น. อาจารย์ในชั้นหลังเหล่านี้ จำแนกลำดับญาณในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็น ๙ ลำดับด้วยกัน และเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙, คือ –
๑.เมื่อวิปัสสนาจิตดำเนินไปถูกทาง ในการพิจารณาความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสังขารทั้งปวงถึงที่สุดแล้ว ก้เพ่งพิจารณาแน่วแน่อยู่แต่ในภาวะแห่งความก่อเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปของสังขารเหล่านั้น จนแจ่มแจ้งชัดเจนถึงที่สุด เห็นภพทั้งหลายเต็มไปแต่ด้วยการเกิดดับ เหมือนท้องทะเลระยิบระยับเต็มไปแต่การเกิดและการดับของฟองน้ำที่เกิดจากลูกคลื่น ฉันใดก็ฮันนั้น. ความรู้ความเห็นที่เป็นอยู่ในลักษณะนี้ เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณ เป็นเครื่องตามกำหนดให้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไป หรือมักเรียกกันแต่สั้น ๆ ว่า อุทยญาณ เพื่อความสะดวก. ผลแห่งญาณเหล่านี้ เกิดจากการเพ่งพิจารณาให้ชัดและให้นาน จนกว่าความรู้นั้นจะแน่นแฟ้นเหมือนกับย้อมติดอยู่ในจิต เพื่อให้มีกำลังแรงในการที่จะเบื่อหน่าย หรือการขูดเกลาไถ่ถอนความยึดมั่นในสิ่งนั้น ๆ เสียได้ในลำดับต่อไป นั่นเอง. นี้เป็นวิปัสสนาญาณ ที่ ๑.
๒.การเพ่งพิจารณาพร้อมกันทั้งความเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปถึงสองประการในคราวเดียวกันนั้น ยังหยาบอยู่ กำลังจิตยังพร่ากว่าที่จะเพ่งเพียงอย่างเดียว; ในชั้นนี้ท่านจึงทิ้งเสียอย่างหนึ่ง คือไม่เพ่งดูฝ่ายเกิด, เพ่งแต่ฝ่ายความดับ เพื่อให้เห็นความสลายหรือความดับ ลึกซึ้งรุนแรงถึงที่สุด จนกระทั่งรู้สึกว่าในโลกทั้งปวงไม่มีอะไร นอกจากความพังทลาย หรือความแตกดับทั่วไปหมด เหมือนกับห่าฝนตกลงมาทั่วไปทุกหนทุกแห่ง, จิตที่อยู่ในความรู้สึกเช่นนี้ เรียกว่าประกอบอยู่ด้วย ภังคานุปัสสนาญาณ แปล่า ญาณ เป็นเครื่องตามกำหนดเห็นความพังทลาย หรือความดับ นี้เป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒. เรียกสั้น ๆ ว่า ภังคญาณ.
๓.เมื่อความเห็นแจ้งในความเสื่อมสลายอยู่เรื่อย มีมากเพียงพอแล้ว ก็จะทำให้เกิดความรู้แจ้งต่อไปเป็นลำดับที่ ๓ ว่า ภพคือความมีความเป็นทั้งหลายนี้ คือสิ่งที่น่ากลัว. ความน่ากลัวปรากฏเต็มไปในภพทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพก็ตาม. หรือว่าภพทั้งหวง เต็มไปด้วยภาวะที่น่ากลัวแห่งความแตกทำลายของสังขารทั้งปวงอยู่ทุกขณะจิต จึงเกิดเป็นความหวาดกลัวสะดุ้งถึงที่สุดจริง ๆ ขึ้นในใจของผู้เห็นแจ้ง, และความกลัวอันถูกต้องนั้น ประจำอยู่ในใจเป็นความเห็นแจ้งชนิดหนึ่ง ว่ามีแต่ความน่ากลัว เปรียบประดุจยาพิษ อาวุธ หรือโจรอันโหดร้ายเท่านั้น ที่บรรจุอยู่ในภพทั้ง ๓ เต็มไปหมด ไม่มีอะไรนอกไปจากนั้น. ในขณะแห่งความรู้สึกเช่นนี้ ท่านเรียกว่า ภยตุปัฏฐานญาณ แปลว่าความรู้แจ้งในสังขารปรากฏว่าเต็มไปด้วยภาวะที่น่ากลัว. เรียกสั้น ๆ ว่า ภยญาณ, จัดเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓.
๔.เมื่อความรู้สึกว่าเต็มไปด้วยความน่ากลัวในภพทั้งปวงมากพอ อันดับต่อไปก็จะเกิดความรู้แจ้งว่าสังขารหรือภพทั้งปวง ประกอบอยู่ด้วยโทษอันร้ายกาจโดยส่วนเดียว ไม่มีความปลอดภัยในการที่จะไปหลงเกี่ยวข้องด้วยสังขารเหล่านั้น, เปรียบเหมือนป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย มีราชสีห์เป็นต้น ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์แก่ผู้ต้องการความเพลิดเพลินจากป่า ฉันใดก็ฉันนั้น. ความรู้สึกเห็นภพทั้งปวงเต็มไปด้วยโทษเช่นนี้ เรียกว่า อาทีนวานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดให้เห็นโทษของสังขารทั้งปวง. เรียกสั้น ๆ ว่า อาทีนวญาณ. จัดเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๔.
๕.เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของน่ากลัว และเต็มไปด้วยโทษทุก ๆ ปรมาณูเช่นนั้นแล้ว ก็เกิดความรู้สึกที่เหนื่อยหน่ายในสังขารทั้งปวง เห็นเป็นเหมือนบ้านเรือนที่ไฟไหม้ เหลือแต่ดุ้นถ่าน พอเป็นรูปโครงว่าเรือนที่ถูกไฟไหม้แล้วดังนี้ ไม่น่าเสน่หาแต่ประการใด. ความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการที่ต้องระคนอยู่กับสังขารทั้งปวงนี้ เรียกว่า นิพพิทานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดด้วยความเบื่อหน่าย. เรียกสั้น ๆ ว่า นิพพิทาญาณ. นับเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๕.
๖.เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายที่แท้จริงเช่นนี้ ก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะพ้นจากการระคนด้วยสังขารเหล่านั้นจริง ๆ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่ว่าอยากจะพ้นในที่นี้ มันมีจริง ๆ และมากพอจริง ๆ ไม่ใช่เหมือนความรู้สึกอยากพ้นตามธรรมดาของพวกเรา ซึ่งไม่มีกำลังของสมาธิ หรือกำลังของความเห็นแจ้งอะไร ๆ เข้าช่วย. เพราะมันไม่อยากพ้นจริง ๆ เหมือนอย่างญาณในลำดับแห่งวิปัสสนาญาณ พวกเราจึงทำเล่น ๆ กับการศึกษาพระพุทธศาสนา ทำเล่น ๆ กับการปฏิบัติธรรม หรือกับการอะไรทุกอย่าง มันผิดกันที่ตรงนี้. ส่วนความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งวิปัสสนาญาณนั้น จิตใจทั้งหมดมันเป็นไปด้วยทั้งหมด, รู้สึกกลัวเท่าไร ก็รู้สึกอยากพ้นเท่านั้น. เมื่อรู้สึกว่าภพทุกภพบรรจุเต็มไปด้วยความน่ากลัว ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ความอยากพ้นมันก็มีมาก ประมาณเท่ากับความใหญ่ของภพทั้งปวงนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการอยากพ้นจริง ๆ . ท่านมีอุปมาเปรียบว่ามีความอยากพ้นมาก ขนาดเท่า ๆ กับความอยากพ้นของสัตว์ เช่นเขียดเป็นต้น ซึ่งกำลังดิ้นอยู่ในปากของงู. มันอยากพ้นเท่าไร ก็ลองคำนวณดูเองเถิด. เดี๋ยวนี้พระโยคาวจรผู้มีนิพพิทาญาณแล้ว ก็อยากพ้นจากภพทั้งปวงมากเท่านั้น. หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ว่าเนื้อ หรือนก หรืออะไรก็ตาม ที่ติดบ่วง ดิ้นร่าว ๆ อยู่ มันอยากจะพ้นจากบ่วงนั้นเท่าไร พระโยคาวจรก็อยากจากสังสารทุกข์มากเท่านั้น. หรือเปรียบเหมือนสัตว์ป่าที่ถูกจับมาขังกรง มันมีความอยากจะออกจากกรงมีประมาณมากเท่าไร พระโยคาวจรคือผู้เจริญวิปัสสนาอันดับญาณนี้ ก็อยากพ้นจากภพทุก ๆ ภพ คือจากกามภพ จากรูปภพ จากอรูปภพ ซึ่งเต็มไปด้วยความน่ากลัวมากเท่านั้น. และตามความเชื่อของคนโบราณ เขาชอบเขียนเป็นภาพพระจันทร์อยากจะพ้นจากปากของราหู ซึ่งมักจะทำเป็นแผ่นไม้ใหญ่ สลักติดอยู่ตามประตูวัดโบราณ ๆ ให้คนเห็นว่าพระจันทร์อยากจะพ้นจากปากราหู ฉันใด พวกเราก็อยากจะพ้นจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ฉันนั้น ความรู้สึกที่อยากจะพ้นจริง ๆ ทำนองนี้ และมีปริมาณมากเท่านี้ นี้เรียกว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาในการพ้น. นับเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๖.
๗.ทีนี้ เมื่อความอยากพ้นอย่างรุนแรงมีมากพอ ความกระเสือกกระสนหาหนทางพ้นนั้น มันก็ทนไม่ได้จึงต้องมี; จึงเกิดความรู้สึกในทางดิ้นหาหนทางอย่างรุนแรงเช่นกัน. ท่านเรียกชื่อของความรู้สึกอันนี้เป็นภาษาบาลีว่า ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องกำหนดพิจารณาหาทางรอด. การพิจารณาในข้อนี้ ก็คือการสอดส่องไปเรื่อย ๆ ว่า เมื่อภพทั้งหลายเป็นอย่างนี้ ทั้งเราก็อยากจะพ้น; มันมีทางใดบ้าง. พิจารณาไป ก็เห็นอุปาทาน เห็นกิเลส ซึ่งเป็นเหตุผูกพันจิตให้ติดอยู่กับภพนั้น ๆ ว่ามันมีอยู่อย่างเหนียวแน่น, จึงได้หาหนทางต่อไปในทางที่จะทำให้กิเลสนั้นอ่อนกำลัง จนเห็นความอ่อนกำลังของกิเลสนั้นเสียก่อน แล้วจึงทำลายเสีย. ท่านเปรียบอุปมาในการแสวงหาทางทำกิเลสให้อ่อนกำลังเสียก่อนนี้ ว่าเหมือนกับคน ๆ หนึ่งไปสุ่มปลาได้งู ล้วงขึ้นมาเป็นงู ไม่รู้ว่าเป็นงู คิดว่าปลา เอามากอดรัดไว้ ยึดถือไว้ ใครบอกว่างูก็ไม่เชื่อ จนกระทั่งได้อาจารย์ซึ่งมีสติปัญญา เมตตากรุณามาก มาพร่ำชี้แจงจนรู้ว่ามันเป็นงู ไม่ใช่เป็นปลา จึงเกิดกลัวขึ้นมา อยากจะพ้นจากงู ด้วยการหาวิธีฆ่างูนั้นเสีย. เขาได้จับคองูยกขึ้นเหนือศีรษะ, คลายขนดงูออกจากแขน, แกว่งเป็นวงกลม จนกระทั่งงูเพลีย และปล่อยมือให้งูกระเด็นไปด้วยแรงเหวี่ยงของมันเองไปไกล ไปตกนอนแบอยู่และตายอยู่ที่นั่น ถ้าไม่ตายก็ตามไปฆ่าเสียให้ตาย. อุปมานี้ท่านหมายถึงการที่ผู้รู้แจ้งว่าสิ่งที่ผูกพันตนให้ติดอยู่กับภพ ที่น่ากลัวน่าสลดสังเวชที่สุด


""..ส่วนท้าย หายไป เพราะมีการดาดมืดทึบ..""
ไฟล์แนบ
images (16).jpg
images (16).jpg (13.42 KiB) เข้าดูแล้ว 1758 ครั้ง
images.png
images.png (10.24 KiB) เข้าดูแล้ว 1758 ครั้ง
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

..http://www.oknation.net/blog/Aug-sarapo ... 2/entry-10

คู่มือมนุษย์(ฉบับสมบูรณ์)/ท่านพุทธทาส : บทที่ ๘/อริยบุคคล กับ การละกิเลส

ท่านที่จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลาย,
อาตมาได้กล่าวมาแล้วเมื่อวานนี้ ถึงแนวของสิ่งที่เรียกว่า วิปัสสนา โดยสังเขป เป็นการแสดงถึงวิธีปฏิบัติในทางจิต เพื่อให้จิตมีความเจริญขึ้นสูงถึงขนาดที่ความทุกข์ครอบงำไม่ได้ ที่เรียกว่าพ้นทุกข์ ด้วยอำนาจของการที่จิตรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง โดยใจความก็คือรู้แจ้งว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ จนกระทั่งสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกทุก ๆ โลก ไม่มีอิทธิพลที่จะนำจิตให้หลงนักหรือหลงชังได้อีกต่อไป เรียกว่าจิตอยู่เหนือโลกหรือเหนือวิสัยของโลก ขึ้นถึงสถานะอันใหม่ ที่ท่านเรียกว่า โลกุตตรภูมิ เพราะฉะนั้น เราควรเข้าใจเรื่องของโลกุตตรภูมิ คือชั้นหรือฐานะที่อยู่เหนือโลก ให้แจ่มแจ้งตามสมควร.


การที่เราจะเข้าใจ โลกุตตรภูมิ ได้ชัดเจน เราจำเป็นจะต้องรู้เรื่องที่ตรงกันข้าม คือ โลกียภูมิ ด้วยเหมือนกัน. โลกียภูมิ ก็คือ ภูมิของจิตที่ต่ำอยู่ในขนาดที่สิ่งต่าง ๆ ในโลกมีอิทธิพลเหนือจิตได้, โลกียภูมินั้น ท่านแบ่งโดยสรุปที่สุดออกเป็น ๓ พวกด้วยกัน กล่าวคือ กามาวจรภูมิ หมายถึงภูมิของจิตที่ยังต่ำจนพอใจในกามทั้งปวง นี้เป็นภูมิแรก. ภูมิถัดไปคือ รูปาวจรภูมิ ได้แก่ฐานะของจิตที่ไม่ต่ำจนถึงกับพอใจในกาม แต่ว่ายังพอใจในความสุขที่เกิดมาแต่สมาบัติ ที่มีอารมณ์เป็นรูปธรรมสิ่งใด ๆ ก็ได้ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม. ภูมิที่ถัดไปอีก คือ อรูปาวจรภูมิ ได้แก่สถานะของจิตที่ยังพอใจในความสุขหรือความสงบที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกชั้นหนึ่ง ได้แก่ความสุขหรือความสงบอันเกิดแต่สมาบัติ ที่มีสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ รวมทั้งสิ้นจึงได้เป็น ๓ ภูมิด้วยกัน. ถ้าจะจัดให้เป็นคู่ ๆ กัน ระหว่าง ภูมิ กับ ภพ ก็มีทางที่จะทำได้. ภูมิหมายถึงสถานะหรือระดับแห่งจิตใจของสัตว์นั้น ๆ , ส่วน “ภพ” หมายถึงโลกเป็นที่อยู่ที่เหมาะสมกับสัตว์ที่มีภูมิแห่งจิตใจเช่นนั้น ๆ . ฉะนั้น อาจจะจับคู่กันได้คือ กามาวจรภูมิ คู่กันกับ กามาวจรภพ, รูปาวจรภูมิ คู่กันกับ รูปาวจรภพ และ อรูปาวจรภูมิ คู่กันกับ อรูปาวจรภพ; และผู้สังเกตอาจจะเข้าใจได้เองว่า คำว่า ภูมิ หมายถึงสถานะของจิตที่เป็นอยู่อย่างไร; คำว่า ภพ หมายถึงที่อยู่ที่อาศัยของสัตว์ ซึ่งมีจิตต่าง ๆ กัน เป็น ๓ ภูมินั้น; จึงได้เป็น ๓ ภพ ๓ ภูมิ.
ภูมิทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า โลกียภูมิ เพราะว่าล้วนแต่ยังอยู่ในการข้องเกี่ยวกับโลก หรือยังตกอยู่ภายใต้วิสัยที่โลกจะครอบงำได้ตามชั้นตามลำดับ จึงนับเป็นวิสัยโลกทั้งนั้น : สัตว์ที่อยู่ในกามภพ ก็ถูกครอบงำด้วยรสของกาม มีจิตใจต่ำจนติดพันอยู่ในกาม. สัตว์ที่อยู่ในรูปภพ ก็มีจิตใจติดพันอยู่ในความสุขที่เกิดมาแต่ความสงบชนิดที่ยังหยาบ คือชนิดที่ได้จากสมาบัติอันมีรูปธรรมเป็นอารมณ์. ส่วน สัตว์ที่อยู่ในอรูปภพ ก็มีจิตที่พัวพันอยู่ในความสุขหรือความสงบที่ประณีตขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือความสงบอันเกิดจากสมาบัติที่มีสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์. โลกียภูมิ คือภูมิของสัตว์ทั่ว ๆ ไป แม้จะแตกต่างกันอย่างไร คือเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมในเบื้องบน หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรกในเบื้องต่ำก็ตาม ก็รวมอยู่ใน ๓ ภูมินี้.
คนเราคนหนึ่ง ๆ ในโลกนี้ อาจจะมีจิตตกอยู่ใน ๓ ภูมินี้ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่เป็นการเหลือวิสัย. แต่ว่าส่วนมากจะต้องตกอยู่ในกามาวจรภูมิเป็นธรรมดา คือจิตของมนุษย์เราโดยปรกตินั้น ตกต่ำอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่ากาม. แต่ในบางคราวบางโอกาสอาจจะออกมาได้จากอิทธิพลของกาม เพราะอาศัยการทำจิตให้ไปจดจ่ออยู่ที่ความสงบสุขอันเกิดจากสมาบัติที่มีรูปธรรมหรืออรูปธรรมเป็นอารมณ์ แล้วแต่สมาธิที่จะเจริญ; ฉะนั้นในบางคราว จิตของมนุษย์เราจึงอยู่ในลักษณะที่เป็นรูปาวจรภูมิ หรืออรูปาวจรภูมิก็มี. ถ้าสำหรับครั้งพุทธกาลคือยุคโบราณในอินเดียนับว่ามีมาก เพราะว่าผู้ที่ออกแสวงหาความสงบสุขชั้นรูปาวจรภูมิหรืออรูปาวจรภูมินั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเต็มไป ทั่ว ๆ ไปตามในป่า. สำหรับบัดนี้นั้นเชื่อว่ามีน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็กล่าวได้ว่าอยู่ในขอบเขตที่คนทั่ว ๆ ไปจะเข้าถึงได้อยู่นั่นเอง. ทั้งยังกล่าวได้อีกว่า เมื่อใดจิตของผู้ใดตั้งอยู่ในภูมิใด เมื่อนั้นโลกที่เขากำลังอาศัยอยู่นั้น ก็จะกลายเป็นภพชื่อนั้นไปทันที; เช่นใครคนหนึ่งในโลกนี้กำลังเป็นสุขอยู่ในรูปาวจรสมาบัติ. โลกนี้ก็จะกลายเป็นรูปาวจรภพสำหรับเขาไปทันที เพราะเขาไม่รู้สึกในสิ่งอื่นใดนอกจากรูปาวจรธรรม, โลกนี้ในขณะนั้น และสำหรับเขาผู้นั้นก็มีค่าเท่ากับรูปาวจรภพไป จนกว่าภูมิแห่งจิตของเขาจะเปลี่ยนเป็นอื่นไป.
สัตว์ที่ยังอยู่ในภูมิทั้ง ๓ ภูมินี้ ยังถอนตัวตนไม่ได้ ยังมีอัสสมิมานะเต็มที่ และไม่เคยมีความรู้เรื่องการถอนตัวตน. ถึงแม้จะได้รับความสุขความสงบชนิดที่เหมือนกับว่าเป็นก้อนหิน ก้อนดิน ท่อนไม้ไปแล้ว ก็ยังเต็มอยู่ด้วยความยึดถือตัวตน ยังอาศัยตัณหาต่าง ๆ ชนิด ตลอดถึงตัณหาชนิดที่ละเอียดที่สุด เช่นวิภวตัณหาเป็นต้น เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ หรือมีการประกอบกรรมต่าง ๆ ด้วยอำนาจของตัณหานั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าอยู่เหนือวิสัยโลก และจัดไว้เป็นโลกียภูมิเช่นกัน.
ส่วนโลกุตตรภูมินั้นตรงกันข้าม และไม่ได้เอาลักษณะของจิตทั้ง ๓ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วเป็นหลักเกณฑ์ แต่เอาความที่มีจิตอยู่สูงเหนือวิสัยโลก มองเห็นโลกโดยความเป็นของไม่มีตัวตน มีจิตอยู่เหนือความต้องการสิ่งใด ๆ ในโลก หรือในภพทั้งปวงดังกล่าวแล้ว. พวกที่ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมินี้ก็ยังแบ่งเป็นชั้น ๆ ได้เหมือนกันตามลำดับสูงต่ำ. ตามหลักของพุทธศาสนาแบ่งโลกุตตรภูมิออกเป็นมรรคผล ๔ ชั้นด้วยกัน ซึ่งเป็นคำที่ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินกันทั่ว ๆ ไปว่า ชั้นพระโสดาบัน ชั้นพระสกิทาคามี ชั้นพระอนาคามี และชั้นพระอรหันต์. ความเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ หมายถึงโลกุตตรภูมิในที่นี้. คำว่า “โลกุตตระ” แปลว่า “อยู่เหนือโลก” แต่ภาษาไทยเราเขียนแผลงจนอ่านไปได้เป็นคำอีกคำหนึ่งซึ่งฟังเขวได้ คำนั้นก็คือคำว่า “โลกอุดร” ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปใช้คำว่าโลกอุดร และต้องการจะไปโลกอุดร. แต่คำที่เป็นภาษาบาลีนั้น คือคำว่า โลกุตตระ. โลกุตตร = โลก + อุตตร. อุตตระ แปลว่า ยิ่ง หรือเหนือ. ฉะนั้น โลกุตตระ จึงแปลว่า ยิ่งไปกว่าโลก หรือเหนือไปกว่าโลก. ส่วนคำที่แผลงไปเป็นโลกอุดรนั้น อาจทำให้เข้าใจผิดว่าโลกทางทิศเหนือ คือโลกทางทิศอุดรไปก็ได้; นี่มันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นโลกไปเสียอีก ฉะนั้นต้องระวังให้ดี อย่าไปใช้คำว่าโลกอุดรอย่างที่ชาวบ้านเขาใช้จะดีกว่า; ที่ถูกควรจะใช้คำว่า โลกุตตระ ตามหลักของคำภาษาบาลี ซึ่งไม่มีทางที่จะหลงเข้าใจเป็นโลก แต่อาจเข้าใจได้ว่าเหนือโลก. นี่ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจไว้ด้วยเหมือนกัน.
คำว่า โลกุตตระ หรืออยู่เหนือโลกนี้ หมายถึงจิตใจ มิได้หมายถึงร่างกาย. ร่างกายนั้นจะอยู่ในโลกไหนภพไหน ที่สมควรกันก็ได้ เช่นอยู่ในโลกมนุษย์นี้ก็ได้ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ หรือจะเกิดในสวรรค์ชั้นเทวโลก พรหมโลกก็ได้, เพราะว่าโลกเหล่านี้เป็นโลกที่พอสมควร สำหรับเป็นที่ตั้งอาศัยของสัตว์ที่มีจิตอันตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิ. ส่วนโลกที่ต่ำไปกว่านั้น เช่นกำเนิดเดรัจฉานหรือนรกเหล่านี้ ไม่ได้เป็นภพที่สมควร. นี้เพื่อชี้ให้เข้าใจว่า ร่างกายจะอยู่ที่ไหนนั้นไม่สำคัญ แต่เอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์กันที่ตรงจิตใจ; ถ้าจิตใจอยู่เหนือการครอบงำของโลก ซึ่งหมายถึงการอยู่เหนือความครอบงำของกิเลสตัณหา อันเป็นเหตุให้เกี่ยวข้องในโลกทุก ๆ โลก ทุก ๆ ภพนั่นเอง ก็เรียกว่าผู้นั้นตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิตามชั้นตามส่วน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๔ ชั้นดังกล่าวแล้ว.
เมื่อโลกุตตรภูมิแบ่งออกเป็น ๔ ชั้นเช่นนี้ เราจะต้องรู้ความแตกต่างระหว่างชั้นนั้น ๆ เพื่อความเข้าใจดีขึ้น. เพื่อจะรู้ความแตกต่าง เราก็ต้องรู้จักสิ่งที่ทำให้เดความแตกต่างเป็น ๔ ชั้นเหล่านั้น ซึ่งได้แก่กิเลสต่าง ๆ ที่ท่านจำแนกไว้ สำหรับโลกุตตรภูมิชั้นนั้น ๆ จะพึงละให้ขาดไป. กิเลสในชั้นนี้ คือตัวกิเลสแท้ หรือตัวกิเลสที่ละเอียดเป็นกิเลสจริง ๆ ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่างด้วยกัน เรียกโดยทั่ว ๆ ไปว่า สังโยชน์. คำว่า สังโยชน์ นี้ สัง แปลว่า พร้อม; โยชนะ หรือ โยชน์ นั้น แปลว่า ผูกพัน; จึงแปลว่า ผูกพันเต็มที่อย่างพร้อมพรั่ง. กิเลสเครื่องผูกพัน ๑๐ อย่างนี้ ผูกพันคนทุกคน หรือสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดที่ติดอยู่ในโลก คนจึงตกอยู่ในวิสัยของโลก และเป็นโลกียภูมิ. ฉะนั้น ถ้าตัดเครื่องผูกพันเหล่านั้นออกไปเสียได้ จิตก็จะค่อย ๆ หลุดออกมาจากโลกตามลำดับ. เมื่อตัดได้หมด ก็เป็นอันว่าจิตหลุดออกมาสู่ความอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตรภูมิโดยสมบูรณ์. แท้ที่จริงกิเลสที่ผูกพันคนเราอยู่เป็นปรกติธรรมดานั่นเอง ที่เรียกว่า สังโยชน์ ในที่นี้; แต่เราไม่ศึกษา ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่กัน จึงไม่รู้จัก และเห็นเป็นของแปลกประหลาดไป. ถ้ามีอะไรมาทำให้เราสนใจ หรือศึกษากันมาแต่แรกเริ่มเดิมที จนรู้จักกันมาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว การศึกษาพระพุทธศาสนาจะเป็นของง่ายอย่างยิ่ง แต่โดยเหตุที่ไม่มีขนบธรรมเนียมให้ศึกษากันเช่นนั้น และไม่มีผู้ที่เอาใจใส่ในเรื่องเหล่านั้นด้วยตนเอง จึงไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่เต็มอักอยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม และเป็นเครื่องผูกพันตนเองให้ติดอยู่กับโลกหรือกับความทุกข์ตลอดเวลา. เมื่อเราศึกษาเรื่องสังโยชน์ ๑๐ ประการนี้ ก็เท่ากับศึกษาเรื่องตัวเราเอง ที่เกี่ยวกับตัวเราเองโดยตรง หากแต่ว่าเป็นชั้นลึก เป็นส่วนที่ลึก สมกับที่ท่านเรียกว่ากิเลสชั้นละเอียดเท่านั้น.
ในสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดที่ผูกพันเราทั้ง ๑๐ ประการนี้ ประการแรกที่สุดเรียกว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นว่ากายเป็นของตน; ได้แก่ความเข้าใจผิด สำคัญผิด ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าร่างกายนี้เป็นของตน อย่างที่เคยอธิบายมาแล้วในข้อที่ว่าด้วยอุปาทาน. ทุกคนมีความเข้าใจว่าเราเป็นเรา เหมือนอย่างคำสอนของ Descartes ที่ว่า “เราคิดได้ เรามีอยู่” หรือว่าตัวเราต้องมีอยู่ เพราะเราคิดได้อยู่ ดังนี้เป็นต้น. ความคิดว่า “ตัวเรา” มีอยู่นั่นแหละ คือความสำคัญผิดในที่นี้. แต่โดยเหตุที่คนเราทั่ว ๆ ไป ไม่รู้จักอะไรมากไปกว่าร่างกายหรือจิตที่เนื่องอยู่กับร่างกาย จึงเหมาเอาของ ๒ อย่างนี้เป็นตัวตน โดยมีความเข้าใจว่ากายพร้อมทั้งจิตนี้ เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นข้าพเจ้า; หรือถ้าหลงหนักขึ้นไปอีก ก็เอาร่างกายล้วน ๆ เป็นตัว เป็นตน เอาวัตถุล้วน ๆ เป็นตัวตน ถึงกับโกรธสิ่งที่ไม่มีชีวิต ถึงกับขว้างปา ทุบตีภาชนะสิ่งของได้. หรือเด็ก ๆ เซไปโดนเสา ก็ต้องเตะเสาต่อยเสาแก้แค้นให้ได้ อย่างนี้เป็นต้น. ความรู้สึกตามสัญชาตญาณพื้นฐาน คือสัญชาตญาณทูลฐานว่ามีตัวเรานี้เอง เป็นไปหนักแน่นมาก ถึงกับเอาอะไร ๆ เป็นตัวตนก็ได้ตามความรู้สึกของตน และเรียกว่า สักกายทิฏฐิ ในที่นี้.
ทั้งนี้ อาจเห็นได้สืบไปว่า ไม่ว่าใครย่อมมีความสำคัญว่าตัวตนประจำใจอยู่ทั้งนั้น เพราะเป็นมูลฐานที่จะทำให้ชีวิตมีอยู่เป็นอยู่ ทำให้ต่อสู้อันตราย ทำให้แสวงหาอาหาร หรือสืบพันธุ์เป็นต้น. แต่ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิในที่นี้ ประสงค์เอาชั้นหยาบ ๆ ที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวจัดในเบื้องต้นก็พอ : จัดเป็นกิเลสตัวแรก ที่ผู้ที่เริ่มรู้จักโลก หรือว่าจะข้ามขึ้นจากโลก จะต้องรู้จักกิเลสตัวแรกนี้, และจะต้องละให้ได้. กิเลสนี้เรียกชื่อเป็นบาลีว่า สักกายทิฏฐิ. คำ สักกายะ ถ้าแปลตามตัวหนังสือก็ว่า “กายของตน” และควรจะเข้าใจไว้เสียด้วยว่า คำว่า กาย ในที่นี้ รวมทั้งจิตส่วนพื้นฐานที่ต้องเนื่องกันอยู่กับกายนี้เป็นธรรมดาอีกด้วย. หากแต่ท่านเพ่งถึงกายเป็นส่วนใหญ่ เพราะสัตว์ทั่วไปรู้จักกาย ยิ่งกว่าใจ และยึดที่กาย รวม ๆ กันไป. ส่วนคำว่า ทิฏฐิ แปลว่า ทิฏฐิหรือความเห็น สักกายทิฏฐิจึงแปลว่า การเห็นว่ากายนี้ของตน. อีกอย่างหนึ่ง อันเป็นการจำเป็นที่เราจะต้องใช้คำบาลีในเรื่องบางประเภทเช่นคำว่า สักกายทิฏฐิในที่นี้; เพราะไม่อาจจะเอาคำไทยไปใช้แทนได้ เราจะต้องอดทนสักหน่อยในการที่ต้องจดหรือจำคำบาลี. เราควรจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านมิได้ทรงเอาเรื่องอย่างอื่นนอกลู่นอกทาง หรือนอกวงนอกขอบเขต มาให้เรา ศึกษา หรือ ละ กันเล่น หากแต่ท่านได้ทรงชี้ให้เห็น ให้ละสิ่งที่มีประจำอยู่แล้วในเราทุกคน, ให้มองเห็นแล้ว ให้ ละ เสีย. สักกายทิฏฐิ นี้ เป็นกิเลสข้อแรกที่สุด ที่ใคร ๆ จะต้องละเพื่อการเอาชนะโลก.
สังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดข้อที่ ๒ เรียกว่า วิจิกิจฉา. วิจิกิจฉาในที่นี้ หมายถึงความสงสัย, คือความรู้มีไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้สงสัยลังเล ไม่กล้าหาญ ไม่แน่ใจ. ความลังเลสงสัยในที่นี้ ส่วนใหญ่ที่สุด ประสงค์เอาความสงสัยลังเลในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ หรือถ้าลดลงมาก็คือ ความสงสัยในความดีความงามความยุติธรรมอะไรต่าง ๆ . ที่ว่าส่วนใหญ่หมายถึงความลังเลในเรื่องความพ้นทุกข์นั้น หมายถึงลังเลเพราะไม่รู้ สงสัยก็เพราะไม่รู้แจ้ง และลังเลสงสัยว่าเรื่องนี้มันยังไงกันแน่ เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในการที่จะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ว่ามันเป็นของที่เหมาะสมแก่ตนหรือไม่, ตนจะทำได้หรือไม่, มันดีกว่าสิ่งอื่นจริงหรือไม่ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น. ส่วนเรื่องที่รองลงมาก็เป็นการลังเลในเรื่องความดี ว่าความดีนี้ยังไงกันแน่ ? ทำดีได้ดีจริงหรือเปล่า ? ดังนี้เป็นต้น. บางทีก็ไปเข้าข้างฝ่ายกิเลส ถือเอาการได้แล้วเป็นดี; บางทีก็ไปเข้าข้างฝ่ายธรรมะ ถือเอาความถูกต้อง ความจริงนั้นเป็นความดีก็มี. แม้ที่สุดแต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ตนจะเข้ายึดถือเป็นเครื่องตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ก็ลังเลไม่แน่นอน.
ความลังเลนี้ยังขยายไปถึงลังเลในศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือในวิชาการต่าง ๆ ที่ตนถือ หรือตนรับปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา. อย่างในพุทธศาสนาเรา ก็ลังเลในพระพุทธเจ้า ลังเลในพระธรรม ลังเลในพระสงฆ์. การกล่าวอย่างนี้เป็นการกล่าวรวมหมด : ลังเลในพระพุทธเจ้า คือลังเลว่าจะไม่เป็นบุคคลที่ตรัสรู้ถูกต้องจริง หรือเป็นบุคคลที่หลุดพ้นจากความทุกข์จริง; ลังเลในพระธรรม คือลังเลในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ว่าจะไม่อาจนำไปสู่ความดับทุกข์จริงหรือจะไม่จริงตามนั้น; ลังเลในพระสงฆ์ คือลังเลในผู้ปฏิบัติว่าผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์นั้นคงไม่ปฏิบัติได้จริง หรือไม่อาจมีบุคคลชนิดนั้นในโลกนี้ เพราะเป็นสิ่งเหลือวิสัย เป็นต้น. ความลังเลที่อาจถือได้ว่าครอบคลุมความลังเลทั้งปวง ก็คือความลังเลในธรรม ได้แก่ความลังเลในเรื่องความพ้นทุกข์ ลังเลในความดี ลังเลในแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แม้ที่สุดวิชาความรู้ที่ตนมีอยู่หรือกำลังใช้ปฏิบัติอยู่ก็มีความลังเล.
มูลเหตุของความลังเลก็คือความไม่รู้ หรืออวิชชา ซึ่งก่อให้เกิดกิเลสตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง แล้วกิเลสตัณหานั้นก็คอยดึงกระชากไปทางนั้นอยู่เรื่อย จิตจึงเยชินแต่ในการไหลไปทางต่ำ เหมือนกับปลาที่เคยชินอยู่แต่ในน้ำ ไม่รู้เรื่องบก; พอพูดถึงเรื่องบก มันก็ไม่เชื่อ ถ้าเชื่อก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เป็นการลังเลอยู่เสมอไป. คนเราที่จมอยู่ในโลกหรือในกามก็เหมือนกัน เคยชินกับกามเหมือนปลาอยู่ในน้ำ เมื่อพูดถึงเรื่องอยู่เหนือกาม เหนือโลก ก็เข้าใจไม่ได้ ส่วนใดที่เข้าใจได้บ้างก็ลังเล. ถ้าเราจะใช้โวหารที่เราเคยใช้ในการศึกษาเล่าเรียนกันโดยมาก ก็กล่าวได้ว่าความรู้สึกฝ่ายต่ำนั้นมีอยู่เป็นพื้นเป็นวิสัย ส่วนความรู้สึกฝ่ายสูงนั้นเพิ่งจะก่อรูป. การทะเลาะกันระหว่างความรู้สึกฝ่ายสูงกับความรู้สึกฝ่ายต่ำคือการลังเล และถ้ากำลังใจไม่เพียงพอ ในที่สุดความรู้สึกฝ่ายต่ำมักจะชนะ เราจะต้องเข้าใจต่อสิ่งที่เรียกว่า วิจิกิจฉา คือความลังเลในความดี ซึ่งเป็นของมีประจำอยู่ในคนทุกคนมาตั้งแต่เกิด และสำหรับบางคนที่ได้รับการอบรมมาผิด ๆ อาจจะแรงมากขึ้นทุก ๆ ปี ที่อายุมากขึ้น ๆ ว่ามันมีอยู่ในคนทุกคนอย่างไร โดนเฉพาะของเราเอง เราจะต้องรู้ให้แจ่มแจ้ง คือรู้จักมันให้ดี ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะไม่เห็นโทษ และไม่สามารถจะเกลียดมัน. ถ้าจะละมัน จะต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความลังเลซึ่งมีแทรกแซงอยู่ในการงานในชีวิตประจำวัน จนเป็นผู้ไม่อาจจะยึดมั่นในความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม เป็นต้น ว่ามันมีอยู่อย่างไร. ยิ่งพิจารณาให้เห็น ก็จะยิ่งเกลียดมันมากขึ้นเองตามลำดับ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละมันได้ง่ายขึ้น. นี้คือกิเลสเป็นเครื่องผูกพันสัตว์ให้ติดอยู่กับความทุกข์หรือโลก เป็นข้อที่ ๒.
ทีนี้มาถึงสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียด ข้อที่ ๓ เรียกเป็นบาลีว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่าการจับฉวยศีลและวัตร ผิดความมุ่งหมายที่ถูกต้อง. เรื่องนี้ได้อธิบายไปมากแล้ว เมื่ออธิบายเรื่อง สีลัพพตุปาทาน ในการบรรยายอันว่าด้วยอุปาทาน ๔ ประการ. เมื่อกล่าวโดยใจความ สีลัพพตปรามาส ก็คือการติดแน่นยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจผิด ในสิ่งที่ตนเห็นว่าดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด. ความเข้าใจผิดในการปฏิบัติเช่นนี้ ส่วนมากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับลัทธิศาสนา แต่อาจกินความรวมไปถึงเรื่องที่ไม่ใช่ศาสนาก็ได้ แล้วยึดมั่นไว้ด้วยความเข้าใจผิด คงปฏิบัติสิ่งนั้น ๆ อยู่จนบัดนี้ด้วยความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่นเข้าใจผิดในเรื่องทางไสยศาสตร์ และการปฏิบัติอย่างไสยศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งไม่อาจเลิกถอนได้ นี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสโดยไม่ต้องสงสัย. แม้เป็นเรื่องของศาสนา เช่นการปฏิบัติตามวิธีที่สอนอยู่ในศาสนา แต่ถ้าปฏิบัติไปด้วยความเข้าใจผิด ว่าจะเกิดความขลัง เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา แล้วก็คุ้มครองเราได้ อย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็น สีลัพพตปรามาส อยู่นั่นเอง. ตัวอย่างเช่นการสมาทานศีลหรือประพฤติวัตรต่าง ๆ ที่แท้ก็เพื่อจะกำจัดกิเลส แต่ถ้าเข้าใจไปว่าจะทำให้เกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เพราะศีลหรือวัตรปฏิบัตินั้น ๆ เช่น จะเป็นคนมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีการเหาะเหินได้ มีอำนาจพิเศษต่าง ๆ หรือให้เกิดความขลังมาก่อน แล้วใช้ความขลังนั้นตัดกิเลสได้ อย่างนี้เป็นต้น ความยึดถืออย่างนั้นก็ยังเป็นสีลัพพตปรามาสอยู่นั่นเอง. แม้ว่าตนจะกำลังปฏิบัติครบถ้วนตามสิกขาบทที่ระบุอยู่ในวินัยทั้งหมดก็ตาม. ข้อนี้หมายความว่าการปฏิบัติอย่างเดียวกันเหมือนกันแท้ แต่ถ้ามีอำนาจความเข้าใจผิด ยึดมั่นถือมั่นในทำนองไร้เหตุผล หรือกลายเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ย่อมเป็นสีลัพพตปรามาสไปทั้งสิ้น.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้คนที่เป็นมหาเปรียญสูง ๆ ก็ยังถือเอาความหมายของคำว่า สีลัพพตปรามาสนี้แคบเกินไป โดยถือเอาแต่ตามที่อรรถกถาบางแห่งกล่าวไว้ ว่าได้แก่การประพฤติปฏิบัตินอกรีตนอกรอยของพุทธศาสนา เช่นของพวกเดียรถีย์ต่าง ๆ เช่นการนอนบนหนาม การถือปฏิบัติอย่างวัว อย่างสุนัข โดยเข้าใจว่าจะเกิดการหมดกิเลส อย่างนี้เป็นต้น. ถ้าถือเอาใจความแคบ ๆ เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นว่า คนทั่วไปก็ไม่มีใครที่มีสีลัพพตปรามาสเลย. เพราะตามปรกติก็ไม่มีใครประพฤติอย่างสุนัขอย่างวัวอยู่แล้ว. แต่ถ้าจะพิจารณาดูให้ชัดเจนละเอียดทั่วถึงดีแล้ว จะเห็นได้ว่าความมุ่งหมายอันแท้จริงของท่าน มุ่งหมายถึงการปฏิบัติยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจของความเข้าใจผิด หรือไร้เหตุผลทุกชนิดทีเดียว. แม้การปฏิบัติในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง ถ้าทำไปด้วยความเข้าใจผิด ยึดมั่นเป็นเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องสีลัพพตปรามาส ด้วยกันทั้งดุ้น แม้ที่สุดแต่ภิกษุสมาทานศีลปฏิบัติสิกขาบท ด้วยความคิดว่าจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ อย่างนี้ก็ไม่ต้องสงสัยเลย ย่อมเป็นสีลัพพตปรามาสไปพร้อมกับความเศร้าหมองของพรหมจรรย์ เพราะว่าความมุ่งหมายของพระปาติโมกข์นั้นเพื่อกำจัดกิเลสในส่วนหยาบ ๆ จากทางกายวาจา เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิและปัญญาเป็นลำดับ ๆ ไปต่างหาก. หาใช่มุ่งหมายเพื่อไปเกิดในสวรรค์เป็นเทวดาไม่. เมื่อภิกษุมีความมุ่งหมายจะไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ แล้วประพฤติศีลเคร่งครัด ก็ได้ชื่อว่าทำศีลของตนนั้นให้สกปรกเศร้าหมอง ไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเข้าใจผิดด้วยอำนาจของทิฏฐิที่ผิด.
เราจะเห็นได้ว่า ในการกระทำทางพุทธศาสนา จะเป็นในเรื่องให้ทานก็ดี ในเรื่องรักษาศีลก็ดี เรื่องเจริญสมาธิก็ดี มีอยู่ฝ่ายหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ซึ่งทำไปด้วยความยึดมั่นสำคัญผิดในความมุ่งหมายของการกระทำเหล่านั้น จะต้องเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องปฏิบัติชนิดที่เป็นของนอกศาสนาหรือของศาสนาอื่น หรือของไสยาศาสตร์โดยตรง. ขอให้เข้าใจว่าแม้การปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่ในวงพุทธบริษัทเรา แต่ถ้าทำไปด้วยความยึดมั่นสำคัญผิดเพราะกิเลสตัณหาครอบงำ มีความหวังในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์เป็นต้นแล้ว ก็กลายเป็นสีลัพพตปรามาสสิ้น. แม้ที่สุดแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กลางบ้านที่เราทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไป เช่นว่าจะต้องเอาข้าวสุกและสำรับคาวหวานชุดหนึ่งมาตั้ง ทำนองเซ่นวิญญาณพระพุทธเจ้า เป็นการถวายข้าวพระอย่างนี้ เขาเชื่อกันว่าวิญญาณของพระพุทธเจ้าจะได้ฉัน จึงมีการถวายข้าวพระอย่างนี้ ในการสวดมนต์ทำบุญบ้านหรืออะไรก็ตาม. การทำเช่นนี้ถ้าทำด้วยความรู้สึกหรือเข้าใจเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นสีลัพพตปรามาสเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องสงสัย แม้จะเป็นการทำอยู่ในหมู่พุทธบริษัท และทำต่อพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าก็ตาม. เรื่องของสีลัพพตปรามาสนั้น นับว่าดาษดื่นอยู่ทั่ว ๆ ไปแม้ในวงพุทธบริษัทเอง เป็นการทำไปอย่างงมงายและไร้เหตุผล ทำให้ข้อปฏิบัติอันนั้น หรือระเบียบอันนั้น ที่ดีที่งามอยู่ก่อน ต้องสกปรกไปด้วยความโง่เขลา ความบ้าหลัง ของคนเหล่านั้นเอง. นี่แหละคือความหมายของคำว่า สีลัพพตปรามาส อันเป็นกิเลสข้อที่ ๓ ในที่นี้. เราจะเห็นได้ว่ากิเลสข้อนี้ก็มีมูลมาจากความขลาดความกลัวอย่างงมงาย. ตามธรรมชาติทั่ว ๆ ไป คนเราชอบถือขลังถือศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิม เพราะการสอนกันมาผิด อบรมกันมาผิดจึงเป็นสิ่งที่มีกันอยู่ทุกคนอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้. อย่าต้องระบุรายละเอียดให้มากไปเลย มันจะเป็นเรื่องกระทบกระเทือน แต่ว่าขอให้ท่านทั้งหลายเอาหลักเกณฑ์อันนี้ไปสอบไล่ตัวเองดู; เรื่องของเราเป็นเรื่องที่เราจะต้องสะสางเอง ฉะนั้นเราควรสะสางเรื่องของเราก่อน มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสีลัพพตปรามาสนี้แล้ว ก็พยายามละเสีย.
เมื่อรวมกิเลสหรือสังโยชน์ ๓ อย่างในตอนแรก คือสักกายทิฏฐิที่กล่าวแล้ว วิจิกิจฉาที่กล่าวแล้ว และสีลัพพตปรามาสที่กำลังกล่าวอยู่นี้เข้าด้วยกัน ถ้าละได้ขาดไปจริง ๆ ก็เรียกว่าตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิอันดับที่หนึ่ง คือเป็นพระโสดาบัน. การละกิเลส ๓ ประการนี้ได้เด็ดขาด ควรจะถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ใหญ่สูงต่ำ มากน้อยเพียงไร ขอให้ท่านทั้งหลายคิดดูด้วยความไม่ประมาท. ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว ไม่ใช่ของเล็กน้อยเลย หรือถ้าจะมองกันอีกทางหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่ากิเลส ๓ อย่างนี้ ถ้าว่ากันโดยโวหารอย่างหยาบ ๆ อีกทางหนึ่ง ก็คือของป่าเถื่อนที่สุด ที่คนป่าเถื่อนจะพึงมี; เพราะฉะนั้นจึงจัดไว้ในฐานะเป็นของสำหรับคนป่าเถื่อนที่ไร้ความเจริญ. คนที่เรียกว่ามีการศึกษาดีหรือเจริญแล้วไม่ควรจะมีของ ๓ อย่างนี้. ถ้ายังมีอยู่ในวงนักศึกษาของสมัยนี้ ก็ต้องถือว่าการศึกษาของสมัยนี้ยังป่าเถื่อนอยู่. พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า ‘อารยะ’ กับเขาด้วยเหมือนกัน เช่นคำว่า อารยชน หรือ อริยเจ้า, ซึ่งมีไม่น้อย. คำว่า อริยเจ้าของพระพุทธเจ้านั้น อันดับแรกที่สุดท่านหมายถึงผู้ละกิเลส ๓ ประการนี้ได้ จึงจะมาเป็นอริยชนหรืออริยเจ้าได้. ถ้ายังไม่ละได้ก็ยังเป็นคนโง่เขลา เป็นคนพาลคนหลง, หรือเรียกอย่างดีที่สุด ก็เรียกว่า ปุถุชน แปลว่า คนที่มีฝ้าปิดบังดวงตาหนาทึบ, ปุถุ แปลว่า หนา. ปุถุชน จึงแปลว่า คนหนา, หนาด้วยเครื่องปิดบังดวงตาแห่งปัญญา. เมื่อบุคคลใดมาละกิเลส ๓ ประการนี้ได้แล้ว ย่อมจะมีจิตใจที่เริ่มอยู่เหนือความผูกพันของโลก เพราะว่ากิเลส ๓ ประการนี้ เป็นเครื่องผูกพันจิตให้ติดอยู่กับโลก เป็นความโง่เขลาที่ปิดบังและผูกพันใจสัตว์ให้ติดอยู่กับโลก ครั้นเมื่อละได้ ๓ ชั้น ก็เหมือนกับเพิกถอนสิ่งที่ผูกพันหรือปิดบังเสียได้ ๓ อย่าง จึงหลุดลอยขึ้นอยู่เหนือโลกในระดับหนึ่งแล้ว เรียกว่าพระอริยเจ้าในอันดับแรก จัดไว้เป็นโลกุตตรภูมิอันดับแรก เรียกบุคคลผู้นั้นว่า โสดาบัน คือผู้แรกถึงกระแสแห่งนิพพาน.
อันดับถัดไปเป็นโลกุตตรภูมิอันดับที่ ๒ นั้น ท่านหมายถึงบุคคลที่ละสังโยชน์เครื่องผูกพัน ๓ อย่างนั้นสิ้นไปแล้ว และยังสมารถทำโลภะ โทสะ โมหะ บางส่วนให้จางไปได้อีกระดับหนึ่งด้วย จนถึงกับมีจิตใจสูง มีความผูกพันอาลัยอยู่ในกามโลกหรือกามภพแต่เล็กน้อยที่สุด ถึงกับว่ายังจะเวียนมาสู่โลกนี้เพียงหนเดียวครั้งเดียว ซึ่งเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า พระสกิทาคามี ในเมื่อพวกแรกได้ชื่อว่าพระโสดาบัน. ในตอนนี้ควรทำความเข้าใจคำว่า พระโสดาบันนั้นเสียก่อน จะช่วยให้เข้าใจคำว่า สกิทาคามี ได้ง่ายขึ้น. คำว่า โสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแส. โสตา แปลว่า กระแส, อาปันนะ แปลว่า ถึงแล้ว. โสดาบัน จึงแปลว่า ถึงกระแส. ถ้าถามว่า กระแสแห่งอะไร ก็ตอบว่ากระแสแห่งนิพพานนั่นเอง. พระโสดาบันจึงเป็นผู้ถึงเพียงกระแสของนิพพาน ยังไม่ถึงตัวนิพพาน. กระแสนี้คือเกลียวที่ไหลไปสู่นิพพาน. กระแสของนิพพาน ย่อมมีความลาดเอียงไปทางนิพพาน เหมือนอย่างลำแม่น้ำที่มีความลาดเอียงไปทางทะเล. ถ้าจิตตกไปในกระแสนี้แล้ว แน่นอนย่อมไปถึงนิพพาน. การถึงกระแสนี้ หมายถึงการบรรลุนิพพานแน่ ๆ ในอนาคต แต่อาจยังอีกหลายเวลาก็ได้ เอาแต่ที่ความแน่เป็นใหญ่, เรียกว่าโสดาบัน แปลว่าถึงกระแสแล้ว. ส่วนพวกที่ ๒ ที่เรียกว่า สกิทาคามี นั้น ใกล้ชิดนิพพานยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก จนถึงกับมีอาลัยเหลืออยู่น้อยในโลกนี้ อย่างจะกลับมาสู่โลกนี้อีกก็เพียงหนเดียว เพราะละกิเลส ๓ อย่างนั้นได้ด้วย มีโลภะ โทสะ โมหะ เบาบางมากขึ้นไปกว่าด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหมด โลภะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง.
อันดับต่อไป เป็นอันดับที่ ๓ เรียกว่า พระอนาคามี พระอนาคามีนั้น นอกจากจะละกิเลสขั้นต้น ๆ ได้อย่างพระสกิทาคามีแล้ว ยังละกิเลสหรือสังโยชน์ข้อที่ ๔ ที่ ๕ ได้อีกด้วย. สังโยชน์ข้อที่ ๔ เรียกว่า กามราคะ. ข้อที่ ๕ เรียกว่า ปฏิฆะ. กามราคะนั้น หมายถึงความย้อมจิตอยู่ในกาม. พระโสดาบันและพระสกิทาคามีละไม่หมด ยังมีความย้อมจิตในกามเหลืออยู่ ทั้ง ๆ ที่ท่านละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะล้างเอาความย้อมจิตในกามนั้นออกหมดได้ ยังเหลืออยู่เป็นบางส่วน. แต่พอมาถึงอันดับที่ ๓ คือพระอนาคามีนี้ ย่อมล้างออกหมดได้ไม่มีเหลือ. ส่วนกิเลสที่เรียกว่า ปฏิฆะ นั้น หมายถึงความรู้สึกโกรธ หรือความขัดแค้นใจ. พระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามีล้างออกเป็นส่วนมาก เหลืออยู่เป็นเพียงความหงุดหงิด หรือความขัดแค้นอยู่ภายใน; ส่วนพระอนาคามีนั้นเอาออกได้หมด จึงเรียกว่าเป็นผู้ละกามราคะ และปฏิฆะได้.
สำหรับสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดข้อที่ ๔ ที่เรียกว่า กามราคะ ความย้อมจิตในกามนั้นได้อธิบายไว้อย่างมากแล้ว ในข้อที่ว่าด้วยกามุปาทาน ขอให้นึกถึงคำอธิบายในวันนั้นด้วย. ในที่นี้ขอให้ทำความเข้าใจว่ากิเลสชื่อนี้ เป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในใจสัตว์อย่างเหนียวแน่น ราวกะว่าแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวจนยากที่จะเข้าใจได้ ยากที่จะล้างออกได้สำหรับคนธรรมดา, สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชั้นไหน ประเภทไหน ลักษณะอย่างไรก็ตาม เรียกว่า กาม ในที่นี้. ความที่จิตยังย้อมติดอยู่ด้วยความพอใจในกามเช่นนั้น เรียกว่า กามราคะ ได้ทุกวิถีทาง.
ส่วนสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดข้อที่ ๕ ที่เรียกว่า ปฏิฆะ นั้น เป็นความกระทบกระทั่งแห่งจิตฝ่ายที่รู้สึกไม่พอใจ. ถ้าพอใจก็จัดเป็นกามราคะ ไม่พอใจจึงเป็นปฏิฆะ. ความรู้สึกส่วนมากของคนเรามีอยู่อย่างนี้. ปฏิฆะอาจจะเกิดได้แม้ในกรณีเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ และถ้ามากไปกว่านั้นก็ไม่พอใจ แม้แต่สิ่งที่ตัวทำเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเอง ตัวเป็นผู้ทำเองคิดเองเหล่านี้เป็นต้น. ส่วนที่มีอาการรุนแรงถึงกับโกรธเกลียดพยาบาทคนอื่นนั้น เป็นปฏิฆะที่รุนแรงและหยาบเกินไป พระอริยชั้นต้น ๆ กว่านี้ก็พอละได้ตามสมควร, แต่ที่เหลืออยู่สำหรับให้พระอริยเจ้าชั้นที่ ๓ ละนี้ หมายถึงความกระทบกระทั่งแห่งจิตที่เป็นชั้นละเอียด จนบางทีก็ไม่ปรากฏอะไรออกมาข้างนอก เป็นความขุ่นอยู่ข้างใน ดูสีหน้าไม่รู้ว่าโกรธ แต่ก็มีความแค้นอยู่ข้างใน อย่างนี้เป็นต้น. ได้แก่ความหงุดหงิดรำคาญขัดใจในคน หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามปรารถนา. คนธรรมดานั้นเพียงแต่เป็นหวัดน้ำมูกไหลเรื่อยไม่รู้จักหยุด ก็ถึงกับโกรธจมูกของตัวดังนี้ก็ยังมี. อาตมาเคยเห็นด้วยตนเอง มีคนหนึ่งถึงกับเอากำปั้นของตัวฟาดเข้าที่จมูกของตัว. นี้เป็นเครื่องเทียบถึงความมีปฏิฆะได้ แม้ในสิ่งที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ และแม้ที่เกี่ยวกับตัวเองล้วน. ถ้าหากว่าผู้ใดละปฏิฆะทุกชนิดได้เด็ดขาดสิ้นเชิง ท่านทั้งหลายลองคำนวณดูว่า จะอยู่ในฐานะที่น่าบูชาสักเพียงไร หรือเป็นบุคคลพิเศษสักเพียงไร. นี้เป็นกิเลสข้อที่ ๕.
กิเลสหรือสังโยชน์ทั้ง ๕ ข้อที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านจัดไว้ว่าเป็นภาคแรกหรือภาคต่ำ ที่มีอยู่ ๕ อย่าง นับตั้งแต่สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามราคะ, จนถึงปฏิฆะ เป็น ๕ อย่างด้วยกัน. พระอริยเจ้าประเภทที่ ๓ ละได้หมด เพราะไม่มีกามราคะเหลืออยู่เลย พระอริยเจ้าประเภทนี้จึงไม่เวียนมาสู่กามภพอีกต่อไป เป็นเหตุให้ได้นามว่า อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มีการกลับมา, มีแต่จะรุดหน้าสูง-รุดหน้าสูงขึ้นไปเป็นพระอรหันต์ และนิพพานในภพอื่นที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกาม, ได้แก่รูปาวจรภพอันดับปลาย ๆ . ส่วนกิเลสที่ยังเหลืออีก ๕ อย่างข้างปลายนั้น พระอริยบุคคลประเภทที่ ๔ คือพระอรหันต์จะละได้หมด.
กิเลสหรือสังโยชน์ถัดไปอีก ๕ อย่างภาคสูงนั้น คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา. สำหรับ รูปราคะ อันเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๖ นั้น หมายถึงความรักความพอใจ ในความสุขที่เกิดมาแต่ในรูปสมาบัติ เหมือนที่เป็นแก่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในรูปาวจรภูมิเป็นประจำ. พระอริยเจ้าชั้นต้น ๆ ๓ จำพวก ไม่สามารถจะละความสุขความพอใจที่เกิดแต่รูปฌาน หรือรูปสมาบัติได้. พระอริยเจ้าบางประเภทในขั้นต้น ๆ เหล่านั้น บางพวกเกิดในรูปาวจรภพก็ยังมี. พระอริยเจ้าทั้ง ๓ ชั้นข้างต้นที่เกิดที่เกิดอยู่ในมนุษย์โลกนี้ บางท่านอาจยังพอใจความสุข อันเกิดแต่รูปฌานอย่างถอนไม่ขึ้นก็มี; แต่จะต้องถอนได้ในเมื่อเลื่อนมาถึงพระอริยเจ้าชั้นสุดท้าย คือพระอรหันต์, ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความสงบสุขเยือกเย็นอันเกิดมาแต่รูปฌานนั้น ก็มีรสชาติที่จับอกจับใจ ถึงกับจะพอเรียกได้ว่าเป็นพระนิพพานชิมลองดูก่อน เป็นพระนิพพานล่วงหน้า มีรสอย่างเดียวหรือทำนองเดียวกับรสของพระนิพพานที่แท้จริง หากแต่ว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องที่เป็นไปในระหว่างที่กิเลสสงบระงับเพราะอำนาจของฌานไม่ใช่กิเลสสูญหายเหือดแห้งไป. ครั้นหมดกำลังของฌาน กิเลสก็กลับปรากฏอีก. ขณะที่กิเลสสงบระงับอยู่ด้วยอำนาจของกำลังฌานไม่รบกวนจิต จิตนี้ก็ว่างโปร่งเป็นอิสระ มีรสชาติคล้ายกับรสเกิดแต่นิพพานแท้จริงเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นที่ตั้งของความหลงใหลได้ง่าย และยากที่จะละได้สำหรับพระอริยเจ้าชั้นต้น ๆ ๓ พวกนั้น ถึงกับต้องมาละได้เด็ดขาดในพระอริยเจ้าชั้นสุดท้าย.
กิเลสชื่อรูปราคะนี้สำหรับคนธรรมดาเรา ถ้าจะเทียบเคียงให้เกิดความเข้าใจได้บ้างก็พอจะเปรียบเทียบได้ เช่นในบางขณะบางโอกาสเราไปสู่ที่ร่มรื่นเยือกเย็นสบายดี อากาศดีมีวิวสวยอยู่รอบด้าน ความเย็นใจพอใจอยู่ในขณะนั้นเป็นรสเป็นชาติอย่างยิ่ง ยากที่ใคร ๆ จะเลิกละสภาพเช่นนั้นในขณะนั้นเสียได้ง่าย ๆ จึงอยากจะนั่งชมวิวอยู่อย่างนั้นต่อไป ไม่อยากลุกไปทำอะไรอย่างอื่น. ความพอใจชนิดนี้ไม่เกี่ยวกับกาม คือไม่มีเรื่องของกามมาเกี่ยวข้องเลย เป็นความสงบเงียบตามธรรมชาติฝ่ายรูปธรรมที่บริสุทธิ์ และจัดเป็นความสงบเย็นชนิดหนึ่งเหมือนกัน. ความพอใจในวัตถุศิลปะชนิดที่ไม่เกี่ยวกับกาม, การติดใจในต้นไม้ดัด เครื่องลายครามเป็นต้น ก็พอจะสงเคราะห์เข้าได้ในกิเลสตัวนี้ในกรณีที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อกาม หรือเพื่อเงิน แต่เป็นไปโดยวิญญาณแห่งศิลปินแท้. แต่สำหรับรูปฌานที่ให้เกิดความสงบนั้น มันยิ่งกว่านั้นมาก ฉะนั้นจึงเป็นที่ผูกพันหลงใหลมากกว่าความสุขที่เราไปนั่งเล่นสงบ ๆ ตามธรรมดาที่เราเป็นกันได้ง่าย ๆ โดยมาก. ที่เทียบเคียงนี้ก็เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นของที่ไม่เล็กน้อยเลย.
ทีนี้ สังโยชน์หรือกิเลสอันละเอียดข้อที่ ๗ ที่เรียกว่า อรูปราคะ นั้น หมายถึงความพอใจติดใจ ในความสุขที่เกิดมาแต่อรูปสมาบัติ. เรื่องต่าง ๆ คล้าย ๆ กับข้อที่ ๖ ผิดกันแต่ว่าชั้นนี้ละเอียดประณีตสุขุมลงไปอีกชั้นหนึ่ง. การเจริญฌานโดยมีสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดนั้น ย่อมได้ความสงบที่เนื่องอยู่กับรูปนั้น ๆ เพราะฉะนั้นจึงหยาบกว่าการเจริญฌานอันกำหนดเอาสิ่งที่ไม่มีรูป เช่นอากาศหรือความว่างเปล่าเป็นต้นมาเป็นอารมณ์. การเอาความว่าง เอาวิญญาณธาตุ เอาความไม่มีอะไร เอาความไม่มีความรู้สึกตัวทั้ง ๔ อย่างนี้ แต่ละอย่าง ๆ มาเป็นอารมณ์นั้น ได้ผลเป็นความสงบเงียบยิ่งไปกว่า และเรียกว่าอรูปฌาน. เพราะความสงบที่เกิดจากอรูปฌาน ประณีตกว่า สุขุมกว่า ลึกซึ้งกว่า ถ้าใครเข้าถึงก็จะติดใจกว่าความสงบที่เป็นรูปฌาน ท่านจึงจัดไว้ในลำดับหลังจากรูปฌาน และเรียกว่า อรูปฌาน. ถ้ามีความพอใจแน่นแฟ้นหลงใหลในความสุขชนิดนี้ก็เรียกว่า อรูปราคะ.


..หมายเหตุ ส่วนท้ายหายไป เพราะต้นฉบับการดาดมืดทึบ..
ไฟล์แนบ
images (16).jpg
images (16).jpg (13.42 KiB) เข้าดูแล้ว 1758 ครั้ง
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

..http://www.oknation.net/blog/Aug-sarapo ... 2/entry-11

..คู่มือมนุษย์(ฉบับสมบูรณ์)/ท่านพุทธทาส : บทที่ ๙/พุทธศาสนา กับคนทั่วไป

ท่านที่จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลาย,
อาตมาได้บรรยายหลักแห่งพุทธศาสนามาโดยลำดับ ๆ ว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ถึงสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าอะไรเป็นอะไร; สิ่งทั้งปวงนี้มีสภาพตามที่เป็นจริง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา; แต่สัตว์ทั้งหลายหลงรักหลงยึดถือสิ่งทั้งปวงเพราะอำนาจของอุปาทาน; ในพุทธศาสนามีวิธีปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อจะตัดอุปาทานนั้นเสีย; อุปาทานนั้นมีที่ลงเกาะ หรือ จับยึด ที่ขันธ์ทั้งห้า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; เมื่อรู้จักขันธ์ห้าตามที่เป็นจริง ก็สามารถจะเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ยึดถือด้วยอุปาทาน; และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า “เป็นอยู่ชอบ” คือให้วันคืนเต็มไปด้วยปีติและปราโมทย์อันเกิดมาจากการกระทำที่ดี ที่งาม ที่ถูกต้อง อยู่เป็นประจำ แล้วเกิดความระงับแห่งจิต เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อย ๆ ไป จนกระทั่งเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุตติ และนิพพาน ได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม; หรือถ้าเราจะรีบเร่งทำให้เร็วกว่านั้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ นับตั้งแต่มีศีลบริสุทธิ์ มีจิตบริสุทธิ์ มีทิฏฐิบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดสังโยชน์ต่าง ๆ ได้ เรียกว่าการบรรลุมรรคผล. ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นการแสดงแนวสังเขปทั้งหมดของพระพุทธศาสนาแล้วตั้งแต่ต้นจนปลาย ให้เห็นว่าหลักพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างไร พร้อมกันกับหลักปฏิบัติไปในตัว. สำหรับโอกาสสุดท้ายที่เหลืออยู่อีก ๒ ครั้งในวันนี้ อาตมาเห็นว่าควรจะได้ชี้ให้เห็นแนวคิดหรือข้อสังเกตที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไป นับตั้งแต่ว่าอะไรเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่าศาสนาเป็นต้น เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา ในแง่ทั่ว ๆ ไป อย่างทั่วถึง เป็นการป้องกันการเข้าใจผิดพลาดได้อีกชั้นหนึ่ง.

เมื่อถามขึ้นว่า อะไรเป็นมูลเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าศาสนาแล้ว นักศาสนาทั้งหลายมีคำตอบที่ยุติกันว่า ศาสนาทั้งหมดของโลกทุก ๆ ศาสนา นับตั้งแต่ชั้นต่ำที่สุดจนถึงระดับที่สูงที่สุดก็ตาม ถือกันว่ามีมูลดั้งเดิมร่วมกันมาจากความกลัว; กล่าวสั้น ๆ ก็ว่า ความกลัวเป็นมูลเหตุให้เกิดศาสนา. แต่นักศาสนาเหล่านั้นเพ่งเล็งถึงความกลัวอย่างต่ำ ๆ ของคนในสมัยที่ยังไม่เจริญ คือมักจะระบุความกลัวปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่ดุร้ายหรือลึกลับ ว่าเป็นมูลเหตุของศาสนา. การกล่าวเช่นนั้นก็ถูกต้องเหมือนกัน; แต่สิ่งที่เรียกว่าความกลัวนั้นยังมีอยู่อีกหลายชั้น ซึ่งเราจะได้พิจารณากันต่อไป.
การที่เราจะเข้าใจว่าศาสนามีมูลมาจากความกลัว ได้อย่างไรนั้น เราจะต้องพิจารณาถึงตัวกิริยาอาการที่เรียกว่าศาสนากันเสียชั้นหนึ่งก่อน. ตัวศาสนาแท้ ๆ ก็คือตัวการดิ้นรนเพื่อให้รอดจากอันตรายในทางจิต. เมื่อกล่าวอย่างนี้ ก็เป็นการครอบคลุมไปทุก ๆ ศาสนา. แม้จะกล่าวอย่างที่อาตมาเคยกล่าวมาแล้ว ว่าพุทธศาสนา คือวิชาและหลักปฏิบัติ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ยังหมายความว่ารู้เพื่อให้เอาตัวรอดจากอันตรายได้อยู่นั่นเอง. ฉะนั้นถ้าจะกล่าวให้กินความกว้างขวางคลุมศาสนาทุกศาสนาทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่ชั้นต่ำที่สุดในสมัยโบราณซึ่งมนุษย์ยังไม่มีความเจริญ ก็พอจะกล่าวรวบยอดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ศาสนาคือตัวการดิ้นรนกระทำเพื่อให้รอดพ้นจากอันตราย หรือสิ่งที่ตนถือว่าอันตรายในทางจิตนั่นเอง. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราย่อมกล่าวได้ว่ามันมีมูลมาจากสัญชาตญาณแห่งความกลัวนั่นเอง. อันตรายในทางภายนอก เช่นสัตว์ร้ายหรือข้าศึกศัตรูเหล่านี้ คนเราก็มีความกลัวและดิ้นรนต่อสู้หรือหลบหนีตามสมควรแก่โอกาส. นั่นเรียกว่าความกลัวและการหลบหนีอันตรายทางกายหรือภายนอก. ทีนี้ เมื่อเกิดมีสิ่งที่น่ากลัวหรืออันตรายที่เรียกว่าภายในหรือทางจิตขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งชั้นแรกที่สุดก็ได้แก่ความรู้จักคิดนึกถึงสิ่งที่มีอำนาจเหนือหรือยิ่งไปกว่าธรรมดา แม้จะเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เช่นฟ้าผ่าฟ้าร้องหรือสิ่งที่น่ากลัวอื่น ๆ ทำนองนั้น ความคิดเกิดขึ้นว่านี้เป็นของนอกเหนือไปกว่าธรรมดา คือจะวิ่งหนีหรือต่อสู้เหมือนทำกับสัตว์ร้ายหรือข้าศึกนั้นไม่มีหนทาง เพราะฉะนั้น จึงเกิดความคิดใหม่ มีระเบียบวิธีอันใหม่ สำหรับจะต่อสู้หรือหลบหลีกสิ่งที่น่ากลัวเหล่านั้น. ข้อนี้ก็คือเกิดวิธีปฏิบัติสำหรับเอาตัวรอดจากสิ่งที่กลัวในทางจิตขึ้นนั่นเอง และพอจะถือได้ว่าเป็นมูลเหตุอันแรกแห่งการเกิดขึ้นของสิ่งที่เราเรียกกันว่า ศาสนา.
ถ้าเราเปิดดูหนังสือทุกเล่มที่เขาเขียนกันในสมัยปัจจุบัน อันว่าด้วยมูลเหตุของการเกิดแห่งศาสนาแล้ว ก็จะเห็นว่าเขียนไว้เหมือน ๆ กันหมด คือไปยุติลงที่คนป่าสมัยหินกลัวฟ้าผ่าฟ้าร้อง กลัวความมืด กลัวพายุ กลัวสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เหนือความเข้าใจและความต้านทานของคนป่าเหล่านั้น แล้วก็ถือเอาความกลัวนั้น ๆ ว่าเป็นมูลของการเกิดขึ้นแห่งศาสนา. วิธีที่จะต่อสู้หรือหลบหลีกอันตรายของคนเหล่านั้น ก็คือการแสดงอาการยอมแพ้ หมอบราบ อ้อนวอน บูชา แล้วแต่คนที่ฉลาดที่สุดในสมัยนั้นเห็นว่าจะต้องทำอย่างไร. ครูบาอาจารย์ของคนสมัยนั้นได้สอนให้หมอบราบ หรือให้บูชาโดยวิธีต่าง ๆ ตามที่ตนนึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีเหล่านั้นจะชอบใจ. นี่นับว่าสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา เกิดขึ้นมาในโลกด้วยอำนาจของความกลัว และการปฏิบัติไปตามความกลัว. ต่อมาความกลัวนั้นได้เขยิบสูงขึ้นมา ตามความเจริญของวิชาความรู้ของมนุษย์ : ความกลัวเลื่อนขึ้นมาจากความกลัวภัยธรรมชาติเช่นนั้น มาสู่ความกลัวชนิดอื่นที่แยบคายหรือสูงขึ้นไปกว่า. ศาสนาที่มีการบูชาสิ่งที่ตนกลัว เช่นภัยธรรมชาติ กระทั่งผีสางเทวดาเหล่านั้น จึงกลายเป็นของขบขันในที่สุด. มีคนเขียนภาพการ์ตูนล้อ เป็นคนหมอบกราบฟ้าคะนองฟ้าผ่าอยู่ แล้วเขียนสุนัขหรือแมวซึ่งไม่เคยทำอาการอย่างนั้นเลย เรื่องเลยกลายเป็นว่าการหมอบราบคาบแก้วต่อผีสางเทวดานั้น ทำเป็นแต่คนเท่านั้น สุนัขและแมวเป็นต้น ทำไม่เป็น. นี่กลายเป็นว่าเป็นของขบขันไป หรือเป็นของน่าหัวเราะ น่าเวทนาสงสารไป.
ความกลัวของคนชั้นหลัง ๆ เลื่อนสูงขึ้นมาถึงความกลัวความทุกข์ชนิดที่อำนาจทางวัตถุช่วยเหลือไม่ได้ เช่นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือแม้แต่ความทุกข์ที่เป็นไปตามปรกติ เช่นความหม่นหมอง เร่าร้อน มืดมัว เพราะอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งแม้จะมีอำนาจ มีเงินเท่าไร ก็ไม่สามารถจะระงับอาการอันโหดร้ายของความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความแผดเผาของราคะ โทสะ โมหะได้. ประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่เจริญด้วยนักคิด นักค้นคว้า ผู้มีสติปัญญา จึงได้ก้าวหน้าจากคอยไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น มากลายเป็นค้นหาวิธีที่จะเอาชนะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือเอาชนะราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นให้ได้. นี่นับว่าเป็นบ่อเกิดของศาสนาที่สูงขึ้นไปในทางปัญญา. ถ้าจะกล่าวให้สูงขึ้นกว่านั้นขึ้นไปอีกก็กล่าวได้ว่า เพราะมนุษย์กลัวว่าจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้รับ จึงได้พยายามค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ในที่สุดก็พบวิชาที่จะทำให้เอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือชนะกิเลสได้; ความกลัวที่ว่าจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับก็หายไป.
สำหรับพระพุทธศาสนา ก็อาจกล่าวได้ว่ามีมูลมาจากความกลัวเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความกลัวอย่างโง่เขลา เช่นกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลัวผี กลัวเทวดา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าของปรากฏการณ์ของธรรมชาติ หรือว่ากลัวเทวดาที่มีอำนาจบันดาลสิ่งต่าง ๆ ในท้องฟ้าเหล่านี้เป็นต้นก็หามิได้ แต่หมายถึงกลัวสิ่งที่ควรกลัวยิ่งไปกว่านั้น คือความบีบคั้นแผดเผาหุ้มห่อ ของราคะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดมาจากอิทธิพลของ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในที่สุดก็เกิดบุคคลประเภทที่เราเรียกกันว่าพระพุทธเจ้าขึ้น เป็นผู้พบวิธีที่จะเอาชนะสิ่งที่กลัวได้เต็มตามความประสงค์ และเกิดวิธีปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ชนิดที่เรียกว่า พุทธศาสนา. พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้, เพราะ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ หรือผู้ตื่น คือไม่หลับ เป็นผู้เบิกบานคือไม่หุบ หรือไม่มืด แต่รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จึงสามารถปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง ไม่เปิดโอกาสให้สิ่งทั้งปวงเกิดเป็นปัญหา หรือเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลยึดถือ จนกระทั่งทำให้เกิดความทุกข์แก่ผู้ที่เข้าไปยึดถืออีกต่อไป; เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัยวิชาความรู้ โดยเฉพาะ เพื่อเป็นเครื่องทำลายความทุกข์ หรือต้นเหตุของความทุกข์.
การที่จะทำพิธีรีตองเพื่อบูชาบวงสรวงอ้อนวอนนั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา คือไม่ถูกรับเข้ามาในพระพุทธศาสนา กลายเป็นสิ่งที่น่าขบขันหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้. พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง. การบูชาอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การทำพิธีรดน้ำ อาบน้ำ สระเกล้า ดำหัวเหล่านี้ ล้วนแต่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่อาจจะเป็นที่พึ่งได้. แม้ที่สุดแต่เทวดาที่ยึดถือกันว่าเป็นผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ เป็นเจ้าของดวงดาวในท้องฟ้า ดาวนั้นดาวนี้ มีเทวดาองค์นั้นองค์นี้ มีอิทธิพลบังคับมนุษย์อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธสิ้นเชิง โดยบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า จนถึงกับมีคำกล่าวในพระพุทธศาสนาว่า “ความรู้ความฉลาดความสามารถที่ทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละเป็นตัวฤกษ์ที่ดีอยู่ในตัวเองแล้ว ดวงดาวทั้งหลายในท้องฟ้าจะทำอะไรได้. ประโยชน์ที่ควรปรารถนาจะผ่านพ้นคนโง่ ๆ ที่มัวแต่นั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น”๑ ดังนี้เป็นต้น; หรือว่าถ้าน้ำศักดิ์สิทธิ์จะทำคนให้หมดบาป หมดทุกข์ได้แล้ว พวกปลา พวกเต่า ปู หอย ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือสระศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาป หมดทุกข์ไปได้ด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน; หรือถ้าหากว่าความพ้นทุกข์จะสำเร็จได้ด้วยการบูชาอ้อนวอนเอา ๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครที่มีความทุกข์เลย เพราะว่าใคร ๆ ก็บูชาอ้อนวอนเป็น ไม่ใช่ของทำยาก; โดยเหตุที่ยังมีคนที่มีความทุกข์อยู่ ทั้งที่ทำการบูชาหรือทำพิธีรีตองต่าง ๆ อยู่ จึงถือว่ายังไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ จะต้องมาพิจารณาโดยละเอียดลออ ให้รู้ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วประพฤติต่อสิ่งนั้นให้ถูกให้ตรงตามความจริง จึงจะสามารถเอาตัวรอดได้. นี้เป็นขอบเขตของพระพุทธศาสนาที่เราควรจะเข้าใจไว้ ว่า เราไม่เกี่ยวข้องลงไปถึงการกราบไหว้บูชาสิ่งที่น่าอัศจรรย์ต่าง ๆ เหล่านั้น และเราไม่เชื่อไม่รับนับถือพิธีรีตอง เช่นการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นต้น; เราไม่หวังพึ่งปัจจัยภายนอก เช่นเทวดาบนสวรรค์ หรืออำนาจดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นต้น แต่เราจะกระทำเอาด้วยสติปัญญา ความสามารถของเราเอง. นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนานั้นอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นวิถีทางที่จะทำให้รอดพ้นจากอันตรายในทางใจด้วยเหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนกับศาสนาบางศาสนา ซึ่งมีพิธีหรือมีหลักการเป็นอย่างอื่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น. พุทธศาสนามีวิธีแต่ที่จะใช้ปัญญาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ ให้ถูกต้องตามกฎที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น. เราไม่ประสงค์จะคาดคะเนหรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เผื่อว่าจะเป็นอย่างนี้ : เราต้องการจะทำลงไปตรง ๆ ตามที่มองเห็นอยู่ด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่น. แม้จะมีคนอื่นมาบอกให้ทีแรก ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเชื่อ เราจะต้องและพิจารณาจนเห็นจริงว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามกระทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง. นี้เป็นความหมายของพุทธศาสนาที่แตกต่างกันอยู่ในระหว่างศาสนาทั้งหลาย นับจำเดิมตั้งแต่แรกเริ่มมีขึ้นมาในโลก จนกระทั่งถึงมีพระพุทธศาสนา.


๑. อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา
นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจตา
สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ๆ นั้น หรือโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาก็ตาม ย่อมมีอยู่หลายแง่หลายเหลี่ยม. มันเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ที่เราดูเหลี่ยมหนึ่ง มันก็ไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่ง มันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง เราอาจดูผิดเหลี่ยม คือไม่ถูกเหลี่ยมที่ควรดูก็ได้. เหมือนอย่างว่าจะสังเกตดูภูเขาลูกหนึ่ง ไม่ว่าลูกไหน ดูไปทางทิศต่าง ๆ สมมติว่ามี ๘ ทิศ เราจะเห็นว่าภูเขาลูกนั้นมีรูปร่างต่างกัน. แม้พุทธศาสนาก็เหมือนกัน : ถ้าจะดูด้วยสายตาของบุคคลที่มีแง่คิดหรือความคิดหรือหลักสำหรับคิด ตามที่ได้เคยอบรมมาแต่กาลก่อน แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหน ก็จะเห็นพุทธศาสนาในลักษณะที่แตกต่างกันได้. คนเราย่อมเชื่อความคิดความเห็นของตัว เพราะฉะนั้น ความจริงหรือที่เรียกว่า สัจจะ สำหรับบุคคลหนึ่ง ๆ นั้น มันอยู่ตรงที่เพียงว่า เขาเข้าใจและมองเห็นได้เท่าไร เท่านั้นเอง ไม่มากไปกว่านั้น; เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” ของคนเรา จึงไม่เหมือนกัน เพราะว่าคนเราเข้าถึงตัวจริงของสิ่งซึ่งเป็นปัญหานั้นได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือด้วยท่าทางลักษณะที่ต่างกัน และสติปัญญาที่ต่างกัน. สิ่งใดที่อยู่นอกเหนือสติปัญญา ความรู้ ความเข้าใจของตน, ตนยังเข้าใจไม่ได้, คนนั้นก็ไม่อาจจะเอามาเป็นความจริงของเขาได้. ถ้าเขาจะพลอยว่าจริงไปตามผู้อื่น เขาก็รู้สึกอยู่แก่ใจว่าไม่เป็นความจริง. ความจริงของคน ๆ หนึ่งนั้น จะมีอยู่เท่าที่เขามีความเข้าใจถึงที่สุดในขณะนั้นเพียงเท่าไรเท่านั้น; “ความจริง” ของคนในระดับนี้จะเดินได้เสมอ คือเดินไปเรื่อย ๆ ตามสติปัญญาความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย. คนเราในปัจจุบันนี้มีการศึกษามาต่าง ๆ กัน และมีหรือสร้างหลักสำหรับศึกษาพิจารณา สำหรับจะเชื่อนั้นต่าง ๆ กัน ฉะนั้น ถ้าเขาเอาสติปัญญาที่ต่าง ๆ กันนั้น มาดูพุทธศาสนา มาจับพุทธศาสนาขึ้นดูว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะเกิดความคิดเห็นแตกแยกแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไร ๆ ให้ครบทุกอย่างเหมือนกัน; ยิ่งโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “พุทธศาสนา” ในสมัยหลังนี้ด้วยแล้ว มันมีอะไรเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกมากจนน่าเวียนหัว.
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาโดยใจความ ก็คือวิธีปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไรตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้เท่านั้น; แต่ทีนี้ ในคัมภีร์ทางศาสนานั้น มีอะไร ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ทุกคราวที่มีโอกาสที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มขึ้นได้ด้วยกันทุกศาสนา, พระไตรปิฎกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน จึงมีเรื่องอะไรมากไปกว่านั้น ถึงแม้มีข้อความที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องดับกิเลสดับทุกข์เป็นมรรคผลนิพพานโดยตรงก็ยังมี เนื่องจากมีผู้มาทูลถามปัญหาอย่างโลก ๆ ในชั้นต้น ๆ ต่ำ ๆ พระองค์ก็ได้ทรงให้คำตอบที่เหมาะสมไปด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องที่เป็นขั้นโลก ๆ เช่นคิหิปฏิบัติและศีลธรรมสากลทั่ว ๆ ไปนั้น จึงมีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย. แม้คำที่ผู้อื่นที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์กล่าวกันมาแต่กาลก่อน หรือขณะนั้นในยุคนั้นก็ดี เป็นสาวกภาษิตก็ดี เป็นฤษีภาษิต เทวดาภาษิตก็ดี ถ้าไม่ขัดกับหลักศีลธรรมสากล คือเป็นไปเพื่อละความชั่วทำความดีแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงอนุมัติว่าเป็น “คำกล่าวที่ดี” ด้วย คือเป็นธรรมะด้วยเหมือนกัน เลยถูกบรรจุไว้ในพระไตรปิฏกด้วยในอันดับต่อมา. ข้อความที่คนชั้นหลังเพิ่มเติมปนเปเข้าไปตามความเห็นว่าจำเป็นในยุคนั้น ๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้น หรือกลัวบาปรักบุญมากขึ้น และมากขึ้น เกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดเมาบุญอย่างนี้ก็มีมาก ซึ่งมีเพิ่มเข้าในพระคัมภีร์ทั้งในพระบาลีและอรรถกถา.
ครั้นตกมาถึงขั้นนี้ แม้แต่พิธีรีตองต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกันกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วย. พิธีรีตองต่าง ๆ ก็เกิดเพิ่มขึ้นอย่างที่เรียกว่าน่าสมเพช เช่นการจัดสำรับคาวหวานทำนองเซ่นวิญญาณพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าถวายข้าวพระอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะมีไม่ได้ในหลักของพุทธศาสนา. การที่จะเซ่นวิญญาณของพระอรหันต์ให้บริโภคอาหารคาวหวาน ผลหมากรากไม้ หรืออะไรทำนองนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้, แต่พวกที่เป็นพุทธบริษัทบางพวกก็ได้พยายามจะเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และก็ได้ถือว่า นี่เป็นพระพุทธศาสนากันอยู่อย่างเคร่งครัดในคนบางหมู่บางเหล่า.
พิธีรีตองต่าง ๆ ทำนองนั้น เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมาย จนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไปเลย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการบวชนาค จะต้องมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัด ทั้งที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา เป็นคนเกลียดวัดยิ่งกว่าเดิมไปก็มี. นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งที่ไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลทั้งนั้น ได้มีมาได้เกิดขึ้น เพราะว่าถ้าเป็นการบวชครั้งพระพุทธเจ้า ก็หมายความว่าบุคคลนั้นได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว จะปลีกตัวจากบ้านจากเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ มีโอกาสเหมาะเมื่อไรท่านก็บวชให้เป็นพระองค์หนึ่ง โดยไม่พบเห็นบิดามารดาญาติโยมอะไรเลยตลอดชีวิตก็ยังมี. แม้บางรายจะกลับมาเยี่ยมเยียนบิดามารดาบ้างก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสม แต่ก็มีน้อยเหลือเกิน เพราะเป็นธรรมเนียมของนักบวชครั้งโบราณจะไม่มาเยี่ยมบ้านเป็นอันขาด. นักบวชบางชนิดบางนิกายก็ยังคงมีอยู่กระทั่งทุกวันนี้ ที่ว่าบวชแล้วจะมาบ้านไม่ได้เป็นอันขาดไม่ว่าในกรณีใด ๆ . การมาบ้านถือว่าเท่ากับทำลายการเป็นพระของตัวหมด จึงไม่มาบ้านจนตลอดชีวิต แม้บิดามารดาจะเจ็บจะป่วยจะตายอะไรก็ไม่มีทางทราบ. แต่ในพุทธศาสนายังมีระเบียบวินัยว่ามาได้ในเมื่อมีเหตุผลสมควร ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชที่ต่อหน้าบิดามารดาแล้วก็ฉลองกันเป็นการใหญ่ แล้วไม่กี่วันก็สึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมอย่างนี้เป็นต้น. แม้เป็นเช่นนี้เราก็ยังเรียกการทำขวัญนาคและการทำพิธีต่าง ๆ ตลอดถึงการฉลองและอะไร ๆ เหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนา แล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จะหมดเปลืองทรัพย์ของตน หรือแรงงานประเทศชาติ เท่าไรก็ไม่ว่า. “พุทธศาสนา” โดยทำนองนี้เกิดขึ้นใหม่ ๆ เกิดเป็นพุทธศาสนาแบบใหม่ ๆ อย่างนี้มีมากมาย แทบจะทั่วไปทุกแห่ง. ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนอย่างไรนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมืดมิดหมดสิ้นไป เกิดเป็นสิ่งที่มีความมุ่งหมายอย่างอื่นไปใหม่ เช่นพิธีบวชนี้ก็กลายเป็นเรื่องสำหรับเพียงแต่แก้หน้าเด็กหนุ่มคนนั้นที่เขาจะหาว่าเป็นคนดิบ หาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้น ตลอดถึงเป็นโอกาสที่จะชุมนุมแขกเหรื่อ ในบางถิ่นบางแห่งกลายเป็นที่หรือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่จะมีผู้นำมาช่วย เป็นการรุ่มรวยกันเสียคราวหนึ่งอย่างนี้ก็มี ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกกันว่าพุทธศาสนา. ถ้าใครไปตำหนิติเตียนเข้า ก็จะถูกหาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักพุทธศาสนา.
ในเรื่องต่าง ๆ อย่างอื่น ๆ แทบทุกเรื่อง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน, ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งเช่นเรื่องกฐิน; ของเดิมไม่มีความมุ่งหมายและวิธีการอย่างที่คนสมัยทำกันอยู่. กฐินนั้นพระพุทธองค์ทรงมีความมุ่งหมายจะให้พระภิกษุทำจีวรใช้เองเป็นด้วยกันทุกรูป และได้พร้อมเพรียงกันทำจีวรใช้เองด้วยมือของตัวเองในเวลาอันรวดเร็ว. ถ้าผ้าที่ช่วยกันทำนั้นมีผืนเดียวก็มอบให้องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าอาวาสหรือสมภาร แต่เป็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งสงฆ์เห็นว่ามีคุณสมบัติในตัวสมควรจะใช้สอย หรือขาดแคลนผ้าจะใช้สอยให้เป็นผู้ใช้สอยจีวรผืนนั้นแทนในนามสงฆ์ทั้งหมด; มีความมุ่งหมายว่าจะให้พระทุกรูปหมดความถือเนื้อถือตัว; จะเป็นพระเถระ จะเป็นพระหนุ่ม หรือจะเป็นสมภารเจ้าวัด หรือจะเป็นผู้มีศักดิ์มีเกียรติ์อะไรก็ตาม ต้องลดตัวเองกลายมาเป็นกุลีกันไปหมดในวันนั้น เพื่อจะมาระดมกันทำการกะผ้า ตัดผ้า เนาผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า ผ่าฟืน ต้มน้ำ ต้มแก่นมืทำสีย้อมผ้าและอะไร ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะทำให้จีวรนั้นสำเร็จได้ในวันเดียวนั้น. มันเป็นการรวบรวมเอาเศษผ้าจากกองขยะมูลฝอยหรือทางใดทางหนึ่งมาปะติดปะต่อกันเข้า หรือเอาเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ช่วยกันสะสมไว้ในระยะเวลาที่ทรงอนุญาตมาทำจีวรใช้. นี่เป็นการแก้กิเลสตัณหา ที่เป็นการถือตัวถือตน ที่ไม่เป็นความพร้อมเพรียง ที่เป็นความโง่เง่าช่วยตนเองไม่ได้ เช่นเย็บจีวรใช้เองไม่เป็นอย่างนี้เป็นต้น. พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายให้เรียกสิ่งที่เรียกว่า กฐิน เป็นอย่างนั้น คือไม่ต้องเกี่ยวกับฆราวาสเลยก็ได้. ไม่เกี่ยวกับฆราวาส หมายความว่าไม่ต้องเอาไปจากฆราวาสก็ได้. แต่เดี๋ยวนี้กฐินกลายเป็นเรื่องมีไว้สำหรับประกอบพิธีหรูหราเอิกเกริกเฮฮาสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่ได้รับผลสมความมุ่งหมายอันแท้จริง แต่กลับใช้เวลามาก เปลืองมาก ยุ่งยากมาก กระทั่งกลายเป็นเวลาสำหรับสำมะเลเทเมา คือกินเหล้ากินปลากันสนุกสนานไปก็มี เหล่านี้เป็นต้น.
พุทธศาสนา “เนื้องอก” ทำนองนี้ มีขึ้นใหม่ ๆ มากมายหลายสิบหลายร้อยอย่าง โดยไม่ต้องระบุชื่อ เพราะมากจนระบุไม่ไหว แต่อาตมาอยากจะให้ชื่อว่าพุทธศาสนาเนื้องอก คือเป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่งซึ่งงอกขึ้น ๆ แต่ก็ยังได้ชื่อว่าพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง เป็นการงอกออกมาปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อย ๆ ลับเลือนไป ด้วยเหตุฉะนี้แหละ สิ่งที่เราเรียกกันว่าพุทธศาสนา ๆ จึงมีเพิ่มขึ้นมากมายหลายประเภทจากตัวแท้ของพุทธศาสนาที่มีอยู่เดิม. ลักษณะอาการเช่นนี้เป็นที่เชื่อได้ว่ามีกันอยู่ทุกศาสนา จะเป็นศาสนาคริสตัง หรือเป็นศาสนาอิสลามอันเคร่งครัดของพระโมฮำหมัด หรือศาสนาอื่น ๆ ก็ตาม ย่อมถูกสาวกสาวิกาในยุคหลัง ๆ นี้ ทำให้เกิดเนื้องอกดังที่ว่านี้ขึ้นตามมากตามน้อย. แต่สำหรับพุทธศาสนาเรานั้น เรารู้ดีว่ามีอะไรบ้าง เพราะเกี่ยวข้องอยู่ทุกวัน จึงอาจนำมากล่าวให้เป็นเครื่องสังเกต.
ควรตั้งข้อสังเกตไว้ ว่าสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้น มีความหมายที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกว้างขวางยุ่งเหยิงซับซ้อนเหลือประมาณ ในสมัยหลังนี้กิดเป็นนิกายใหญ่ ๆ และนิกายย่อย ๆ อีกตั้ง ๒๐-๓๐ นิกาย ที่กลายเป็นพุทธศาสนาอย่างตันตระ เนื่องกับกามารมณ์ไปก็มี : จำเป็นที่เราจะต้องสนใจค้นคว้าแยกแยะให้รู้จักตัวพุทธศาสนาเดิมแท้ไว้เสมอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การที่ไม่หลงใหลงมงายยึดถือเอาเปลือกที่หุ้มภายนอก ไม่ติดแน่นในพิธีรีตองต่าง ๆ จนเป็นสีลัพพตปรามาสยิ่งขึ้น แต่จะยึดเอาการทำกายวาจาให้บริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งของจิตอันบริสุทธิ์ มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไรที่ถูกต้อง แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น. อย่าได้เข้าใจไปว่าถ้าเขาว่าพุทธศาสนาแล้ว ก้พุทธศาสนา. เนื้องอกนั้น ได้งอกออกมาแล้วตั้งแต่หลังจากวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วด้วยเหมือนกัน และงอกเรื่อย ๆ มา กระจายไปทางทิศเหนือทิศใต้ จนกระทั่งบัดนี้ มีเนื้องอกก้อนโตอย่างมากมาย. เราจะไปอ้างเอา “พุทธศาสนาเช่นนั้น” มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้. หรือคนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนา และกล่าวหาว่ามีอยู่อย่างน่าบัดสี น่าละอายเช่นนั้นก็ไม่ได้เหมือนกัน ไม่เป็นการยุติธรรม เพราะว่าสิ่งนั้นไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้จริงดั้งเดิม แต่เป็นพุทธศาสนาเนื้องอก. พวกเราที่จะช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลายก็ตาม หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองโดยเฉพาะก็ตาม จะต้องรู้จักจับฉวยให้ถูกตัวพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นพุทธศาสนาเนื้องอกดังที่กล่าวแล้ว.
ยิ่งกว่านั้น ยังมีแง่หรือนัยอันละเอียด ที่เราควรจะตั้งข้อสังเกตให้ละเอียดลออยิ่งขึ้นไปอีก. ข้อนี้คือ แม้ว่าพุทธศาสนาตัวแท้ หรือคำสอนที่เรียกได้ว่าเป็นของเดิม ๆ ที่เราสงเคราะห์เรียกกันว่าพระไตรปิฎกนี้ ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกใจความแท้ของพุทธศาสนาก็ได้. อาตมาอยากจะชี้ระบุให้เห็นบางอย่างบางประการเท่าที่เห็นว่าจำเป็น คือหลักธรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนานั้นมีเหลี่ยมคูต่าง ๆ ที่เมื่อมองดูกันในเหลี่ยมไหนแล้วก็จะได้รูปร่างหรือลักษณะในเหลี่ยมนั้น.
เช่นถ้ามองดูด้วยสายตาของบุคคลที่เป็นนักศีลธรรม สนใจแต่ในด้านศีลธรรม หรือมีความรู้แต่ในเรื่องศีลธรรม ก็จะเห็นว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งศีลธรรม(morals) ล้วน คือเต็มไปด้วยบทบทบัญญัติที่เป็นศีลธรรมที่ดีงาม เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ดีชั่ว ความซื่อตรง ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี ความเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่าง ๆ อีกมากมายหลายอย่างหลายประการ ที่ถือกันว่าเป็นศีลธรรมที่ดี ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฎก. นี่เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศีลธรรม. แม้แต่ชาวต่างประเทศ ก็มองดูกันในส่วนนี้อยู่มาก หรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก.
ทีนี้ พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสูงขึ้นไปในฐานะที่เป็นสัจจธรรม (Truth) คือกล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับ นอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาจะเห็นได้ ส่วนนี้ก็ได้แก่ความรู้เรื่องสุญญตา เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเรื่องการเปิดเผยขึ้นว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะที่เป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ทุกคนควรจะรู้. นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสัจจธรรม.
ทีนี้อีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นระเบียบปฏิบัติได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ซึ่งเมื่อบุคคลปฏิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้ จัดเป็นตัวการปฏิบัติ นี่เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา, อันจะพึงปฏิบัติเพื่อผล คือโลกุตตรธรรม หรืออมฤตธรรม เป็นวิถีทางปฏิบัติที่จะเอาตัวรอดโดยตรง ไม่ใช่เป็นแต่ความสัจจ์ความจริงสำหรับรู้อย่างเดียว.
พร้อมกันนั้นเอง เรายังมีพุทธศาสนาในเหลี่ยมอื่น ในลักษณะที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่นคัมภีร์ไตรปิฎกภาคท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงและสนใจแก่นักศึกษาทางจิต แม้แห่งยุคปัจจุบัน. ข้อความเหล่านั้น จะเป็นของกล่าวทีหลังหรือพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เอง นั่นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่จำต้องวินิจฉัยในที่นี้ แต่พึงเข้าใจว่ามีรวมอยู่ในหมวดที่เรียกว่า อภิธรรมปิฎกแห่งพระไตรปิฎกนั้นด้วย เป็นความรู้ทางจิตวิทยาชนิดที่จะอวดได้ ว่าแยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบัน.
และถ้าจะมองไปอีกทางหนึ่ง พุทธศาสนายังมีความรู้ซึ่งอยู่ ในฐานะที่จัดเป็นปรัชญาและวิทยาศาสตร์ อีกด้วย. สำหรับปรัชญานั้น อาตมาจำกัดความแต่เพียงว่า คือสิ่งที่ยังเห็นแจ้งชัดด้วยการพิสูจน์ และทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลระบอบหนึ่ง; อย่างนี้เรียกว่าเป็นปรัชญา (Philosophy). แต่ถ้าเป็นส่วนที่อาจเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้แต่ที่อาจเห็นชัดด้วย “ตาใน” คือญาณจักษุก็ตาม ก็เรียกว่าวิทยาศาสตร์ได้. ความรู้อันลึกซึ้งเช่นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้นนั้น ไม่ต้องสงสัย ย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม, แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ไปทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว. แม้เรื่องอย่างเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเรื่องสุญญตานี้ก็เหมือนกัน อย่างดีที่สุดจะเป็นได้ก็เป็นเพียงปรัชญาสำหรับคำนึงคำนวณของคนทั่วไป ไม่อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้. แต่ถ้าสำหรับพระอรหันต์แล้ว เรื่องเหล่านี้กลายเป็นวิทยาศาสตร์ไปทันที เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยใจของท่านเอง ไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล. เราจึงมองเห็นกันอยู่เป็น ๒ ทรรศนะ คือว่า หลักพระพุทธศาสนาบางอย่างนั้น เป็นปรัชญาสำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย. แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ยังมีหลักพระพุทธศาสนาบางส่วนบางประการที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยส่วนเดียว ที่บุคคลสมัยนี้จะพิสูจน์ให้ชัดแจ้งด้วยสติปัญญา หรือด้วยวิธีการจับฉวยเอาความจริงตามหลักของวิทยาศาสตร์แห่งยุคปัจจุบันได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น. ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษาค้นคว้าแล้ว จะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง. ฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาบางส่วน จึงตั้งอยู่ในฐานะเป็นวิทยาศาสตร์โดยตรง.
ถ้าจะมองไปให้กว้าง ๆ ตามความนิยมของสมัยนี้ สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพุทธศาสนาหลายอย่างหลายข้อ ที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมทั้งทางกายและทางจิต. คำสั่งสอนหลายอย่างหลายข้อตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และจะมีคำสอนอีกมาก ที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยเฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย. โดยเหตุนี้แหละ จึงมีเหลี่ยมคูต่าง ๆ ในหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ที่เราจะมองได้ในฐานะที่เป็นศีลธรรมก็มี เป็นสัจจธรรมก็มี เป็นโมกขธรรมก็มี เป็นวัฒนธรรมก็มี เป็นวิทยาศาสตร์ก็มี เป็นปรัชญาก็มี เป็นจิตวิทยาก็มี และยิ่งกว่านั้น ส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกอภิธรรมปิฎกบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้น.
แต่อย่างไรก็ตาม อาตมาอยากจะขอยืนยันว่า เหลี่ยมซึ่งเราจะต้องสนใจที่สุดนั้น ก็คือเหลี่ยมแห่งพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง. พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนานั้น หมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่าง ๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้. การประพฤติกระทำในลักษณะเช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็น ตัวศาสนาแท้ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงให้นามจำกัดไว้ว่า “พุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนา”. ๑ ถ้าจะกล่าวถึงพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจจธรรมหรืออมฤตธรรม ก็ดูจะสูงไป ฟังแล้วตกใจสำหรับคนโดยมาก, เอาพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนานี้กันดีกว่า คือเป็นวิธีการปฏิบัติอย่างรวบรัดลงไปทันทีทันใดนั้น ดดยการพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น มีอะไรบ้างที่น่ายึดถือ น่าเอา น่าเป็น; หรือพิจารณาอีกทางหนึ่งว่า มีสิ่งใดบ้าง ที่ยึดถือเข้าแล้วจะไม่เป็นความทุกข์ชนิดใดชนิดหนึ่ง; พิจารณาไปจนกระทั่งมีจิตเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ตกเป็นบ่าวเป็นทาสของสิ่งทั้งปวง แต่เป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง ควบคุมสิ่งทั้งปวงให้อยู่ในอำนาจแห่งสติปัญญาของตน. แม้จะไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ๆ ในโลก ในฐานะว่าเอา ว่าเป็น คือเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเป็นนั่น เป็นนี่ ก็ตาม ก็เป็น หรือเอา หรือมี โดยสักแต่ว่าสมมติ ไม่ใช่หลงใหลไปด้วยจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น ด้วยความยึดถือ, แต่เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวต่อสิ่งทั้งปวงว่าไม่มีอะไรที่อาจยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ดังนี้อยู่เสมอ. นี้เรียกว่าเราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา มีผลดียิ่งไปกว่าที่จะเป็นเพียงศีลธรรมตามธรรมดาทั่ว ๆ ไป; หรือมีผลดียิ่งกว่าที่จะเป็นสัจจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียว ทั้งที่ยังไม่ได้ปฏิบัติอะไร; และเป็นผลดีกว่าที่จะเป็นเพียงแง่ของปรัชญา ไว้คิดไว้นึก ไว้เถียงกันอย่างสนุกสนาน และก็ไม่ละกิเลสอะไรได้; หรือดีกว่าที่จะเป็นเพียงวัฒนธรรมทั่ว ๆ ไป สำหรับประพฤติให้ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว.


๑. ดูคำอธิบายแยกแยะอย่างละเอียดจากธรรมเทศนา เรื่อง “ศาสนา คือโรงพยาบาลของโลก” ของผู้แสดงท่านเดียวกัน.
อย่างต่ำที่สุด เราทั้งหลายควรเข้าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศิลปะ (Art), ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีพ คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุมในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นคน ให้น่าดู น่าชม น่าเลื่อมใส น่าบูชา เป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย. อาตมาใช้คำว่า ศิลปะ ในที่นี้มิได้หมายความว่าเป็นสิ่งหลอกลวงทำนอง Artificial, แต่หมายความว่าเป็นสิ่งที่มีความงดงามมาก ตามความหมายของศิลปะที่บริสุทธิ์แท้จริง จนจับใจคนอื่นให้พอใจทำตามเรา ตามความสมัครใจของเขาเอง ไม่ต้องแค่นเข็นกัน. ขอให้เราปฏิบัติตามหลักธรรมในพุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะแห่งการเป็นคน หรือการดำรงชีพอยู่เป็นคน ซึ่งมีความงดงามอยู่ที่กาย วาจา ใจของเรา ซึ่งใครดูแล้วจะเกิดความรักความพอใจยินดีทำตามเรา. เราจะมีความงดงามในเบื้องต้นด้วยศีลบริสุทธิ์สาดดี; มีความงดงามในท่ามกลางด้วยการมีสมาธิ คือมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานทางจิต; มีความงดงามในเบื้องปลาย คือสมบูรณ์ด้วยปัญญารู้แจ้งสิ่งทั้งปวง ว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งหลาย. เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม ๓ ประการในลักษณะเช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด. ความงามของศิลปะอันนั้น จะดึงดูดใจบุคคลที่พบเห็นโดยรอบข้าง ให้ยินดีปฏิบัติตามเราในฐานะเป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตมากออกไป ๆ โดยปราศจากความยากลำบากในการที่จะแค่นเข็นกัน. แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมในแง่ของศิลปะอย่างนี้ก็ไม่พ้นที่จะเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา เพราะว่าการครองชีพอยู่อย่างมีความสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุดนั่นแหละ เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา. อาตมาสังเกตเห็นชาวตะวันตกสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิต หรือ Art of Life โดยนัยนี้กันเป็นอันมาก และเขียนกันมากกว่าในแง่อื่น ฉะนั้นจึงนำมาบอกกล่าวสู่กันฟัง ว่ายังมีวิถีทางของศิลปะ ที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัท ด้วยการดำรงชีวิตชนิดที่เป็นศิลปะแห่งการมีความสุข ให้คนทั้งหลายดู. แต่ถ้ากล่าวเจาะจงในวงพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่พ้นที่จะกล่าวว่านั่นแหละเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา.
ในที่สุด อาตมาอยากจะขอร้องให้ตั้งข้อสังเกต หรือสนใจในส่วนพิเศษอีกส่วนหนึ่ง คือการที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตให้ได้นั้น มันมีแง่ดีอยู่ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความบันเทิงเริงรื่นตามทางของธรรมะ ไม่เหงาหงอย ไม่เป็นทางให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือเกิดความหวาดกลัว ดังที่กล่าวกันอยู่ว่า ถ้ามาทำการละกิเลสกันเสียโดยส่วนเดียวแล้ว ชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือว่าถ้าปราศจากตัณหาต่าง ๆ โดยสิ้นเชิงแล้ว คนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดจะทำอะไร จะเหมือนกับเป็นอัมพาต มือตายตีนตาย อย่างนี้เป็นต้น. แต่โดยที่แท้แล้วผู้ที่ดำรงชีวิตถูกต้องตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพุทธศาสนานั้น จะมีความบันเทิงเริงรื่นอยู่ตลอดเวลา คือเป็นผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ทุก ๆ สิ่งที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งของ หรืออะไรชนิดใด จะเข้ามาหาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะเป็นผู้แพ้ เป็นฝ่ายแพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัวสกปรกเร่าร้อนแก่ผู้นั้นขึ้นได้. กิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ น่าจะเป็นที่บันเทิงเริงรื่นสำหรับคนทั่วไปด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงควรมีทรรศนะประจำตัวอยู่ทรรศนะหนึ่งเสมอไป ในการที่จะมองพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นโรงมหรสพของวิญญาณ เป็นที่แสวงหารความเพลิดเพลินเช่นเดียวกับโรงมหรสพทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นที่แสวงหาความเพลิดเพลินทางกายหรือทางกิเลส.
ข้อที่ว่า พระพุทธศาสนา ซึ่งมีสำนักงานอยู่ตามสมาคม หรือวัดวาอารามต่าง ๆ ตั้งอยู่ในฐานะเป็น โรงมหรสพทางวิญญาณ นั้น ก็คือว่าธรรมะในพระพุทธศาสนาจะให้ความเพลิดเพลิน ชนิดที่จิตใจหรือวิญญาณต้องการ เป็นสิ่งที่นับได้ว่าเป็นอาหารที่จำเป็นด้วยเหมือนกัน : คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา อาหารทางหู อาหารทางจมูก อาหารทางลิ้น อาหารทางกาย เหล่านี้ แสวงหากันไปตามที่สมควรนั้นก็ถูกแล้ว; แต่ยังมีสิ่งอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึกและไม่ต้องการอาหารชนิดนั้น, สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่นที่เป็นอาหารทางธรรมะ นับตั้งต้นไปแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่น่าพอใจของผู้รู้หรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความสงบหรือระงับในใจชนิดที่กิเลสมาเรียกร้องไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับลงนั่งได้ ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลายชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า “กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ” ซึ่งคิดดูเถอะว่าจะมีความสงบได้อย่างไร. “กลางคืนเป็นควัน” นั้น คือนอนไม่หลับกระสับกระส่าย มือก่ายหน้าผากคิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้ คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภ ได้สิ่งต่าง ๆ ที่ตนปรารถนาอย่างนั้นอย่างนี้ อัดเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมืดค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนนอนอัดควันอยู่. พอถึงเวลารุ่งขึ้นก็ออกเดินหรือขึ้นรถยนต์สุดแท้แต่จะใช้ยานพาหนะใด ๆ วิ่งว่อนไปตามความต้องการของ “ควัน” ที่อัดไว้แต่เมื่อคืน. นี่เรียกว่า “กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ”. เหล่านี้ เป็นลักษณะของการที่จิตใจไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรม แต่เป็นการที่กระหายไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาโดยส่วนเดียว เรียกว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่าตกนรกทั้งเป็น. ลักษณะที่กลางคืนอัดควันนั้น ก็หมายความว่าร้อนกลุ้มอยู่แล้วตลอดคืน; กลางวันเป็นไฟนั่น ก็หมายความว่าลุกโพลง ๆ คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันอีก, แล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้, ถ้าคนเราต้องการ “กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ” ไปจนตลอดชีวิต ตลอดชาติแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้คิดดู. เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเข้าโลงไปทีเดียว แล้วก็ไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควัน นั้นเสียได้. เขาจะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับจะช่วยแก้ไขให้เบาบางจากลักษณะที่เรียกว่า “กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ” นั้น ลงตามส่วน จนกระทั่งว่า กลางคืนก็พอมีเวลาที่ไม่อัดควัน กลางวันก็มีเวลาที่ไม่ลุกเป็นไฟ. เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ถูกต้องตามที่เป็นจริงมากขึ้นเท่าไร ควันหรือไฟก็ลดน้อยลงเท่านั้น.
ถ้าเรามองเห็นความจริงคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งที่ตนกำลังละโมบจะเอา จะเป็น อย่างแจ่มแจ้งอยู่เป็นประจำแล้ว ก็จะได้รับแต่ความเยือกเย็นในทุก ๆ กรณี เมื่อความเยือกเย็นที่แสนจะเย็น ชนิดที่ว่าไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องอาบน้ำ ก็ยังจะเย็นยิ่งกว่าการรดน้ำ การอาบน้ำ แช่น้ำ เป็นความบันเทิงเริงรื่นของวิญญาณส่วนลึก ได้รับความเพลิดเพลินเป็นความพอใจตามทางธรรม อาตมาจึงชี้ทรรศนะที่ให้ช่วยกันมองจนเห็นว่า พุทธศาสนานี้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นโรงมหรสพของฝ่ายจิต หรือ Spiritual Theatre ดังกล่าวแล้ว.



ท่านทั้งหลายจะศึกษา หรือจะมองศาสนากันในลักษณะที่เป็นปรัชญาก็ได้ เป็นศีลธรรมก็ได้ เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ เป็นศิลปะก็ได้ แม้ที่สุดแต่จะจัดเป็นวัฒนธรรมเป็นอย่างต่ำ และเป็นสัจจธรรมหรือเป็นโมกขธรรม เป็นอย่างสูงสุดก็ได้; แต่ที่จะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางที่สุดนั้น ย่อมอยู่ตรงที่รู้จักมองพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนา หรือเป็นโรงมหรสพทางฝ่ายจิตเท่านั้นเอง. ลักษณะนอกนั้นอาจเป็นความรู้อย่างผิวเผินบ้าง เป็นไปอย่างชนิดไขว้กันคือไม่ตรงลู่ตรงทางของชีวิตจิตใจบ้าง หรือเป็นแต่เพียงสำหรับรู้ สำหรับคิด สำหรับถกเถียง สำหรับเป็นนักปราชญ์อย่างเดียวบ้าง แต่ก็ละกิเลสอะไรไม่ได้เลย. ถ้าเราจะเป็นพุทธบริษัทที่มีความสะอาด สว่าง สงบ ตามสมควรแล้ว ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาโดยตรง, หรือเป็นโรงมหรสพทางฝ่ายวิญญาณอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะได้รับประโยชน์เต็มตามความหมายของสิ่งที่เราเรียกกันว่า พุทธศาสนา ทุกประการ.
ทั้งหมดนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนา นั้น มีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายคู เหมือนกับภูเขาลูกเดียว มองจากทิศต่าง ๆ กัน ก็จะเห็นเป็นรูปต่าง ๆ กัน เห็นประโยชน์ได้ต่าง ๆ กัน แล้วแต่ทรรศนะของผู้มอง. แม้พระพุทธศาสนาจะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช่ความกลัวที่โง่เขลาของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพ หรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏการณ์แปลก ๆ , แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูง คือความกลัวว่าจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นั่นคือความรอดพ้นไปจากความบีบคั้นของความเกิดแก่เจ็บตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็น ๆ กันอยู่. สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาตัวแท้นั้น ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอกเล่า ไม่ใช่หลักแห่งการคิดไปตามเหตุผล; ตัวพระไตรปิฎกหรือตัวศาสนาพิธีรีตองต่าง ๆ นั้น ยังไม่ใช่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา; ตัวแท้ของพุทธศาสนาต้องเป็นตัวการปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือสิ้นไปในที่สุด. นี่เรียกว่าตัวจริงของพุทธศาสนา ในลักษณะซึ่งไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยตัวหนังสือ ไม่ต้องเนื่องด้วยตำรา ไม่ต้องเนื่องด้วยพิธีรีตอง ไม่ต้องเนื่องด้วยสิ่งภายนอก เช่นเทวดาหรือดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นต้น แต่ต้องเนื่องในภายใน ด้วยกาย วาจาและใจ เนื่องด้วยสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกายใจโดยตรง คือกิเลสอันสรุปรวมอยู่ที่อวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งจะต้องบากบั่นกำจัดให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้สว่างไสวที่เรียกว่า วิชชา ขึ้น สามารถที่จะทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน. นี่แหละ คือตัวแท้ของพระพุทธศาสนาในส่วนที่เราจะต้องเข้าใจ อย่าได้ไปหลงใหลเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาเป็นตัวศาสนาเลย.

อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้ลง ด้วยการหมดเวลาเพียงเท่านี้.
ไฟล์แนบ
images (15).jpg
images (15).jpg (7.89 KiB) เข้าดูแล้ว 1758 ครั้ง
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

..http://www.oknation.net/blog/Aug-sarapo ... 2/entry-12

..มือมนุษย์(ฉบับสมบูรณ์)/ท่านพุทธทาส : บทที่ ๑๐/ตุลาการตามอุดมคติแห่งพระพุทธศาสนา

ท่านที่จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลาย,

การบรรยายในโอกาสครั้งสุดท้ายนี้ อาตมาจะได้กล่าวถึงข้อคิดบางประการในทางพุทธศาสนา หรือที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ในส่วนที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกันกับการเป็นตุลาการ.
ในข้อแรกที่สุด อาตมาอยากจะปรับความเข้าใจตามหลักของพุทธศาสนาเกี่ยวกับ การปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ของคนเรา ไม่ว่าเป็นอาชีพประเภทใด : สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่หรืออาชีพนั้น ถ้าถือตามหลักของธรรมะ หรือว่าถือเอาธรรมเป็นหลักสำหรับมอง ก็อาจกล่าวได้ว่า หน้าที่หรืออาชีพนั่นเอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการที่คนเราจะเข้าถึงธรรม. การที่จะรู้จักโลกหรอสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดี ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น จำต้องมีการทำสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปด้วยดีเสียก่อน. การที่คนเราคนหนึ่ง ๆ ทำหน้าที่ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของตน โดยเฉพาะเช่นอาชีพ ให้ลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีมลทินด่างพร้อยนั่นแหละ ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะทำให้รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร อย่างไม่น้อยทีเดียว : โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็จะรู้จักชีวิตจิตใจของคนเรานี้ ว่าหมายความว่าอย่างไร เป็นสิ่งที่ควรยึดถือหลงใหลเพียงไรเป็นต้น. ถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำอะไรจริง ๆ จัง ๆ ให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามอุดมคติของอาชีพหรือของหน้าที่นั้น ๆ แล้ว มันยังน้อยเกินไปสำหรับที่จะรู้จักตัวเอง รู้จักโลก รู้จักกิเลส รู้จักทุกข์ และรู้จักความดับทุกข์เป็นต้น.
การที่คนเราปฏิบัติหน้าที่ หรือประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีอุดมคติสูงอยู่อย่างสุดความสามารถนั้น นับว่าเป็นการประพฤติธรรมอย่างเต็มที่อย่างหนึ่งอยู่ในตัว. ฉะนั้นจึงไม่ควรทำด้วยความรู้สึกแต่เพียงว่า มันเป็นการจำเป็นจะต้องหาเลี้ยงชีพ หรืออะไรทำนองนั้น แต่ควรจะทำด้วยความรู้สึกที่สูงขึ้นไปกว่านั้น คือรู้สึกว่าเป็นบทเรียนที่มนุษย์เราจะต้องผ่านไป และต้องผ่านไปให้เป็นอย่างดีที่สุด แม้ว่าจะเหนื่อยยากลำบาก ก็ยิ่งจะเป็นการทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายถูกต้องดีขึ้นโดยเร็ว เป็นการประพฤติธรรมที่ยิ่งขึ้นไป.
สำหรับอาชีพตุลาการ ย่อมเป็นอาชีพที่กล่าวได้ว่า มีอุดมคติสูง เป็นโอกาสแห่งการประพฤติธรรมชั้นสูงพร้อมกันไปในตัว เราควรจะยกอุดมคติขึ้นเป็นที่ตั้ง ในการประกอบอาชีพการงาน; ไม่ควรจะถืออย่างที่คนบางจำพวกถือว่าอุดมคตินั้นซื้ออะไรกินไม่ได้ ส่วนวัตถุเช่นเงินทองเป็นต้นนั้น ยังซื้ออะไรกินได้ ดังนี้. เงินทองซื้ออะไรกินได้ก็จริง แต่ว่าเป็นไปเพียงเพื่อประโยชน์ในทางกาย. เรื่องทางฝ่ายกายนี้ ถ้าปล่อยมากไป คือตามใจมากไป ก็จะกลายเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา หรือของภูตผีปีศาจอันร้ายกาจไปโดยไม่รู้สึกตัว. ฉะนั้นจึงต้องเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยเรื่องของฝ่ายใจ คืออุดมคติที่ดีงามที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจให้ประกอบหน้าที่ของตน อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์และงดงาม เป็นการประพฤติธรรมเพื่อทำความพ้นทุกข์อย่างสูงสุดพร้อมกันไปในตัว. เราจะต้องควบคุมกิเลสหรือบรรเทากิเลสพร้อมกันไปในตัว ในขณะที่เราจะต้องประกอบอาชีพ หรือปฏิบัติหน้าที่ของเราให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง.
สำหรับอุดมคติของตุลาการ นั้น อาตมารู้สึกว่า ถ้าถือกันตามหลักธรรมแล้ว ควรจะถือว่า ตุลาการคือบุคคลผู้มีหน้าที่อภิบาลรักษาธรรมของโลกประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกันกับบุคคลบางประเภท ที่เป็นบรรพชิตที่มีหน้าที่รักษาธรรมของโลกอยู่ส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน. การรักษาธรรมของโลกนั้น ถือเอาความหมายได้กว้าง เพราะว่าคำว่า “ธรรม” เป็นคำที่กว้าง. ธรรมเป็นเครื่องมือสำหรับทำความพ้นทุกข์ แต่มีความหมายกว้าง : แม้ที่สุดแต่การรักษาความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมในโลก ก็ได้ชื่อว่าเป็นการรักษาธรรมเหมือนกัน เพราะคำบาลีก็ได้ใช้คำ ๆ เดียวกัน คือคำว่า ธรรม นี้ หมายถึงความยุติธรรมเป็นคำที่กว้าง. อุดมคติของผู้รักษาธรรมของโลกนั้น ย่อมอยู่สูงเหนือกว่าที่เราจะถือตัวเพียงว่า เราเป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมหรืออะไรทำนองนี้ แต่เมื่อเราเป็นผู้ยึดอุดมคติที่สูง ในฐานะเป็นผู้รักษาธรรมของโลก ก็จะเป็นการครอบคลุมอุดมคติที่ต่ำ ๆ กว่านั้นไว้ได้ในตัวเสร็จ เช่นว่าเป็นตุลาการผู้รักษากฎหมาย เป็นข้าราชการของกระทรวงยุติธรรม หรือเป็นผู้รับใช้ประชาชนอะไรก็สุดแท้ แต่ว่าควรจะยึดถือให้ถูกความจริง ซึ่งเป็นความจริงแท้และเหมาะสม คืออุดมคติที่ว่าผู้รักษาธรรมของโลกนั้นจะประเสริฐกว่า. เราจะต้องไม่เป็นเพียงข้าราชการของประเทศไทย เราต้องเป็นผู้รักษาธรรมของธรรมหรือของโลกโดยไม่ต้องจำกัดเชื้อชาติหรืออื่น ๆ . ธรรมนั้นเป็นของโลก เรามีชีวิตอยู่ในโลก ช่วยกันรักษาธรรมให้คงมีอยู่ในโลก. การมีจิตใจกว้างอย่างนี้จะเหมาะสมกับการเป็นตุลาการและจะเป็นผู้ประพฤติธรรมพร้อมกันไปในตัว.
การที่เรายึดถืออุดมคติอันใหญ่หลวง ว่าเราเป็นผู้รักษาธรรมของโลกนั่นแหละ จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราบกพร่องในอุดมคติที่ย่อม ๆ เล็ก ๆ ลงมา. ข้อนี้ จะเป็นเครื่องชูกำลังใจให้มองดูสิ่งต่าง ๆ ด้วยสายตาที่กว้างหรือสูง เป็นทางที่จะป้องกันอคติต่าง ๆ ได้ง่าย. โดยที่อาตมาไม่ต้องบอกกล่าว ท่านทั้งหลายที่เป็นตุลาการก็ย่อมทราบดีว่า อคตินั้นไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งในการเป็นตุลาการ. แต่ถ้าเราจะทำตนเป็นคนของใครก็จะต้องทำอะไรคล้อยตามความประสงค์ของคนนั้นเป็นธรรมดา : เช่นเป็นผู้รับใช้ประชาชน ก็เป็นคนของประชาชน และทำอะไรคล้อยตามความต้องการของประชาชน; เป็นข้าราชการของกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ก็เป็นคนที่ต้องทำตามความประสงค์ของกระทรวงนั้น ๆ เป็นต้น; หรือแม้ที่สุดแต่การทำตนเป็นคนของประเทศไทย ก็รู้สึกว่าแคบ เราควรจะเป็นคนของโลก หรือถ้ายิ่งไปกว่านั้นก็ควรจะเป็นคนของธรรม ซึ่งยิ่งไปกว่าโลก ใหญ่ไปกว่าโลก ฉะนั้นจึงสามารถเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาธรรม ไว้ให้ยังคงมีอยู่เป็นที่พึ่งของโลก โดยไม่เห็นแก่หน้าใครได้โดยง่าย. อุดมคติเช่นนี้ ย่อมเป็นเช่นเดียวกับอุดมคติของบรรพชิตหรือนักบวช ผู้สืบอายุพระศาสนาหรือรักษาธรรมไว้เป็นที่พึ่งแก่โลก โดยไม่อยู่ในอาณัติของผู้ใด นอกจากธรรม. ในทางธรรม ย่อมถือว่าบุคคลที่ถืออุดมคติเช่นนี้ ได้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลของโลกส่วนรวม ไม่เป็นลูกจ้างใคร เพราะว่าทำไปด้วยเจตนาที่จะรักษาธรรมอันประเสริฐของโลกไว้. ส่วนเงินเดือนนั้น เป็นแต่ค่าบูชาที่ประชาชนชาวโลกช่วยกันสละให้ ด้วยหวังว่าเราจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาทำไร่ไถนา หาอาหารด้วยตนเอง แต่ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเป็นอยู่ เพื่อใช้เวลาทั้งหมดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมคติ คือช่วยกันรักษาความยุติธรรม หรือธรรมไว้ ให้ยังคงมีอยู่เป็นที่พึ่งประจำโลก.
สิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรม หรือความสัตย์จริงนี้ ย่อมเป็นของสากล : เมื่อยึดถือโดยหลักใหญ่ ๆ เว้นข้อปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียย่อมจะตรงกันทุกชาติทุกภาษา หรือทุกส่วนของโลก แม้แต่ในโลกเทวดาหรือในโลกอื่น ๆ ต่อไป ก็ยังมีหลักแห่งความเป็นธรรม หรือยุติธรรมนั้นตรงกัน ฉะนั้น ผู้รักษาความเป็นธรรมของโลกไหนก็ตาม ย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลของโลกทุกโลก ที่มีหลักแหล่งความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมตรงกัน. ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบข้อความในพระคัมภีร์ต่าง ๆ ที่กล่าวว่าบรรดาพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นตุลาการวินิจฉัยคดีอะไรต่าง ๆ นั้น ย่อมเป็นที่เคารพของสัตว์ทั้งหลาย แม้ประเภทเทวดา คือเป็นที่สักการบูชาของเทวดาเช่นเดียวกันกับพระสมณะทั่วไป หมายความว่า แม้แต่พวกเทวดาก็ต้องการความยุติธรรม จะพากันสรรเสริญแซ่ซ้องสาธุการ ในเมื่อมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างนี้เป็นต้น.
การเป็นปูชนียบุคคลของโลกในลักษณะที่กล่าวนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เราอาจจะมองเห็นได้ โดยไม่ต้องกลัวหรือระแวงไปว่าจะเป็นการเข้าข้างตัวเองหรือเป็นการยกตัวเอง. ข้อสำคัญย่อมอยู่ที่จิตใจของเรามีอุดมคติอย่างที่กล่าวนั้นหรือไม่เท่านั้น. ถ้ามีอุดมคติอย่างที่กล่าวนั้น และบำเพ็ญหน้าที่ไปตามอุดมคตินั้นแล้ว เงินเดือนย่อมกลายเป็นของเล็กน้อยเกินไป ในการที่จะนำมาเปรียบเทียบกับคุณธรรมอันสูง ที่เรากำลังมีอยู่หรือปฏิบัติอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงหลุดพ้นจากฐานะแห่งความเป็นลูกจ้าง ที่จะถูกจัดไว้ว่าเป็นลูกจ้างของประชาชนหรืออะไรทำนองนั้น. การกล่าวเช่นนั้นจะกล่าวได้ก็แต่ แก่บุคคลจำพวกที่ทำงานพอสักแต่ว่าแล้ว ๆ ไป พอคุ้มเงินเดือน เดือนหนึ่ง ๆ นั่นแหละที่จะกลายเป็นลูกจ้าง. แต่ถ้าเป็นผู้ทำงานประกอบไปด้วยอุดมคติอันสูง เช่นช่วยกันรักษาธรรมให้ยังคงมีอยู่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้แล้ว สิ่งที่เขาทำขึ้นมาได้นั้น ย่อมมีคุณค่าสูงเกินกว่าที่จะประมาณได้ เมื่อมาเทียบกับเงินเดือนแล้ว เงินเดือนก็กลายเป็นของอันเล็กน้อย เช่นเศษขยะมูลฝอยไป และตกอยู่ในฐานะเป็นเครื่องบูชาคุณธรรมมากกว่า ไม่อาจจะจัดเป็นค่าจ้าง. ลักษณะของการเป็นปูชนียบุคคล มีความหมายอยู่ตรงที่การตั้งตนอยู่ในอุดมคติหรือคุณธรรม ที่สูงเกินกว่าราคาสิ่งของบูชา ของบุคคลที่นำมาบูชา. การที่กล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวได้ตามความสัตย์จริง หรือเหตุผลตามหลักธรรม; ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าจะปลื้มใจ ในการที่ใครก็ตาม ได้มีโอกาสบำเพ็ญหน้าที่นี้ให้ได้ผลเต็มตามความหมายของคำ ๆ นี้ โดยไม่เป็นเพียงผู้ประกอบอาชีพ ซึ่งจะกลายเป็นลูกจ้างไปในวันใดวันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว. เว้นเสียแต่เราได้ทำให้เต็มตามความหมายและฐานะแห่งความเป็นปูชนียบุคคลเท่านั้น.
ข้อนี้ขอให้คิดเลยไปถึงปูชนียบุคคลพวกอื่น เช่นพวกสมณะ พวกพราหมณ์ พวกนักบวช เช่นภิกษุเหล่านี้ ล้วนแต่ต้องอาศัยข้าวปลาอาหารต่าง ๆ ที่ประชาชนสละให้ จึงทำหน้าที่ในการเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ เป็นสงฆ์อยู่ได้ แต่แล้วก็มิมีหลักเกณฑ์อะไร ที่อาจจะจัดบุคคลเหล่านี้ให้เป็นผู้รับจ้างหรือลูกจ้าง. ถ้าจะเรียกว่าอาชีพก็เรียกว่าอาชีพได้เหมือนกัน แต่อาชีพอีกชนิดหนึ่งคือเป็น อาชีพของบุคคลประเภทเจ้าหนี้. เพราะเหตุว่าสิ่งที่ท่านเหล่านั้นทำให้แก่โลกนั้น มีค่าเกินกว่าสิ่งที่โลกเสียสละเป็นเครื่องเลี้ยงดูบูชาท่าน ฉะนั้นจึงเป็นอาชีพของบุคคลประเภทเจ้าหนี้ ตัวอย่างเช่นพระอรหันต์ทั้งหลายรับจตุปัจจัยจากทายกในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าหนี้ เพราะว่าท่านได้ทำสิ่งวิเศษต่าง ๆ ให้แก่โลกมากมายเหลือเกิน และคงรับเอาเพียงจตุปัจจัยเครื่องอาศัยเท่าที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เท่าที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่ จึงกลายเป็นปูชนียบุคคลไป ดังนี้.
การดำรงตนอยู่ในลักษณะเช่นนี้ เป็นเหตุให้เรามีปีติปราโมทย์เป็นต้นทุนประจำอยู่ทุกวันทุกคืน. ดังที่บรรยายไว้แล้วในการบรรยายครั้งก่อน ๆ ว่าปีติและปราโมทย์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่ง อย่างจำเป็นสำหรับการบรรลุมรรค ผล นิพพาน. เพราะว่าเมื่อปีติปราโมทย์แล้ว จะมีความระงับจิตมีสมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทา วิราคะ เป็นลำดับไปโดยง่ายที่สุด. ตุลาการผู้ทำหน้าที่ตามอุดมคติ จนตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลแล้ว วันคืนย่อมประกอบอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ จึงได้รับความผาสุกทางกายทางใจ มีสติปัญญาสดชื่นแจ่มใส ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน และเป็นหนทางแห่งการรู้ธรรมอันสูงยิ่งขึ้นไปตามธรรมชาติ พร้อมกันไปในตัวด้วย; อาตมาจึงขอร้องท่านทั้งหลายทุกคน ให้ยึดถืออุดมคติ แทนที่จะถือเสียว่าอุดมคติซื้อหาอะไรไม่ได้ และมีอุดมคติว่าตนเป็นผู้รักษาความเป็นธรรมของธรรม หรือของโลกทั้งสิ้น แทนที่จะจำกัดผูกมัดตัวเองให้อยู่ในวงแคบ ๆ ของบุคคลใด หมู่ใด คณะใด ประเทศใด เป็นต้น ก็มีจิตใจสูง มีความกล้าหาญเฉียบขาดครอบงำอคติต่าง ๆ ให้สูญสิ้นไปได้.
ที่นี้ ถ้าหากว่าจะกล่าวต่อไปถึงการที่ ตุลาการจะเอาชนะอคติได้จริง ๆ อย่างไร ก็ควรจะพิจารณาให้เห็นชัดเจนเสียด้วยว่า การที่คนเราตั้งใจว่าจะไม่มีอคติ หรือจะไม่ทำผิดคิดร้ายอะไร ด้วยสักว่าลำพังความตั้งใจอย่างเดียวนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ ถ้าหากว่าไม่มีอุดมคติหรือเครื่องมืออย่างอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องช่วยที่มีกำลังอันเพียงพอ. สิ่งที่เรียกว่ากิเลสหรืออคตินั้นย่อมมีกำลังมาก เกินกว่าที่เราจะคิดเอาเฉย ๆ ว่าจะเว้นจะไม่ทำ หรือแม้ที่สุดแต่ว่ารังเกียจเกลียดชังมัน เพราะเหตุนั้นแหละ อย่างน้อยที่สุดจึงจำเป็นจะต้องมีอุดมคติสำหรับยึดเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นเครื่องป้องกันทางมาแห่งกิเลส ซึ่งเป็นทางมาแห่งอคติอีกต่อหนึ่งไปในตัว.
เมื่อตุลาการอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลของโลก มีความหมายในบางอย่างบางประการเหมือนกับบรรพชิต หรือสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือโพธิสัตว์ หรือพระอริยเจ้าก็ตามแล้ว ตุลาการก็น่าจะสนใจถึงวิธีที่จะครอบงำหรือบังคับกิเลสต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการบรรยายวันก่อน ๆ ให้เป็นการเพียงพออยู่เสมอ. การที่จะไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราละเลยในข้อที่ว่าอะไรเป็นทางมาแห่งอคติ, และการเป็นตุลาการที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ย่อมเป็นเสมือนหนึ่งอริยบุคคล หรืออย่างต่ำที่สุดก็กัลยาณปุถุชนไว้เป็นที่พึ่ง. อย่างน้อยที่สุด ท่านจะเห็นได้อยู่แล้วว่า การละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพียง ๓ อย่างเท่าที่พระโสดาบันท่านละได้นั้น ก็เป็นหนทางหรือกำลังอันเพียงพอ ที่จะตัดหนทางของอคติได้โดยสิ้นเชิง. เมื่อผู้ใดเป็นอยู่ด้วยการพยายามละกิเลส หรือสังโยชน์อยู่โดยปรกติแล้ว สิ่งที่เรียกว่าอคติก็จะหมดกำลังไปในตัว แม้ไม่ต้องคอยระมัดระวังก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีขึ้นไม่ได้ : เพราะได้อาศัยการที่เราทำในใจของเราอยู่เสมอถึงการละความเห็นแก่ตัว; ละการลังเลในทางฝ่ายข้างดี ละการลังเลในการจะละความชั่ว ละการลังเลในการที่จะบำเพ็ญความดี เป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในระเบียบปฏิบัติสำหรับการบรรลุถึงความดีเป็นต้น; และเป็นผู้ไม่งมงายไปตามความยึดถือต่าง ๆ ซึ่งไร้เหตุผล เมื่อเป็นเช่นนี้ การไม่เห็นแก่ตัวย่อมจะป้องกันฉันทาคติหรือโทสาคติได้, ความไม่งมงาย ย่อมจะป้องกันภยาคติลำเอียงเพราะกลัว หรือโมหาคติลำเอียงเพราะความไม่รู้ความโง่เขลาได้ ดังนี้เป็นต้น.
การยึดถือหลักของพระอริยเจ้าเป็นเครื่องประจำใจ อยู่เช่นนี้นั้น ย่อมเป็นการกำจัดอคติต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปได้พร้อมกันไปในตัว เราจึงมีภาระน้อยที่สุดในการที่จะต้องระวังในเรื่องอคติ. สิ่งต่าง ๆ จะเป็นไปในทางดีในตัวมันเอง โดยการที่เราคอยควบคุมแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ต้องหนักอกหนักใจ และไม่มีโอกาสพลาดพลั้งชนิดที่จำต้องเสียใจภายหลัง. การเผลอตัวตกเป็นฝ่ายแพ้แก่กิเลส แล้วต้องเสียใจทีหลังนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ! คนทุกคนคงไม่ต้องการเป็นแน่! นี่เป็นสิ่งที่เชื่อได้. แต่ว่าก็ยังมีคนที่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้แก่กิเลส แล้วต้องเสียใจภายหลังอยู่เสมอ ๆ . เพราะฉะนั้น เราจำเป็นที่จะต้องป้องกันเสียก่อนที่มันจะเป็นอย่างนั้น เป็นการป้องกันที่สะดวกสบาย ด้วยการยึดมั่นในหลักของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสังโยชน์ ๑๐ ประการ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเราจะพากันตั้งตัวเป็นพระอริยเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้เป็นบุคคลดีไปตามลำดับชนิดที่ไม่เสียหาย ไม่มีการเสียประโยชน์หรือขัดขวางแก่การก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่แล้วจะกลับมีกำไรพิเศษ ตรงที่ให้เกิดความเบาสบายในการเป็นอยู่ ในการปฏิบัติหน้าที่ ชนิดที่เป็นเครื่องรับประกันอยู่ในตัวเองอย่างมั่นคง ว่าจะไม่ต้องเป็นผู้เพลี่ยงพล้ำแก่กิเลส แล้วต้องเสียใจในภายหลัง. การเพลี่ยงพล้ำแก่อำนาจของกิเลสแล้วต้องเสียใจในภายหลังนั้น อย่าได้เป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนทดลองกันเลย. ไม่มีข้อสงสัยอะไรที่ว่าควรลอง มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี ไม่ควรจะเป็นอย่างยิ่งโดยประการทั้งปวง. เมื่อเรากล้าตั้งตนเป็นผู้จะรักษาธรรมของโลกแล้ว ก็ไม่ควรกระดากหรือรู้สึกว่าเป็นการอวดดิบอวดดี ในการที่จะไปยึดเอาหลักของพระอริยเจ้าทั้งหลายมาเป็นหลักปฏิบัติ เพราะเป็นการสมควรอย่างยิ่งในข้อที่เรามีอุดมคติตรงกัน, เราตีราคาอาชีพหรือหน้าที่ของเรา ในฐานะเป็นผู้รักษาความเป็นธรรมของโลก ซึ่งโดยกฎเกณฑ์แห่งธรรมแล้ว ย่อมตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นปูชนียบุคคลประเภทหนึ่ง ฉะนั้นเราควรจะสนใจในเรื่องของพระอริยบุคคล หรือปูชนียบุคคลที่แท้จริงของโลกนี้ให้มากเพียงพอกัน เพื่อจะได้สิ่งวิเศษศักดิ์สิทธิ์สิ่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือกำจัดอคติไปในตัว. ถ้าปราศจากเครื่องมือนี้เสียแล้ว เราย่อมสู้กิเลสไม่ได้ ย่อมจะพ่ายแพ้แก่อำนาจของกิเลส ตกอยู่ในอคติไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งไม่มากก็น้อย ฉะนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะทำความปลอดภัยให้แก่เกียรติยศหรืออุดมคติแห่งหน้าที่การงานของเรา.
อนึ่ง พึงทราบว่า แม้เรื่องของวิปัสสนาภาวนา อย่างที่ได้เคยอธิบายมาแล้วนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องของคนที่จะอยู่แต่ในวัด หรือเป็นเรื่องของผู้ที่จะไปนิพพานโดยส่วนเดียว. แม้ท่านที่จะเป็นตุลาการ วินิจฉัยคดีต่าง ๆ ก็ยังอาจจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่หน้าที่ประจำวันได้ ด้วยการมีศีลบริสุทธิ์ มีจิตบริสุทธิ์ มีปัญญาสว่างไสว ตามควรแก่กรณี. คำว่า “มีจิตไม่บริสุทธิ์” หรือคำว่า “มีจิตมืดมิดขุ่นมัว” นี้ ลองคิดดูเถอะว่า ถ้าผู้ใดมีในตนแล้วจะปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความรับผิดชอบต่อธรรมของโลกได้อย่างไรกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่มีค่าสูงเกินหว่าที่จะเอามาทำเล่น ๆ หวัด ๆ ไปตามอารมณ์. เมื่อเราบูชาอุดมคติ หรือคุณค่าของอาชีพที่ต้องอาศัยความบริสุทธิ์นี้แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องแสวงหาเครื่องมือหรืออุบายวิธีต่าง ๆ ที่จะหล่อเลี้ยงสมรรถภาพในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์ อย่างน้อยก็ต้องเป็นผู้ที่มีความฉลาดในการที่จะมีศีลบริสุทธิ์ มีการควบคุมจิตไว้ได้ในลักษณะที่เรียกว่ามีสมาธิ คือบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งมั่นด้วยดี มีความเหมาะสมที่จะทำงานในทางจิต ต่อจากนั้นก็มีปัญญา มีทิฏฐิ มีความคิดเห็นที่เป็นไปถูกทาง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่า อะไรเป็นอะไร ตามสมควรแก่เหตุการณ์. การบำเพ็ญตนอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญาก็ตาม หรือการดำเนินกาย วาจา ใจ ตามนัยสุทธิทั้ง ๗ มีสีลวิสุทธิเป็นต้น กระทั่งถึงญาณทัสสนวิสุทธิก็ตาม ล้วนแต่เป็นอุปกรณ์อันประเสริฐ สำหรับผู้ที่จะตั้งตนอยู่ในฐานะเป็นผู้รักษาความเป็นธรรมให้ยังคงอยู่เป็นที่พึ่งของโลก. บรรดาท่านที่จะเป็นตุลาการให้ตรง ให้เต็ม ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ตามอุดมคติของคำ ๆ นี้ ควรจะได้สนใจหลักของพระพุทธศาสนาดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้นให้พอสมควรอยู่เสมอ.


ยังมีข้อปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาตมาอยากจะนำมาตั้งเป็นข้อสังเกตสำหรับการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือศาสนาโดยทั่ว ๆ ไปพร้อมกันไปในตัว : เรามีทางที่จะพิจารณาให้เห็นได้ว่า ศาสนาต่าง ๆ นั้น ล้วนแต่มีแนวทางที่จะยึดถือ และปฏิบัติต่างกัน อย่างไร การที่เราจะมองแต่แนวใดแนวหนึ่งแนวเดียว ตามที่เรารู้เราเห็น หรือที่เป็นแนวของเราโดยเฉพาะนั้น ย่อมนำเราไปสู่อคติได้โดยไม่รู้สึกตัวด้วยเหมือนกัน. บรรดาศาสนาทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม กล่าวกันอย่างกว้าง ๆ แล้ว อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภทด้วยกัน คือ ศาสนาประเภทหนึ่ง ทำความดับทุกข์ด้วยอำนาจของศรัทธาหรือความเชื่อเป็นเบื้องหน้า. ศาสนาอีกประเภทหนึ่ง ทำความดับทุกข์ด้วยอำนาจการบังคับกาย บังคับจิต เป็นเบื้องหน้า โดยการบังคับตามวิธีของศาสนานั้น ๆ ให้จิตดำรงอยู่ในลักษณะนั้น ๆ ตามที่ตนต้องการ. ศาสนาอีกประเภทหนึ่ง ทำความดับทุกข์ให้สิ้นไปด้วยอำนาจของปัญญาเป็นเบื้องหน้า คือการเจริญปัญญาจนเกิดความรอบรู้ในสิ่งทั้งปวง; เราจึงได้ศาสนาในโลกเป็น ๓ ประเภทด้วยกัน : ศาสนาที่พึ่งกำลังศรัทธาความเชื่อ, ศาสนาที่พึ่งกำลังวิริยะความพากเพียร และศาสนาที่พุ่งกำลังปัญญา.
สำหรับศาสนาที่พึ่งกำลังแรงของศรัทธาหรือความเชื่อ ก็ต้องมีสิ่งเป็นที่ตั้งของศรัทธาหรือความเชื่อไว้สิ่งหนึ่ง หรืออย่างหนึ่ง เช่นมีพระเป็นเจ้าเป็นที่ตั้งของศรัทธา ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องปล่อยศรัทธาหรือปลงศรัทธาหมดทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ลงในพระเป็นเจ้า อะไร ๆ ทั้งหมดก็ต้องยกให้เป็นไปตามหลักที่ว่า “เป็นความต้องการหรือเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า”; เพื่อให้คนเหล่านั้นไม่มีความทุกข์ใจ เพราะอาศัยกำลังศรัทธาแรงกล้านั้นมาเป็นเครื่องตัดเสีย. ตัวอย่างเช่นเขาเจ็บไข้ได้ป่วยกระวนกระวาย ทรมานกายอย่างไรก็ตาม ถ้าเขาสามารถที่จะมีศรัทธาปลงลงไปทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าจริง ๆ แล้ว เขากลับยินดีเสียอีก ในการที่ตนได้เป็นไปตรงตามความประสงค์ของพระเป็นเจ้า. แม้ที่สุดแต่ว่าจะต้องตายไป ก็ถือว่าเป็นความประสงค์ของพระเป็นเจ้า. จะยากจนเข็ญใจ ตกระกำลำบาก ก้ถือว่าเป็นการสั่งสอนเป็นการทดลองความภักดีในพระเป็นเจ้า. จะมั่งมีศรีสุข เป็นเศรษฐีรุ่มรวย ก็ไม่อวดดิบอวดดีว่าเป็นฝีมือของตัวเอง แต่ถือว่าเป็นความโปรดปรานหรือเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า : ความทุกข์อันใดจะเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างใดก็ไม่ทุกข์ เพราะถือว่าเป็นการจัดการทำของพระเป็นเจ้า เขาก็สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างที่ไม่มีความทุกข์ และเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของเขา ด้วยอำนาจแห่งศรัทธานั้นก็ได้เหมือนกัน. นี้เป็นลักษณะของศาสนาประเภทที่ทำความพ้นทุกข์ด้วยอำนาจของศรัทธาเป็นเบื้องหน้า.
ส่วนพวกที่ทำความพ้นทุกข์ด้วยความพากเพียรโดยตรง นั้น มีวิธีที่จะฝึกฝนการบังคับในทางจิต หรือทางสมาธิ หรือทางฌาน ทางสมาบัติ บังคับจิตของตัวให้อยู่ในอำนาจได้ตามที่ต้องการ คือไม่ให้ไปรู้สึกทุกข์ ไปรู้สึกร้อน ไปหวาดไปกลัว เป็นต้น แต่ให้มาสงบเงียบในฌานในสมาบัติได้จนตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันดับจิต. เขาเป็นผู้สามารถบังคับจิต ไม่ให้ไปรับอารมณ์ที่ไม่ปรารถนาให้รับอย่างใด ๆ แล้ว ก็บังคับจิตให้กำหนดไว้แต่อารมณ์ที่พึงปรารถนา เช่นความเป็นหนึ่งในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง แล้วก็หยุดอยู่ในอารมณ์อันนั้น จนเป็นสมาธิ หรือสมาบัติ เป็นความติดใจอยู่ได้ในลักษณะที่ตนพอใจจนปราศจากความทุกข์ แต่ว่าอยู่ได้ด้วยอำนาจของการบังคับ. ในกรณีที่เป็นความเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็ข่มทุกขเวทนาไว้ด้วยกำลังจิต มิให้ปรากฏ แม้ความรู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้น ก็ถูกข่มไว้ด้วยอำนาจฌานอย่างเดียวกัน. อย่างนี้เรียกว่าเป็นวิธีเอาตัวรอดจากความทุกข์ได้ด้วยอำนาจของวิริยะ คือการทำการบังคับจิตอันแรงกล้า ซึ่งรวมการบังคับกายอยู่ด้วยในตัว ปรากฏว่ามีอยู่หลายเหล่าหลายลัทธิหลายศาสนา ตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาล และในสมัยพุทธกาล และแม้กระทั่งบัดนี้ก็ยังมีเหลืออยู่. นี่ก็นับว่าเป็นศาสนาประเภทหนึ่ง.
สำหรับศาสนาประเภทที่ ๓ นั้น ทำความพ้นทุกข์ด้วยปัญญา จะต้องมีวิธีการที่เป็นไปในทางของปัญญา ให้เข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่า อะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนจิตเบื่อหน่ายถอยออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นสิ่งใดไว้ด้วยอำนาจอุปาทาน ก็ไม่มีความอยากหรือตัณหาที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ จึงเลยไม่มีทุกข์. วิธีนี้เรียกว่าเป็นการเอาชนะความทุกข์ด้วยกำลังปัญญา เป็นศาสนาประเภทที่ยึดหลักในทางปัญญาเป็นเบื้องหน้า.
ในโลกเราโดยสรุปแล้วมีลัทธิศาสนาซึ่งยึดหลักเป็นที่พึ่งต่างกันเป็น ๓ ประเภทดังนี้. เราผู้จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของเรา เกี่ยวข้องกับผู้เป็นศาสนิกแห่งศาสนานั้น ๆ ซึ่งมีหลักแห่งการยึดต่างกันนั้น อาจจะพลั้งพลาดถึงกับทำสิ่งที่เป็นอคติลงไปได้ ถ้าหากว่าเรายึดแต่เพียงหลักใดหลักหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักของตัวเองอย่างเดียว. การรู้หลักกว้าง ๆ ถึงความแตกต่างระหว่างลัทธิศาสนาว่ามีอยู่อย่างไร แล้วปฏิบัติให้สมกันกับกรณีนั้น ๆ ๆ ให้สำเร็จประโยชน์ได้ทุกเมื่อ จึงเป็นสิ่งที่ท่านผู้เป็นตุลาการจะต้องคำนึงถึง และกำหนดไว้ในฐานะเป็นตัวอย่างสำหรับเทียบเคียง เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้โดยเรียบร้อยบริบูรณ์ และเป็นหลักสำหรับเตือนตนว่า อคตินั้นมีทางมาจากการไม่รู้เท่าถึงการณ์ หรือจากที่เรารู้จักผู้อื่นพวกอื่นน้อยเกินไปได้ไม่น้อยเลย. ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้อง เปิดจิตใจของตนให้กว้าง ด้วยอำนาจความปล่อยความยอมให้แก่ลัทธิศาสนาต่าง ๆ ทั่ว ๆ ไป ตามชั้นตามลำดับแห่งลัทธินั้น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ว่าถ้าเราประมวลสงเคราะห์ ก็ย่อมสงเคราะห์ลงในคำว่า “ธรรม” ได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าศาสนาใด ๆ ในโลกนี้; ฉะนั้นการมีหน้าที่รักษาความเป็นธรรมในโลก ก็ควรจะให้คำว่า ธรรม มีขอบเขตกว้างขวางชนิดที่กล่าวแล้วนั้นด้วย ในหลักเกณฑ์ครบทั้ง ๓ ประการ คือความเชื่อ ความเพียร หรือปัญญา ซึ่งเป็นหลักของศาสนาต่าง ๆ นั้น.
สำหรับพุทธศาสนาเรา อยู่ในพวกอาศัยกำลังปัญญาเป็นเบื้องหน้า สำหรับทำความรอดพ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังมีแบ่งแยกเป็นลัทธินิกายต่าง ๆ กัน. การที่จะถือให้เป็นแบบอย่างแต่อย่างเดียวนั้น ไม่เป็นวิสัยที่จะทำได้ เช่นลัทธิพุทธศาสนาที่เรียกตัวเองว่า เถรวาท หรือที่คนอื่นเรียกว่า หินยาน คือพุทธศาสนาอย่างไทย อย่างลังกา อย่างพม่า เหล่านี้ ตั้งอยู่ในฐานะที่ต่างกันเป็นอันมาก จากอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า มหายาน. สถาบันซึ่งยึดถือกันมั่นคงของฝ่ายเถรวาทนั้นก็คือ การที่ไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้แล้ว. ข้อนี้ตรงกันข้ามจากฝ่ายมหายาน ที่นิยมแก้ไขเปลี่ยนแปลงทันทีที่รู้สึกว่าควรจะปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม. โดยเหตุนี้เอง พุทธศาสนาอย่างเถรวาทจึงยังมีอะไร ๆ คล้ายกับที่เป็นอยู่ในสมัยครั้งพุทธกาลเป็นอย่างมาก, แม้ที่สุดแต่การกินอยู่ นุ่งห่ม และการทำกิจประจำวันก็ยังเหมือนกับเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว. ส่วนฝ่ายมหายานนั้น มีการปรับปรุงกันใหม่ทุกอย่างทุกประการ แม้กระทั่งตัวหลักลัทธิ ดังนี้เป็นต้น. ท่านผู้เป็นตุลาการคงจะมีหน้าที่การงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับนิกายของพระพุทธศาสนาทุก ๆ นิกายอยู่บ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงควรจะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ เป็นการเพิ่มเติมให้เพียงพอ อย่างน้อยที่สุด ก็ควรจะกำหนดจดจำใจความสั้น ๆ ของความแตกต่างระหว่าง เถรวาท กับ มหายาน นี้ไว้.
ตัวอย่างแห่งสถาบันที่ถือกันมั่นคงของฝ่ายเถรวาท นั้น อาตมาจะยกมาเป็นตัวอย่างสักข้อหนึ่ง เช่นในวินัยมีอยู่ว่าจะไม่ยอมบวชคนที่บิดามารดาไม่อนุญาต เขาจะมีอายุเท่าไร เป็นคนอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก็ไม่ยอมบวชให้ ฉะนั้นเราจึงไม่ยอมบวชให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานอะไร อันแสดงว่าบิดามารดาอนุญาต. ครั้นมาถึงสมัยนี้ มีระเบียบอะไรต่าง ๆ ของโลกปัจจุบัน ที่เขาจัดตั้งกันขึ้น อย่างที่เรียกว่า สิทธิสากลของมนุษยชนควรจะทำได้ เช่นเขาเป็นผู้ใหญ่เป็นอิสระแก่ตัวแล้ว เขาจะแต่งงานหรือทำอะไรได้ โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมของบิดามารดา ทั้งชายและหญิงอย่างนี้เป็นต้น. เมื่อเขายกเอาสิทธิสากลของมนุษยชน ซึ่งเป็นที่ลุ่มหลงของคนในสมัยปัจจุบันนี้เป็นอย่างยิ่งชนิดนั้นมาอ้าง มันก็เป็นข้อแก้ตัวให้รอดไปได้. แต่ทางฝ่ายเถรวาทเรายังคงถือตรงตามเดิมทุกประการ เขาจะอ้างสิทธิมนุษยชนอันประเสริฐของเขา ให้คอแห้งแหบอย่างไร เราก็ไม่ยอมจะบวชให้แก่บุคคลที่แม้อายุมากเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว แต่ว่าบิดามารดาไม่ได้อนุญาต ดังนี้เป็นต้น. นี่ก็มีความหมายอยู่ตรงที่ว่า เรายังคงรักษาตัวบทเดิมของพระวินัยหรือของพระพุทธบัญญัติต่าง ๆ ไว้โดยไม่ยอมแตะต้อง. ถ้าข้อใดจะล้าสมัยจะพ้นสมัยไป ก็ปล่อยให้คงล้าสมัยพ้นสมัยปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์นั้น ๆ ไม่ยอมถอนออกและไม่เปลี่ยนแปลง. เมื่อปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่ปฏิบัติ แต่เมื่อยังปฏิบัติได้อยู่ ก็ยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด. หวังว่าท่านที่จะออกไปเป็นตุลาการ คงจะได้เผชิญปัญหาเหล่านี้ข้างหน้า ขอได้เคารพต่อสถาบันของพุทธศาสนาอย่างเถรวาทให้เหมาะสมแก่กรณีด้วย. ส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายมหายานนั้น เชื่อว่าคงจะเป็นการสะดวกสบายกว่า ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่อะไรไปตามที่เห็นสมควร แก่การแก้ไขเปลี่ยนแปลง. เราไม่มีการยึดถือหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ฉะนั้นท่านทั้งหลายจะต้องอาศัยการพินิจพิจารณาที่เหมาะสมแก่กรณี เรียกว่าเป็นการทำให้ถูกให้ตรงตามลัทธินิกายของศาสนานั้น ๆ นับตั้งแต่ศาสนาประเภทใหญ่ ๆ เช่นพวกที่เพ่งศรัทธาเป็นเบื้องหน้า ความเพียรเป็นเบื้องหน้า ปัญญาเป็นเบื้องหน้า และทุก ๆ พวก ก็ยังมีแตกแยกออกเป็นนิกายย่อย ๆ ดังนี้เป็นต้น.


ข้อต่อไปที่อาตมาอยากจะปรับความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับเจตนาของตุลาการ. เจตนาที่จะพิพากษาหรือจะสั่งบังคับคดีต่าง ๆ นั้นเป็นของสำคัญที่จะต้องตั้งไว้ในฐานะเป็นของบริสุทธิ์. นี่เคยมีผู้ถามปัญหาถึงข้อที่ว่า คำพิพากษาสั่งฆ่าคน หรือทำให้คนตกทุกข์ลำบากนั้น จะมีส่วนที่เป็นวิบากกรรม อันจะสนองแก่ผู้เป็นคุลาการด้วยหรือหาไม่. ข้อนี้ อาตมาก็ได้เคยไปบ้างแล้ว และยังอยากจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ต้องถือเอา “เจตนาเป็นตัวกรรม” หรือเป็นใหญ่. เจตนานั้น หมายถึงความรู้สึกนึกคิดหรือความต้องการตามความประสงค์ในการที่จะทำสิ่งใด ๆ ลงไป, ในที่นี้ หมายถึงการที่จะพิพากษาอรรถคดี และสั่งบังคับคดีลงไป. เราต้องประคับประคองเจตนาของเราให้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นเจตนาของปูชนียบุคคลแห่งโลกให้เสมอไป เหมือนดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น. ถ้าเราเป็นผู้บูชาอุดมคติตั้งอยู่ในอุดมคติจริง ๆ แล้ว ไม่ต้องกลัว เจตนานั้นย่อมจะบริสุทธิ์ผุดผ่องเอง และจะเป็นการทำไปด้วยมุ่งรักษาอุดมคติของผู้รักษาความเป็นธรรม หรือผู้คุ้มครองธรรมอยู่ในโลกนี้. การที่จำเลยจะต้องเป็นไปตามกรรม หรือตามบทบัญญัติที่อาศัยกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรม ที่ได้วางกันขึ้นไว้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องรับผิดชอบ. เราจะรับผิดชอบเฉพาะแต่เจตนาในการที่จะรักษาความยุติธรรมโลกแต่อย่างเดียว.
อาตมายังนึกไปถึงว่า แม้แต่ พวกที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการฆ่าคนโดยตรง เช่นพวกเพชฌฆาตเป็นต้น :ถ้าเขามีเจตนาในทำนองที่จะร่วมมือกันรักษาความยุติธรรมของโลกแล้วเขาก็ไม่ต้องรับบาปกรรมที่จะสนองในกรณีว่าเป็นผู้ฆ่าคน. ส่วนเขาจะรับบาปกรรมอันอื่นใดบ้างเป็นพิเศษหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่เรื่องเจตนาฆ่าคนนั้นคงไม่มีแน่ ถ้าหากว่าเขาเป็นผู้มีอุดมคติอย่างที่กล่าวนี้ประจำอยู่ในใจจริง ๆ แม้ที่สุดแต่ทหารที่ถืออาวุธ ที่จะต้องปล่อยอาวุธออกไป เพื่อเจตนาที่จะป้องกันรักษาความยุติธรรมของโลก ก็จะไม่ต้องรับสนองบาปกรรม ในฐานะที่เป็นการฆ่าคน, ถ้าเจตนาไม่มีในการฆ่าคน มีแต่เจตนาที่จะในการที่จะรักษาความยุติของโลกไว้จริง ๆ . เรากลัวอยู่แต่ว่าคนเหล่านั้นจะไม่มีเจตนาเช่นนี้เท่านั้น. แม้ที่สุดแต่บุคคลที่จะต้องป้องกันตัว ในเมื่อมีศัตรูจู่โจมเข้ามาจะทำอันตราย เขาต้องป้องกันตัวโดยไม่มีการคำนึงว่าจะทำให้ฝ่ายโน้นเสียชีวิตหรือไม่. ถ้าหากว่าการป้องกันตัวของเขานั้นทำให้ฝ่ายโน้นเสียชีวิตลงไป โดยบทบัญญัติของกฎหมายก็ไม่ถือว่าเขาฆ่าคนหรือเจตนาจะฆ่าคน. ถ้าหากว่าเขาจะมีโทษบ้าง ก็จะต้องมีโทษเพราะบทบัญญัติอื่น ไม่ใช่บทบัญญัติในเรื่องเจตนาจะฆ่า; หรือเขาอาจจะไม่มีโทษเลยก็ได้ เพราะไม่มีเจตนาจะฆ่าคนดังนี้. ธรรมในทางพุทธศาสนาล้วนแต่ถือหลักอย่างเดียวกันนี้. วินัยเป็นอันมากสำหรับพระภิกษุ ยกเว้นอาบัติโดยสิ้นเชิง แก่ภิกษุผู้ที่ไม่เจตนา แม้ว่าการกระทำนั้นมีผลถึงกับเป็นการทำให้เกิดการเสียชีวิตแก่บุคคลอื่นเหล่านี้เป็นต้น.
เพราะเหตุดังกล่าวมานี้เอง อาตมาจึงขอยืนยันว่า ผู้ที่พยายามรักษาอุดมคติของตุลาการไว้ประจำใจอยู่เสมอนั้น ย่อมจะมีเจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่องในการที่จะรักษาธรรมของโลกไม่มีเจตนาที่จะทำใครให้ลำบากหรือแกล้งทำใครให้เสียชีวิต; และยังจะประกอบไปด้วยพรหมวิหารธรรมข้อสุดท้ายอีกด้วย คือ อุเบกขา มีความวางเฉยในเมื่อช่วยอะไรไม่ได้. ธรรมข้อนี้ท่านก็จัดเป็นพรหมวิหาร คือเป็นคุณสมบัติของพรหมด้วยเหมือนกัน เท่า ๆ กับข้อเมตตา กรุณา มุทิตา แม้ว่าจะเป็นข้ออุเบกขาคือจำเป็นจะต้องวางเฉย ในกรณีที่สัตว์จะต้องเป็นไปตามกรรม. เมื่อประกอบไปด้วยพรหมวิหารธรรมข้อนี้ด้วย และมีอุดมคติแห่งบุคคลผู้รักษาธรรมของโลกด้วย เจตนาของเขาย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีบาป ไม่มีกรรม เพราะการสั่งบังคับคดี ทั้งจะเป็นการตั้งตนอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลของโลกได้ด้วย โดยไม่ต้องสงสัยเลย.


ข้อสุดท้ายเท่าที่เวลายังเหลืออยู่จะอำนวยให้ อาตมาอยากจะแนะให้ตั้ง ข้อสังเกตเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่ง คือบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกัน. เราทุกคนที่อยู่ในโลก ย่อมมีบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกัน อยู่เป็นพวกเป็นหมู่เป็นคณะ. ที่ใกล้ชิดที่สุดก็เรียกว่าครอบครัว. บุคคลเหล่านี้เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย ในการที่จะดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องจัดการแก้ปัญหาเกี่ยวกับบุคคลแวดล้อมนี้ ให้ลุล่วงไปด้วยดีด้วยเหมือนกัน. เราจะพิจารณากันถึงประเภทที่เป็นของจำเป็นก่อน โดยเฉพาะก็คือครอบครัว. ทุกคนจะต้องมีครอบครัว. เพราะการมีครอบครัวเป็นของจำเป็นสำหรับฆราวาส : นี้เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่ว่าฆราวาสจะต้องมีครอบครัว. ผู้ที่เป็นตุลาการจะต้องมีภาระหนัก ที่จะป้องกันไม่ให้เรื่องของครอบครัวเกี่ยวพันถึงการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องมีความสามารถพิเศษ หรือมีอุบายวิเศษซึ่งเป็นคุณธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นทางที่ทำได้ทั้งในทางป้องกันและแก้ไข. ในกรณีที่เป็นการป้องกันนั้น อย่างน้อยเราจะต้องทำให้คนข้างเคียงของเราหรือครอบครัวของเราเป็นผู้ที่ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรมเช่นเดียวกับเรา จึงจำเป็นที่จะต้องถือเป็นหน้าที่ว่าทุกคนจะต้องอบรมครอบครัวของตนให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมอย่างถูกต้องเช่นเดียวกับตน. พ่อบ้านจะต้องมีหน้าที่อบรมคนทุกคนในครอบครัวของตน ให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรม มิฉะนั้นแล้วจะเป็นภัยแก่พ่อบ้านนั้นเอง. สำหรับพ่อบ้านที่เป็นตุลาการด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครอบครัวที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ผู้ที่ยังไม่มีครอบครัวก็ควรจะเลือกเฟ้นให้อย่างดีที่สุด ให้ได้ผู้เข้ามาร่วมครอบครัวนั้น เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม. ผู้ที่ยังไม่มีครอบครัวยังมีโอกาสเลือกได้มาก ไม่ควรเผลอตัวหาคู่ครองตามอารมณ์ตามอำนาจกิเลส แต่จะหาคู่ครองตามอุดมคติของตุลาการ คือจะต้องเป็นผู้มาช่วยกัน หรือร่วมมือกันอำนวยความสะดวก ในการปฏิบัติหน้าที่การงานแห่งการรักษาความเป็นธรรมของโลกให้ลุล่วงไปด้วยดี. สำหรับผู้ที่มีครอบครัวอยู่แล้ว ก็จะต้องถือเป็นภาระหน้าที่อย่างยิ่ง ในการที่จะสนใจพยายามฝึกฝนอบรมครอบครัวของตนให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรม เพื่อจะไม่เกิดเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง หรือถึงกับทำลายการปฏิบัติหน้าที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ของตนเสียในภายหลัง.
แท้ที่จริง เราควรจะถือตรงกันทุกคนว่า การอบรมครอบครัวให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมนั้น เป็นความจำเป็นเท่า ๆ กับการปฏิบัติหน้าที่การงานอื่น ๆ มิฉะนั้นต้องประสบความยุ่งยากหม่นหมอง จนเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นโดยไม่ต้องสงสัย. ครอบครัวของตุลาการ ควรจะตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลระดับหนึ่งไปทั้งครอบครัว เช่นเดียวกับครอบครัวของปูชนียบุคคลอื่น ๆ . โดยเฉพาะในครั้งโบราณ บุคคลจำพวกพราหมณ์ หรือผู้สั่งสอนศีลธรรม ซึ่งเป็นผู้ครองเรือนเหล่านี้ ถ้าเราดูตามหลักเกณฑ์ที่เขาถือกันมาแต่กาลก่อน เขาระมัดระวังคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว ก็ด้วยเหตุนี้เอง : พวกพราหมณ์จะไม่ยอมแต่งงานกับพวกวรรณะอื่น นอกจากที่เป็นพราหมณ์มีคุณสมบัติต่าง ๆ เหมือนกันหรือเข้ากันได้ เพื่อไม่มาเป็นอุปสรรคต่าง ๆ ในการที่บุคคลนั้นจะปฏิบัติหน้าที่เป็นพราหมณ์ หรือเป็นครูบาอาจารย์ของบ้านเมือง. โดยเฉพาะหน้าที่ ที่จะต้องอาศัยบุคคลพิเศษเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการเลือกเฟ้นหรือมีการคบหาสมาคมกันแต่ในบุคคลที่มีอุดมคติตรงกันดังกล่าวแล้ว เราจึงควรนำหลักเกณฑ์อันนี้มาใช้เป็นหลักปฏิบัติ หรือเป็นเครื่องป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดในอนาคตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้.
การที่มีสิ่งแวดล้อมหรือบุคคลแวดล้อมเป็นอุปสรรคเสียเองนั้น ขอให้ถือว่าเป็นโชคร้ายอย่างยิ่ง เป็นอัปมงคลอย่างยิ่ง. พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญการมีมิตรดีไว้อย่างยิ่ง จนถึงกับตรัสว่า การมีมิตรดีนั้นเป็นอะไร ๆ ทั้งหมดของความสำเร็จ. ในเรื่องนี้มีเรื่องเล่าว่า พระอานนท์ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดที่สุดของพระพุทธเจ้า ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เท่าที่ท่านเองได้คำนวณดูรอบคอบทั่วถึงแล้ว รู้สึกว่าการมีเพื่อนดี หรือบุคคลที่แวดล้อมดีนั้น เป็นถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จของมนุษย์เรา. พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียว่า อย่าพูดอย่างนั้น การมีบุคคลแวดล้อมที่ดีนี้เป็นทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นทั้งหมดของความสำเร็จของมนุษย์เรา. ฉะนั้นถ้าหากว่าบรรดาท่านที่เป็นตุลาการ ได้บุคคลข้างเคียงที่แวดล้อมดี หรือถึงกับช่วยกันสงวนศักดิ์ศรีของตุลาการได้ด้วยกันทั้งครอบครัวแล้ว ย่อมจะเป็นการประพฤติธรรมทั้งครอบครัว ย่อมจะเป็นบันไดไปสู่สวรรค์กันทั้งครอบครัว ไม่เป็นการดึงไปสู่นรกทั้งเป็น เหมือนกับที่เราเห็น ๆ กันอยู่ในบางที่บางแห่งเป็นแน่นอน.




ทั้งหมดนี้ เป็นอันว่าเราได้พิจารณากันโดยละเอียดถึงข้อที่ควรสนใจและระมัดระวังเกี่ยวกับการเป็นตุลาการในอนาคต ในข้อที่ว่าเราจะต้องประพฤติธรรมประจำหน้าที่ของเรา; และต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาต่าง ๆ อย่างปลอดภัย : เราจะต้องตั้งตนให้อยู่ในฐานะเป็นคนของโลก คือผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมของโลก ไม่เลือกที่รักมักที่ชังในระหว่างบุคคล หรือแม้ในระหว่างชาติระหว่างประเทศ หรือแม้ในระหว่างโลกด้วยซ้ำไป ถ้าหากคดีจะเกิดขึ้นได้ระหว่างโลกมนุษย์กับโลกเทวดาเป็นต้น; เพราะคำว่า “ธรรม” นั้น ไม่มีชาติ ไม่มีเชื้อชาติ เป็นของสิ่งเดียวกันในทุก ๆ โลก : และเราจะต้องยึดถืออุดมคติที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ ย่อมอยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งของโลก อยู่ในประเภทที่เรียกว่าปูชนียบุคคลของโลก, เมื่อผู้ใดสมัครเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ ก็จะต้องถืออุดมคติอันนี้ จึงจะราบรื่น หรือได้รับผลจากหน้าที่อันนี้ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการฝืนหรือขบถต่อหน้าที่โดยชื่นตา หรือโดยเราไม่รู้สึกตัวก็ตามที, ผลสุดท้ายก็จะนำความยุ่งยากลำบากมาให้ ตรงกันข้ามจากที่ได้ทำให้ตรงกับอุดมคติ ซึ่งเรากลับจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เป็นการดีกว่าหรือได้เปรียบกว่ามนุษย์อีกหลายประเภทจำนวนมากทีเดียว. เราควรถือเอาโอกาสที่เราได้โอกาส ในการทำตนเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมของโลก ที่เขายกขึ้นเป็นปูชนียบุคคลของโลกประเภทหนึ่งนี้ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปด้วยดี โดยอาศัยหลักแห่งพุทธธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นมูลฐาน ทำการชนะตนเองให้ได้โดยเด็ดขาดก่อนแล้ว มีจิตใจที่เกลี้ยงเกลาจากอคติทั้งปวง ทำการวินิจฉัยอรรถคดี และสั่งบังคับคดีไปตามที่ธรรมจะชี้ช่องให้ หรือตามที่ธรรมจะชี้ชวนไป จนประสบกับความดีงาม ความเจริญ สมตามความมุ่งหมายของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ที่ว่าเกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารนี้ ก็เพื่อจะศึกษาสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จนรู้แจ่มแจ้ง สามารถถอนตนออกมาเสียได้จากความทุกข์ในวัฏฏสงสารด้วยกันทุกคน. เราเสียอีกที่ตั้งตนอยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้นจะต้องรับภาระมากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง สำหรับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นธรรม ให้ประกอบด้วยธรรม เพื่อบุคคลอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สมตามที่เขาจัดบุคคลประเภทนี้ไว้ ว่าเป็นที่พึ่งของโลก และเป็นปูชนียบุคคลของโลก ทุก ๆ ประการ.
อาตมาของยุติการบรรยายในวันนี้ เพราะหมดเวลาเพียงเท่า
ไฟล์แนบ
download.jpg
download.jpg (9.94 KiB) เข้าดูแล้ว 1758 ครั้ง
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

..จากใจ จกขท. ก่อนเปิดกระทู้นี้ คิดว่า าจะนำมาให้อ่านทีละย่อหน้า สองย่อหน้า สามย่อหน้า แต่เมื่อผ่านบทที่ ๓ ไปแล้ว ปรากฏว่า วันข้างหน้าจะไม่มีเวลาทำ เพราะต้องไปทำอย่างอื่น จึงขอรวบรัดโพสท์ให้จบไปตามข้างต้นนั้นแล้วเสียเลย

..หวังว่า อาจเป็นประโยชน์กับท่านผู้ที่เข้ามาอ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย นะครับ ขอธรรมะจงอยู่ในใจท่าน ไว้ประพฤติ ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต "ไม่ทุกข์" ตลอดไป สาธุ..
ไฟล์แนบ
14591881_1203513749706729_3223523509370052152_n.jpg
14591881_1203513749706729_3223523509370052152_n.jpg (64.87 KiB) เข้าดูแล้ว 1758 ครั้ง
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
Deang-sarapee
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 4352
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ย. 2011, 13:48
Tel: 0814730594
team: รักรถรักธรรม
Bike: Trex,Bridgestone,Jagoa,Specailize
ตำแหน่ง: ๑๓ ม.๑๐ บ้านปากกอง ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๔๐

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย Deang-sarapee »

ลุงเนตร เขียน:..จากใจ จกขท. ก่อนเปิดกระทู้นี้ คิดว่า าจะนำมาให้อ่านทีละย่อหน้า สองย่อหน้า สามย่อหน้า แต่เมื่อผ่านบทที่ ๓ ไปแล้ว ปรากฏว่า วันข้างหน้าจะไม่มีเวลาทำ เพราะต้องไปทำอย่างอื่น จึงขอรวบรัดโพสท์ให้จบไปตามข้างต้นนั้นแล้วเสียเลย

..หวังว่า อาจเป็นประโยชน์กับท่านผู้ที่เข้ามาอ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย นะครับ ขอธรรมะจงอยู่ในใจท่าน ไว้ประพฤติ ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต "ไม่ทุกข์" ตลอดไป สาธุ..
:) :D :) อรุณสวัสดิ์ครับ พี่เนตรที่เคารพ ผมพอมีแรงและกำลังใจฟื้นกลับคืนมาแล้ว หลังจากที่ปล่อยให้ความโศรกร่ำไรรำพันมันโหมกระหน่ำจิตใจเกือบเดือน อารมณ์นี้ใครที่ไม่มีประสบการณ์และเคยอยู่ในเหตุการณ์ยากจะเข้าใจ ผมเห็นแค่ภาพพระองค์ท่านน้ำตามันไหลออกมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ใจไม่ได้คิดอะไร (แปลกมาก)ถ้าผมบอกผมไม่ได้ร้องไห้ ทุกคนก็จะหัวเราะและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่จริง" มาทราบตอนหลังที่เพื่อนหมอมันบอกผมว่านี่เป็นอาการของโรคซึมเศร้า ผม งง เฮ้ย..ได้ไง ผมประพฤติปฏิบัติธรรมมาแบบอุกฤตทำไม่โรคนี้มันเข้ามาได้ มันคงเป็น Automatic มั๊งครับ โอเค..อย่าไปใส่ใจ

มาที่เรื่องธรรมะที่พี่นำมาบอกกล่าว ผมเห็นว่าคงมีน้อยคนที่จะมีบารมีศึกษาให้เข้าใจตามเจตนา ผมศึกษาเรื่องนี้นับ ๑๐ ปีจึงจะเข้าถึง เข้าใจ และทราบซึ้ง ผมเสนอคุณพี่ว่าหลังจากนี้ ให้พี่ทบทวนและหาจุดเด่น ๆ ของเรื่องไปตามลำดับ แล้วนำมาเสนอแบบสั้น ๆ ตามที่พี่เข้าใจ ไปทีละตอน ๆ พี่ไม่ต้องคิดถึงว่าจะเอาให้จบ ขอให้คิดถึงความที่คนจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตจริง ๆ แค่นี้ก็เพียงพอ ไม่จบก็แล้วไปเขารัก เขาชอบ ให้เขาไปต่อยอดเอา แบบนี้น่าจะดี สรุปว่าต่อแต่นี้ไปพี่คงต้องเข้ากระทู้นี้ตลอดไป เพื่อสร้างบุญบารมี(ให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง) หากสิ้นบุญหมดบุญได้แค่ไหนก็จบแค่นั้น แต่ช่วงนี้พี่ยังมีไฟอย่าพึ่งจบนะครับขอให้พี่ได้ ทบทวนแล้วเสนอใหม่อีกครับ

สุดแล้วแต่พี่จะพิจารณานะครับ :) :D
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=72&t=890159
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=188&t=745024
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

..เห็นด้วยกับความเห็นของน้องแดงครับ.
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
Deang-sarapee
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 4352
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ย. 2011, 13:48
Tel: 0814730594
team: รักรถรักธรรม
Bike: Trex,Bridgestone,Jagoa,Specailize
ตำแหน่ง: ๑๓ ม.๑๐ บ้านปากกอง ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๔๐

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย Deang-sarapee »

ลุงเนตร เขียน:..เห็นด้วยกับความเห็นของน้องแดงครับ.
รูปภาพรูปภาพ

:idea: :idea: เมื่อศึกษา "คู่มือมนุษย์" แล้วก็มีหนังสืออีกหนึ่งเล่มคือ "คนคืออะไร" ที่ควรเข้าไปศึกษาเพื่อนำมาเสริม เปรียบเทียบ จะยิ่งได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากครับ ทั้งสองเล่มมีมุมมองที่ครอบคลุมชีวิตของคนเรา ให้นำไปสู่ความดี ความสุขอย่าง แท้จริงได้ หลวงปู่พุทธทาสได้พูดไว้ชัดเจน แง่มุมของการมองพระพุทธศาสนา สามารถมองได้ในหลาย ๆ มุม เช่น มุมวิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยา ศิลปะ ฯ ซึ่งมุมมองของ ศิลปะนี้ ทั้งสองเล่มได้อธิบายแง่มุมที่น่าสนใจไว้

เราทะเลาะกันเพราะมุมมอง ของแต่ละคนที่มองไม่เหมือนกัน เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งมองเป็นศิลปะ อีกคนมองเป็นปรัชญา อีกคนมองเป็นโลกุตตระ แบบนี้แล้วไม่ยอมกันเพราะไม่เข้าใจ ในแง่มุมมอง มันเลยทะเลาะกันยังไม่พอยังอ้างอีกว่า ของ ๆ ตนคือศาสนาเป็นต้น พระพุทธศาสนาไม่เสื่อมหรอกครับ แต่คนเสื่อมเพราะเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา โชคดีที่เรามีปราชญ์ในแผ่นดินหลาย ๆ ท่าน เพียงแต่เราจะเปิดใจเข้าไปศึกษาหาแก่นแท้ของ พระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็เท่านั้นเอง ขอบคุณมากครับพี่ :idea: :idea:
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=72&t=890159
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=188&t=745024
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

Deang-sarapee เขียน:
ลุงเนตร เขียน:..เห็นด้วยกับความเห็นของน้องแดงครับ.
รูปภาพรูปภาพ

:idea: :idea: เมื่อศึกษา "คู่มือมนุษย์" แล้วก็มีหนังสืออีกหนึ่งเล่มคือ "คนคืออะไร" ที่ควรเข้าไปศึกษาเพื่อนำมาเสริม เปรียบเทียบ จะยิ่งได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากครับ ทั้งสองเล่มมีมุมมองที่ครอบคลุมชีวิตของคนเรา ให้นำไปสู่ความดี ความสุขอย่าง แท้จริงได้ หลวงปู่พุทธทาสได้พูดไว้ชัดเจน แง่มุมของการมองพระพุทธศาสนา สามารถมองได้ในหลาย ๆ มุม เช่น มุมวิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยา ศิลปะ ฯ ซึ่งมุมมองของ ศิลปะนี้ ทั้งสองเล่มได้อธิบายแง่มุมที่น่าสนใจไว้

เราทะเลาะกันเพราะมุมมอง ของแต่ละคนที่มองไม่เหมือนกัน เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งมองเป็นศิลปะ อีกคนมองเป็นปรัชญา อีกคนมองเป็นโลกุตตระ แบบนี้แล้วไม่ยอมกันเพราะไม่เข้าใจ ในแง่มุมมอง มันเลยทะเลาะกันยังไม่พอยังอ้างอีกว่า ของ ๆ ตนคือศาสนาเป็นต้น พระพุทธศาสนาไม่เสื่อมหรอกครับ แต่คนเสื่อมเพราะเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา โชคดีที่เรามีปราชญ์ในแผ่นดินหลาย ๆ ท่าน เพียงแต่เราจะเปิดใจเข้าไปศึกษาหาแก่นแท้ของ พระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็เท่านั้นเอง ขอบคุณมากครับพี่ :idea: :idea:
..ครับ..

..พี่เคยคิดว่า คนเราทุกคน ถ้าเพียงประพฤติปฏิบัติตามศีล ๕ ก็อยู่กันได้ด้วยดีแล้ว แต่จะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็ควรทราบและปฏิบัติตามสาระสำคัญที่มีอยู่ใน "คู่มือมนุษย์" ด้วย การเป็นอยู่ของ "คน" นั้น ๆ ก็จะยิ่งดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง..
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: "..."คู่มือมนุษย์ ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ"..ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ..ธรรมะกลับมา โลกาไม่พินาศ."

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

"..เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?.." (ไปพบมาจากเฟสบุ๊ค)

..เมื่อเกิดมาแล้ว มีชีวิตอยู่ ก็มาเจอกับคำถามนี้อีก แล้วจะว่าอย่างไรกันรึ?

..คำนิยามของผม "เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? ตอบได้มากมาย สุดแต่ละคนคิดได้ ที่แน่ๆ เพื่อพบวัน "ตาย" ระหว่างมีชีวิต บางคนไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่อย่างไร? บางคนสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่อย่างไร จึงไม่ทุกข์ (นั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน ไม่ปั่นจักรยานซิ่ง ก็แก่ ตาย เหมือนกันแล)"

..ไปดูในกูเกิร์ล ได้มา..http://pantip.com/topic/32449400 และ http://pantip.com/topic/31473176 และ http://www.dhammahome.com/webboard/topic19655.html และ https://sites.google.com/site/enzymeclear/About-Life/1 และhttp://www.thairath.co.th/content/373104 และ https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%9 ... 684347170/
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
ตอบกลับ

กลับไปยัง “คุยนอกเรื่องใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับจักรยาน”