บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (1/3) : ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย

ห้องนี้เทียบได้กับ "ห้องนั่งเล่น" ในกระดานเดิมนะครับ
ตอบกลับ
รูปประจำตัวสมาชิก
TCC
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 18
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ย. 2015, 09:55

บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (1/3) : ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย

โพสต์ โดย TCC »

ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย

ย้อนเวลากลับไปถึงปี 2530 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้ว ตอนนั้นคนไทยยังไม่ได้ฮิตเรื่องการออกกำลังเหมือนสมัยนี้ แต่ก็ไม่ใช่เพียงเฉพาะคนไทยหรอก ทั่วโลกก็คงไม่ต่างจากนี้กันเท่าไรนัก คือคนที่มาออกกำลังกายโดยการวิ่งพอมีให้เห็นบ้าง แต่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะวิ่งตามสวนสาธารณะซึ่งก็พอทำเนา แต่บางคนเล่นออกมาซ้อมวิ่งข้างถนนหลวงซึ่งคนสมัยโน้นมองแล้วจะนึกว่าไอ้หมอนี่ถ้าไม่บ้าก็วิ่งแก้บน

ดังนั้นพอพูดถึงไตรกีฬาอันเป็นที่รวมของกีฬาแห่งความอึด 3 อย่างมาไว้รวมกัน คือ ว่ายน้ำระยะไกล จักรยานทางไกล และวิ่งทางไกล คนไทยจะไม่รู้จัก ซึ่งการไม่รู้จักนี้รวมไปถึงผู้สื่อข่าวกีฬา ที่เรียกกีฬา triathlon นี้อย่างผิดๆว่า‘ไตรธาลอน’ด้วยซ้ำ

ไตรกีฬาในไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสมาคมไตรกีฬาสมัครเล่นของญี่ปุ่น All Japan Amateur Triathlon Association, AJATA ที่สมาชิกคงเริ่มเบื่อการแข่งในสถานที่ที่จำเจ แถมน้ำในญี่ปุ่นก็เย็นยะเยือกไม่ชวนว่าย จึงพากันมาจัดแข่งที่ประเทศไทย และไหนๆจะมาจัดที่เมืองไทยแล้วก็เลยจัดที่พัทยาซะเลย เพราะคนมาแข่ง รวมทั้งลูกเมียกองเชียร์คนมาแข่ง จะได้ถือโอกาสท่องเที่ยวไปด้วยในตัว ซึ่งพอเขาไปติดต่อททท.ของเรา ททท.โดยนายเสรี วังส์ไพจิตร รองผู้ว่าการททท.ก็คว้าหมับเอามาเป็นอีเวนท์ใหญ่อีเวนท์หนึ่งของพัทยาในสมัยนั้นทีเดียว

การแข่งขันครั้งนั้นจัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 ที่ชายหาดหน้าโรงแรมแถวพัทยากลาง โดยมี 2 ระยะคือ กลุ่ม A ระยะทางรวม 112 กม. ส่วนกลุ่ม B ระยะทางครึ่งหนึ่ง หรือ 51 กม. ซึ่งแยกได้เป็นระยะทางว่ายน้ำ 1,000 เมตร จักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่งอีก 10 กิโลเมตร ที่จัดในระยะทางแบบนี้เพราะสมัยโน้นยังไม่มีระยะทางโอลิมปิก และไม่มีระยะทางประเภทสปรินท์ พูดง่ายๆไม่มีมาตรฐานการจัดในเรื่องระยะทางเป็นการตายตัว ผู้จัดจะจัดระยะทางเช่นไรก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกันนักในแต่ละประเภทการแข่งขัน

ในคืนก่อนการแข่งขัน มีการบรีฟกันก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับนักกีฬาว่าอย่างไรผิดไม่ผิดกติกา เช่น การขี่จักรยานจี้คนข้างหน้าห้ามทำ ห้ามรับน้ำจากคนภายนอก ห้ามมีพี่เลี้ยงวิ่งประกบ อะไรทำนองนั้น ซึ่งก็คงไม่ต่างจากสมัยนี้มากนัก แต่ในระหว่างประชุมบรีฟก็มีเหตุขึ้นจนได้ เมื่อผู้จัดบอกว่าจุดสตาร์ทอยู่ริมหาด พอปล่อยตัวให้ว่ายออกไปในทะเลเป็นรูปสามเหลี่ยม คือว่ายไปที่โป๊ะแรกกลางทะเล แล้วเลี้ยวขวาไปที่โป๊ะที่สอง แล้วเลี้ยวขวาอีกที เพื่อว่ายเข้าหาฝั่งบริเวณจุดสตาร์ทนั่นแหละ ขึ้นมาแล้วให้วิ่งข้ามหาด ข้ามถนน เข้าโรงแรม แล้วทะลุไปด้านหลังโรงแรมไปเอาจักรยาน

‘แล้ววิ่งไปแบบนี้โดนแก้วบาดทำไง หาดเมืองไทยบางทีก็มีคนกินเหล้าเมาทำขวดแตกไว้อยู่นะ’ ผมถามเพราะ 30 ปีที่แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ กรรมการญี่ปุ่นหน้าเลิ่กลั่กหันมองกันแล้วเอาหัวชนกัน ประชุมสรุปบนโต๊ะสัก 5 นาที แล้วออกมาประกาศว่า ‘ทางเราจะจัดเตรียมรองเท้าแตะฟองน้ำไว้บริการทุกท่านครับ’

‘เฮ’เสียงดังสนั่นตอบรับจากผู้สมัครเข้าแข่งขัน ซึ่งถ้าจำไม่ผิดทั้งญี่ปุ่น(เยอะ) ทั้งไทย(ไม่เยอะเท่าไรเพราะเป็นกีฬาใหม่) รวมกันน่าจะประมาณร้อยเดียว

รุ่งเช้าผมตื่นมา 6 โมง กำหนดเริ่มการแข่งที่ต้องดูปูมน้ำทะเลเพื่อกะให้นักกีฬาได้แข่งตอนน้ำนิ่ง ไม่ขึ้นไม่ลง ซึ่งวันนั้นตรงกับเวลา 9 โมงเช้า จึงมีเวลา 3 ชั่วโมงสำหรับการเตรียมตัว หลังจากทำธุระเช้าและอาบน้ำเสร็จผมลงไปที่ชั้นล่างของโรงแรม กินข้าวไป 1 ชามกับน้ำแกงจืด โดยไม่กินอะไรอีก กะจะเอาแป้งจากข้าวเป็นแหล่งพลังงาน เพราะวันนี้คงต้องออกกำลังเต็มที่และเข้มข้นเป็นเวลา 3 ชั่วโมง

ในปี 2530 นั้น ผมยังไม่มีจักรยานดีๆใช้ มีแต่จักรยานเสือหมอบ 10 สปีดจากไต้หวัน ซึ่งตัวถังรวมทั้งล้อและซี่ลวดเป็นเหล็กหมด จึงหนักอึ้ง จะซื้อให้ดีก็พอจะมีตังซื้ออยู่ แต่ผมก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไมเพราะจักรยานตอนนั้นยังไม่เป็นที่นิยม สถานที่ที่จะไปขี่ออกกำลังก็ไม่ค่อยมี และการจัดไตรกีฬาแบบนี้จะมีอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ วิเคราะห์ได้แบบนี้เสร็จผมจึงเลือกที่จะใช้จักรยานหนัก 15-16 กิโลกรัมคันนี้แหละเป็นจักรยานลงแข่งไตรกีฬาครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมด้วย ส่วนรองเท้าจักรยานก็เป็นรองเท้าหนังทำขายกันเองราคาถูกๆในประเทศไทย เพียงแต่เสริมพื้นหนังแข็งๆไว้ข้างใต้หน่อย และตีเกี๊ยะติดพื้นรองเท้า ไว้ล็อกกับลูกบันได (หมายเหตุ: เกี๊ยะคือชิ้นพลาสติกเล็กๆที่มีเซาะร่องไว้ เมื่อตอกติดกับพื้นรองเท้าและเอาไปวางบนลูกบันได ร่องนี้จะล็อกกับขอบลูกบันได้ ทำให้เท้ากระชับกับลูกบันได จึงปั่นรอบขาได้ดีขึ้น .... แต่สมัยนี้อย่าไปหา ไปถามนะครับ ไม่มีแล้วละครับ)

ส่วนกางเกงว่ายน้ำ แว่นตาว่ายน้ำดีๆ พอหาซื้อได้ในราคาที่สู้ไหว สำหรับกางเกงวิ่ง เสื้อวิ่งและรองเท้าวิ่งที่ดีๆก็พอมีอยู่แล้ว ดังนั้นสรุปอุปกรณ์มีครบ พร้อมที่จะลงแข่งไตรกีฬา......เย้!

โชคดีที่อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์จะถึงวันแข่ง ผมเอารถยนต์เก่าๆผุๆของผมไปทำสีใหม่ที่ร้านเล็กๆในซอยข้างบ้าน ไปเห็นจักรยานเสือหมอบเปอโยต์(ยี่ห้อดังมากในสมัยนั้น)รูปทรงดี แขวนอยู่ที่ผนังร้านซ่อมสี สอบถามไปสอบถามมาได้ความว่าช่างซึ่งเป็นเจ้าของอู่ด้วย เป็นอดีตนักจักรยานทีมชาติ(หรือทีมเขต ไม่แน่ใจ จำไม่ได้แล้ว) คุยไปคุยมาถูกคอเขาเลยเอาจักรยานเสือหมอบอีกคันซึ่งแน่นอนต้องคุณภาพด้อยกว่ามาให้ผมยืมลงแข่ง จักรยานคันนั้นไซ้ซ์ใหญ่ไปสำหรับผมนิดๆ แต่ก็ยังดีกว่าไอ้เสือหมอบไต้หวันแน่ๆ เพราะเสือหมอบไต้หวันราคาถูกแบบนั้นมีอยู่ไซซ์เดียวเป็นมาตรฐาน ไม่มีให้เลือก ไซซ์มันถึงยังไงก็ใหญ่เกินตัวผมอยู่ดี คันใหม่นี้หนักราวๆ 12-13 กิโลกรัม ไม่เบานัก แต่ก็ยังดี(ละวะ) เพราะเบากว่าและทรงดีกว่าเสือหมอบไต้หวันเป็นพะเรอเกวียน

แล้วก็ถึงเวลาปล่อยตัว 9:00 นาฬิกา

สิ้นเสียงปืนปล่อยตัว นักไตรกีฬาหรือคนที่แอบเรียกตัวเองว่านักไตรกีฬาพากันกรูวิ่งโดดลงทะเล แต่พอโดดลงไปแล้วกลับว่ายไม่ได้เพราะน้ำใกล้ฝั่งมันตื้น ต้องเดินลุยไปอีก 20-30 เมตรจึงเริ่มว่ายได้ ผมว่ายน้ำไม่ค่อยเป็น จึงว่ายไม่ค่อยตรงทาง แต่ก็ดีกว่าบางคนที่เป็นนักวิ่งแต่เพิ่งมาหัดว่ายน้ำเพื่อที่จะลงแข่งไอ้ไตรกีฬาที่ว่านี่ จึงว่ายน้ำได้ไม่แข็ง กลัวจมน้ำตาย จึงสวมเสื้อชูชีพลงว่ายด้วย ซึ่งพอสวมเสื้อชูชีพแบบนี้ก็ทำให้ต้านน้ำมาก สุดท้ายพี่แกเลยว่ายไปเกาะเชือกที่มีทุ่นแสดงแนวเส้นทางการแข่งขัน แล้วใช้วิธีสาวเชือก ซึ่งได้ผลดีมาก เร็วกว่าผมว่ายน้ำอีก หลังจากว่ายอ้อม 2 โป๊ะที่ว่าและกลับมาขึ้นฝั่งได้ เหลือบไปดูนาฬิกา ผมใช้เวลาไป 33 นาที ช้ากว่าที่ซ้อมไปกว่า 3 นาที

ขึ้นฝั่งได้ก็อาบน้ำจืดไล่น้ำเค็มที่ฝักบัวที่ผู้จัดขอให้โรงแรมทำไว้ที่หาด 3-4 จุด เสร็จแล้วรีบสวมรองเท้าแตะวิ่งไปจุดที่จอดจักรยาน หยิบกล้วยมากินเอาแรง 2 ลูกเล็กๆ พอขึ้นจักรยานเหลือบไปดูนาฬิกาอีกที ใช้เวลาช่วงนี้ไปถึง 5 นาทีกว่า ช้าจังแฮะ ถ้าคิดเอาเวลาช่วงนี้ไปเป็นเวลาที่ใช้วิ่งผมคงวิ่งไปได้หนึ่งกิโลกับ 250 เมตรแล้ว

ขึ้นขี่จักรยาน รู้สึกได้เลยว่าเบากว่าจักรยานไต้หวันคันที่ใช้ซ้อม จึงน่าจะทำเวลาได้ดีกว่าตอนซ้อม ขี่ไปได้ 15 กิโลควักกล้วยมากินอีก 3 ลูกเล็กๆ กะจะเอาแรงเพิ่มไว้ตอนวิ่ง ซึ่งเป็นกีฬาที่ถนัดที่สุด

ที่เล่ามานี่บอกได้เลยว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไตรกีฬาในสมัยนั้นนี่คนไทยมีน้อยมาก การจะซ้อมอย่างไร จะกินอย่างไร จะซ้อมทีละอย่างหรือต้องซ้อม 3 อย่างติดต่อกัน ต้องซ้อมให้ครบระยะทางที่จะลงแข่งไหม คือนักวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตรนั้นบางคนเขาลงครั้งแรกและกะเอาแค่ถึง เข้าเส้นชัยได้ เขาอาจซ้อมไม่ครบระยะทางก็ได้ แล้วไป‘อึด’เอาวันลงแข่งจริงอีกที อย่างนี้ก็มีนะครับ

แล้วไงต่อ

ได้จักรยานเบากว่าเดิม แล้วขี่เร็วขึ้นเท่าไร และพอกินกล้วยเข้าไปเยอะอย่างนั้น ตอนไปวิ่งจุกไหม หรือว่าแรงดีขึ้น
ขอไม่ตอบครับ ขอให้ไปอ่านบทความอีกเรื่องที่เขียนไว้นานแล้ว ตั้งแต่ปี 2530 โน่น หลังจากแข่งเสร็จไม่นาน และเอาไปลงตีพิมพ์แล้วในหนังสือพ็อกเกตบุ๊ครายปักษ์ที่เป็นที่นิยมของนักอ่านวัยอาวุโสสมัยนั้น ชื่อ“ต่วย’ตูน” โดยใช้ชื่อบทความว่า ‘ไก่สามอย่าง’
แล้วจะรู้ว่าผลออกมาเป็นไง

ส่วนตอนนี้ขอเอาประกาศนียบัตรที่ออกให้กับนักกีฬาที่วิ่งเข้าเส้นชัยของ นพ.กฤษฎา บานชื่น เพื่อนสนิทของผมมาโชว์ยั่วความสงสัยไว้ก่อนละกัน

ธงชัย พรรณสวัสดิ์
เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2558
ไฟล์แนบ
ประกาศนียบัตร 1st Championship Thai Triathlon Cup ‘87
ประกาศนียบัตร 1st Championship Thai Triathlon Cup ‘87
Untitled.png (426.64 KiB) เข้าดูแล้ว 2854 ครั้ง
รูปประจำตัวสมาชิก
Phakorn_Ann
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 34
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 มี.ค. 2019, 15:16
Tel: 0904414941

Re: บทความซีรีส์ ไตรกีฬา (1/3) : ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย

โพสต์ โดย Phakorn_Ann »

ได้ความรู้เพิ่มครับขอบคุณครับ
ตอบกลับ

กลับไปยัง “คุยนอกเรื่องใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับจักรยาน”