บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

ห้องนี้เทียบได้กับ "ห้องนั่งเล่น" ในกระดานเดิมนะครับ
ตอบกลับ
รูปประจำตัวสมาชิก
TCC
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 18
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ย. 2015, 09:55

บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

โพสต์ โดย TCC »

บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

ผู้อ่านที่ติดตามอ่าน ‘ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย’ และ ‘ไก่สามอย่าง’ ของผมมาแล้วก็จะรู้ว่าผมได้ลงแข่งไตรกีฬาที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 ในไทยที่พัทยา และจัดโดยสมาคมไตรกีฬาสมัครเล่นของญี่ปุ่นที่อยากมาจัดงานนี้ที่เมืองไทย ซึ่งรู้สึกมาจัดหนเดียวแล้วหายไปเลย ไม่รู้ว่าเข็ดหรือไปหาที่แข่งที่ประเทศอื่นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือหาสปอนเซอร์ไม่ได้ก็ไม่รู้

และผู้อ่านกลุ่มนี้ก็คงรู้อีกเช่นกันว่าผมได้ผลการแข่งขันเป็น DNF คือ Did Not Finish หรือแข่งไม่จบ ซึ่งที่แข่งไม่จบไม่ใช่เพราะไม่มีแรง แต่เป็นเพราะดันไปยางแตกเมื่อขี่ไปได้ 19.5 กิโลเมตร และไม่มียางอะไหล่และสูบติดตัวไปด้วย จึงต้องออกจากการแข่งขัน

ระหว่างที่เดินจูงจักรยานกลับไปจุดบริเวณจัดงาน ซึ่งห่างออกไปอีก 20 กิโล ท่ามกลางแดดเปรี้ยง มีรถกรรมการผ่านมา ผมจึงได้โบกรถขอขึ้นกลับไปด้วย พอไปถึงจุดเปลี่ยนผ่านประเภทกีฬาหรือ transition zone เห็นนักแข่งคนอื่นที่เข้ามาและลงจักรยานและออกไปวิ่ง ใจมันอดไม่ได้ ผมเลยออกวิ่งตามเขาไปเพื่อเอาความสนุกเพราะจริงๆผมต้องออกจากการแข่งขันไปแล้ว และพอวิ่งเข้าเส้นชัยใช้เวลาไป 42:59 นาที กรรมการญี่ปุ่นโดดเข้ามาข้างๆแล้วประกาศเบอร์ผมให้กรรมการจับเวลาจดเวลาเข้าเส้นชัยของผม ผมต้องรีบเอามือขยุ้มเบอร์ที่หน้าอก แล้วบอกว่าผม out of competition หรือออกจากการแข่งขันไปแล้ว ผลการแข่งขันของผมจึงออกมาเป็น DNF อย่างที่บอก

และก็อย่างที่บอกไว้ในบทความแรกว่า ผมกินกล้วยไป 2 ลูกเล็กๆตอนขึ้นจากน้ำ และอีก 3 ลูกเล็กๆตอนขี่จักรยานไปได้สิบกว่าโล กะจะเอาเป็นพลังงานไว้ใช้ตอนวิ่ง แต่ผลกลับไม่ใช่อย่างนั้น ผมเกิดอาการจุกจนต้องเดินอยู่ช่วงหนึ่ง และทำให้เวลาวิ่งช้าไปกว่าที่ควรหลายนาทีอยู่

นอกจากนี้ก่อนการแข่งขันผมต้องการทำเวลาให้ดีๆ จึงวางแผนใช้เวลาในการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้น้อยที่สุด โดยสวมกางเกงจักรยานทับไปบนกางเกงว่ายน้ำตอนขี่จักรยาน ซึ่งคิดเอาเองว่ามันน่าจะดีเพราะประหยัดเวลาที่จะเปลี่ยนกางเกงได้ และพอขี่จักรยานกลับมาถึงจุดวิ่งก็ถอดกางเกงจักรยานออกแล้วสวมกางเกงวิ่งทับกางเกงว่ายน้ำไปอีกที ปรากฏว่าตอนวิ่งสายเชือกกางเกงว่ายน้ำที่มันรัดรูปมากกว่ากางเกงแบบอื่น(เพื่อไม่ให้ต้านน้ำ)จึงรัดเอวแน่นไป ยิ่งทำให้จุกเข้าไปอีก
คราวหน้า(ถ้ามี)จึงเรียนรู้ว่า สงสัยต้องใช้ผ้าขาวม้ามานุ่งตอนเปลี่ยนกางเกงจากกางเกงว่ายน้ำเป็นกางเกงจักรยาน และจากกางเกงจักรยานมาเป็นกางเกงวิ่ง ซึ่งหลังจากนั้นผมก็ได้ทำแบบนี้มาตลอดที่ลงแข่งไตรกีฬาต่อมาอีกเกือบสิบครั้ง และเรียนรู้ด้วยว่าต้องไม่กินมากไป แม้จะมีเวลาให้ย่อยก่อนวิ่ง(ซึ่งเป็นกีฬาที่จุกง่ายที่สุด)ก็ตาม

อ่านมาถึงตรงนี้นักไตรกีฬาปัจจุบันคงสงสัยว่าทำไมต้องผลัดผ้าขาวม้า และทำไมต้องเปลี่ยนชุด ทำไมไม่ใส่ชุดไตรกีฬาที่ใช้ลงแข่งได้ทั้ง 3 ประเภทกีฬาเลย ก็คงต้องขอตอบว่าไอ้ชุดไตรกีฬาอย่างที่ว่าสมัยโน้นไม่มีครับ ขนาดแชมป์โลกยังไม่มีเลยครับ

หากมีคนถามว่าที่เขียนมานี้จำได้หมดได้ไง มีข้อมูลละเอียดยิบเป็นนาที ก็คงต้องตอบว่าจำไม่ได้หรอกครับ นี่โชคดีที่ไปค้นสมุดบันทึกการซ้อมวิ่ง ซ้อมว่ายน้ำ ซ้อมจักรยานของผม ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึง 2558 นี่ก็ 29 ปีเข้าไปแล้ว และทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เลย จึงอยากจะแนะนำเพื่อนที่ออกกำลังกายเป็นประจำให้ลองจดบันทึกดู เวลาผ่านไปนานๆแล้วหยิบมาอ่านจะได้ความรู้สึกเก่าๆดีทีเดียว

ย้อนกลับมาเรื่อง‘ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย’ที่ตั้งใจจะเขียนวันนี้ แต่ดันออกนอกเรื่องไปเสียไกล

จากการที่ผมได้ DNF นี่แหละที่มันคาใจผมอยู่ตลอด หลังจากที่ญี่ปุ่นจัดไตรกีฬาแรกของไทยเสร็จในปี 2530 ผมก็คอยเฝ้าดูประกาศข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตามเว็บไซต์ เอ๊ย! ‘โทษที! ตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ตามประกาศของ ททท. ฯลฯ ว่าคุณยุ่นจะกลับมาจัดอีกเมื่อไหร่ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีวี่แววว่าพี่ยุ่นจะกลับมา ถ้ามัน(ตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นเรียกพวกเขาว่ามันแล้วนะ โปรดสังเกต)ไม่กลับมาแล้วชาตินี้ผมจะปลดไอ้ DNF ที่เป็นตราบาปของผมได้ไง
หงุดหงิดและหันรีหันขวางได้ไม่นาน ก็เกิดไอเดียผุดขึ้นในสมองอย่างปัจจุบันทันด่วน
‘จัดเองสิวะ’ผมคิด

เพราะประสบการณ์การจัดแข่งวิ่งการกุศลของผมก็ทำมาแล้วหลายครั้งหลายสนาม ยิ่งใหญ่ขนาดเคยเป็นผู้อำนวยการควบคุมการแข่งขัน หรือ Race Director (ไม่ใช่กรรมการอำนวยการการแข่งขันนะครับ อันนั้นใหญ่กว่า) ของสะพานลอยฟ้ามาราธอนที่มีคนวิ่งเป็นแสนมาแล้ว คนมาร่วมงานมากขนาดนักวิ่งคนแรกเข้าเส้นชัยแล้วคนสุดท้ายยังไม่ได้ออกจากจุดสตาร์ทเลยก็แล้วกัน คิดดูว่าคนมากขนาดไหน และจัดการยากขนาดไหน งานนี้จึงน่าจะจัดได้น่า

เอาละวะ เมื่อคิดจะจัด และ(แอบ)คิดว่าจะลงแข่งกับเขาด้วย จะเป็นทั้ง Race Director และเป็นทั้ง Competitor นี่ละวะ ก็เริ่มวางแผน

พอเริ่มวางแผน ก็หยุดกึกติดกักทันที จะไปไงต่อล่ะหว่า เงินทุนก็ไม่มี คนช่วยก็ไม่มี ทีมงานก็ไม่มี ความรู้ในการจัดก็ไม่มี คนจะมากี่คนก็ไม่รู้ ที่แขวนจักรยานรูปร่างหน้าตาและขนาดท่อแขวนเป็นไง สูงเท่าไร ก็ไม่ได้จำเอาไว้จากตอนที่ญี่ปุ่นมาจัดแข่ง (ก็ไม่รู้นี่หว่าว่าตัวเองต้องมาจัดเอง จึงไม่ได้ใส่ใจจำ) จะไปจัดที่ไหนก็ไม่รู้ จะจัดที่ทะเลก็ดูปูมน้ำไม่เป็นว่าวันไหนเวลาใดจึงจะจัดแข่งได้ดีที่สุด จะจัดในน้ำจืดก็มองไม่เห็นว่าจะไปจัดที่ไหน แม่น้ำเจ้าพระยาไม่กล้าไปจัดแน่ๆเพราะมีอะไรที่ควบคุมจัดการไม่ได้เยอะแยะ น้ำสกปรกหรือเปล่าก็ไม่รู้ โอ๊ย...อีกมากมายที่ต้องขบคิดและหาทางแก้ไข

โชคดีที่ตอนนั้นผมสนิทกับทีมงานสปอร์ตเอซซึ่งเป็นบริษัทขายรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาไนกี้ทุกชนิด จึงเดินหน้าเข้าไปหาผู้บริหารและขอทุนมาจัดงานแบบดื้อๆ และเขาก็ดีใจหายตอบตกลงมาแบบง่ายๆเหมือนกัน

จากนั้นผมก็เดินสายคุยกับสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (สมัยก่อนมีคำว่า‘สมัครเล่น’ทุกสมาคมเพราะนักกีฬาเป็นนักกีฬาสมัครเล่นจริงๆ) ซึ่งก็โชคดีอีกที่ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากทั้งสี่สมาคม กรรมการที่ลงมาเล่นสนุกกับงานครั้งนี้อย่างจริงจังมีอยู่สองท่านที่ผมต้องขอเอ่ยนามไว้ คือ อาจารย์เสรี ไตรรัตน์ ผู้คร่ำหวอดกับวงการและสมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และ พ.ต.อ.ศิโรจน์ เพียรสกุล จากสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

จากนั้นก็มาถึงเรื่องหาสถานที่จัด ผมไม่กล้าไปจัดในทะเลเพราะไม่มีประสบการณ์ในการจัดไตรกีฬาเลย จึงอยากจะให้ตัวเองสบายใจหน่อย กะจะไปจัดในแหล่งน้ำปิด เช่น ทะเลสาบที่ไหนสักแห่ง แต่ต้องไม่ไกลจากกรุงเทพนัก เพราะไม่เช่นนั้นค่าโสหุ้ยจะสูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายของนักกีฬาจะมากตามไปด้วย อย่างที่บอกไว้น่ะครับ จะมีมากี่คนยังไม่รู้เลย ถ้าไปจัดไกลๆแล้วมีคนมาร่วมแค่ 20 คน มันคงจืดสนิทไม่มีน้ำปลาเลยแน่ๆ

ก็โชคดีอีกนั่นแหละ ไปรู้จักนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ลูกชายเขารู้จักลูกสาวเจ้าของโครงการเมืองทองธานี ที่มีทะเลสาบน้ำใสแจ๋วอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพมากนัก (แต่ตอนนั้นที่นั่นก็นับได้ว่า‘บ้านนอก’มากเลยนะครับ ไปมาทีนึงไม่ใช่ง่ายๆ ขนาดว่าแท็กซี่ไม่ค่อยยอมไปก็แล้วกันละ) รวมทั้งการจราจรไม่มาก และเจ้าของเขายอมให้ใช้สถานที่ เอาลานที่จอดรถริมทะเลสาบ มากางเต็นท์เป็นสถานที่อำนวยการ แล้วเอาเขตเปลี่ยนผ่านชนิดกีฬาหรือ transition zone ไว้บริเวณลานจอดรถเดียวกันนั่นแหละ สะดวกดี

ทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็มาถึงอีกปัญหาใหญ่ คือ แล้วจะลงไปวัดระยะทางในน้ำได้ไงวะ คิดไม่ออก สุดท้ายผมต้องเอาลูกศิษย์วิศวฯสำรวจจากจุฬาฯ เอากล้องทีโอโดไลท์ไปส่องวัดและคำนวณออกมาเป็นระยะทาง แต่พอรู้จุดประมาณว่าโป๊ะควรต้องอยู่ตรงไหนก็มามีปัญหาอีกว่า พอเอาโป๊ะลงน้ำแล้วก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้แล้ว แล้วจะรู้ได้ไงว่าโป๊ะมันอยู่ตรงจุดที่ที่ต้องการ สมัยก่อน GPS ก็ยังไม่มี สุดท้ายเปลี่ยนใจหันมาเอาเชือกมาวัดบนบกตามความยาวที่ต้องการ แล้วเอาเรือลากไปให้ตึง เพื่อจะกำหนดจุดวางโป๊ะ ไอ้เชือกเจ้ากรรมดันมายืดเมื่อโดนน้ำ แถมเวลาจะตรึงโป๊ะให้อยู่กับที่ที่ต้องการ มันก็ไม่ง่ายเหมือนเขียนในกระดาษ เพราะต้องทิ้งสมอลงไปเกาะพื้นดินใต้น้ำเพื่อยึดโป๊ะ ซึ่งมันก็ไม่ง่ายดังใจนึกอีกนั่นแหละ

ผมจะไม่บอกหรอกนะครับว่าสุดท้ายทำอย่างไร แต่เพียงแต่อยากจะบอกว่าการเข้ามาจัดไตรกีฬาเป็นคนแรกของประเทศนั่น ไม่ง่ายเลยครับ

อย่างไรก็ตาม ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้แบก สุดท้ายเราก็จัดมันจนได้ในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2531 ด้วยระยะทางว่ายน้ำ 1,000 เมตร จักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่ง 11.4 กิโลเมตร ถามว่าทำไมไม่วิ่ง 10 กิโลเมตรตามระยะทางมาตรฐาน คำตอบคือถนนที่เราจัดให้วิ่งเป็นวง loop มันกำหนดให้ต้องเป็นเช่นนั้น หากเปลี่ยนเส้นทางมันก็จะเหลือ 7-8 กิโลเมตร หรือไม่ก็ไปถึง 15 กิโลกว่าไปโน่น ซึ่งดูแล้วคงไม่เหมาะ และในสมัยโน้นคนเล่นไตรกีฬาร้อยละ 90 เป็นนักวิ่งมาก่อน การเพิ่มระยะทางวิ่งอีกเล็กน้อยคงไม่มีใครบ่น ผมแอบนึกแบบเข้าข้างตัวเองนิดหน่อย (ฮา)

และแล้วผมก็ได้เป็นทั้งประธานฝ่ายควบคุมการแข่งขัน และผู้ลงแข่งขันในไตรกีฬาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยคนไทย และได้เข้าเส้นชัยด้วยเวลาดีพอตัว คือ 2 ชั่วโมง 50 นาที ส่วนรูปประกาศนียบัตรเข้าเส้นชัยของผมหาไม่เจอ เลยเอาของ นพ.กฤษฎา บานชื่น มาให้ดูเล่น ซึ่งจะเห็นชื่อผมลงนามกำกับคู่กับ พล.ท.วัฒนชัย วุฒิศิริ ประธานกรรมการจัดการแข่งขัน และ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิช ประธานกรรมการอำนวยการการแข่งขัน ด้วย

เย้ ... ปลด DNF ออกจากหัวใจกลัดหนองได้แล้วครับ ... ไชโย้

ธงชัย พรรณสวัสดิ์
เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2558

ลิงค์บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (1/3) : ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... #p13006490

ลิงค์บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (2/3) : ไก่สามอย่าง
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... &t=1509837
ไฟล์แนบ
3.png
3.png (530.53 KiB) เข้าดูแล้ว 3202 ครั้ง
บรรยากาศมาราธอนลอยฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มีคนมาร่วมแสนกว่าคน<br />Cr. ขอบคุณเจ้าของภาพ NEWS Lifestyle
บรรยากาศมาราธอนลอยฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มีคนมาร่วมแสนกว่าคน
Cr. ขอบคุณเจ้าของภาพ NEWS Lifestyle
Royal Marathon 1987 (2530) TP race director.png (721.55 KiB) เข้าดูแล้ว 3202 ครั้ง
รูปประจำตัวสมาชิก
ลุงเนตร
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 19852
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 19:20
Tel: 0898133936
team: อิสระ
Bike: Trek 3900, Dark Rock ทัวร์ริ่ง
ตำแหน่ง: ๔๖๕ ซอยจ่าโสด ถนนทางรถไฟเก่า แขวง,เขตบางนา กทม.๑๐๒๖๐
ติดต่อ:

Re: บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

โพสต์ โดย ลุงเนตร »

"..สวัสดีครับอาจารย์ ผมผ่านมาเห็นกระทู้นี้ เข้ามาอ่าน นึกว่าใคร TCC ดูที่ใต้ภาพเห็นวันที่ ๓๐ ก.ย.๒๐๑๖ นำมาลงใหม่หรือครับ เมื่อไตรกีฬาครั้งแรกที่ญี่ปุ่นมาจัด ผมไม่ทราบข่าว ครั้งจัดที่เมืองทองธานี ผมปั่นจักรยานจากบ้านโพธิ์สามต้น ฝั่งธน ไปดู สร้างแรงบรรดาลใจ พอแข่งเสร็จลมพายุมา เต๊นท์ลอย ผมปั่นกลับบ้าน หลังจากนั้นผมก็เริ่มซ้อมว่ายน้ำ และในปีต่อมา ปีไหนไม่ทราบ ผมก็ได้ไปร่วมเล่นไตรกีฬา ระยะโอลิมปิค ที่พัทยา เป็นสนามแรก ไม่ได้จดไว้เลยครับ. และท้ายที่สุดเมื่อปี ๒๕๔๔ (อายุ ๕๘) ทนายวิจิตร เป็นนายกสมาคมไตรกีฬา จัดระยะ IRON MAN ที่ระยอง เก็บค่าสมัครคนละ ๒๕๐๐.- บาท ผมสมัครร่วมลงแข่งขันด้วย ไม่ได้ซ้อมจริงจัง โดยคิดว่าเล่นได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น กติกาให้เวลา ๒๔ ชั่วโมง ผมเล่นผ่านในเวลา ๒๕.๓๐ ช.ม. ได้โล่ห์เป็นที่ระลึกและเตือนความจำ มาตั้งไว้ดูเล่น ต่อจากนั้นก็ถึงจุดอิ่มตัว ไม่ค่อยได้ลงเล่นแล้ว ก็เท่านั้นครับ.."
ไฟล์แนบ
141790-23.jpg
141790-23.jpg (34.02 KiB) เข้าดูแล้ว 3176 ครั้ง
20161013_212923.jpg
20161013_212923.jpg (111.62 KiB) เข้าดูแล้ว 3176 ครั้ง
*..ยิ่งปั่น..ยิ่งแข็ง..แรงยิ่งดี..โรคไม่ค่อยมี..ไม่ทุกข์..*
รูปประจำตัวสมาชิก
วันชัย คำแพง
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 1666
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ส.ค. 2008, 07:13
Tel: 0626825062
team: ชมรมวิ่ง พิทักษืหัวหิน
Bike: เหล็กตราหมากลุ๊ก หนักโคตรแต่ทน

Re: บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

โพสต์ โดย วันชัย คำแพง »

สุดยอดครับลุง อ่านแล้วคึก
รูปประจำตัวสมาชิก
Phakorn_Ann
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 34
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 มี.ค. 2019, 15:16
Tel: 0904414941

Re: บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (3/3) : ไตรกีฬาแรกที่จัดโดยคนไทย

โพสต์ โดย Phakorn_Ann »

ขอบคุณมากครับได้ความรู้เพิ่มอีกครับ
ตอบกลับ

กลับไปยัง “คุยนอกเรื่องใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับจักรยาน”