Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

ถ้าเป็นรถหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเป็นของเสือหมอบโดยเฉพาะ เชิญเข้าห้องนี้ครับ

ผู้ดูแล: Cycling B®y, spinbike, velocity

ตอบกลับ
giro
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 3092
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2008, 15:14
Tel: 0865040751
team: Team Bike And Body Cycoling
Bike: Kemo KE-R5, Giant Propel Advance SL, Specialized Alez E5 Revolution
ตำแหน่ง: ซอยอารีย์ พหลโยธิน กทม.
ติดต่อ:

Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย giro »

Trek DomaneSLR
เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว
รูปภาพ


Trek (เทร็ค) บริษัทจักรยานชั้นนำของโลก สัญชาติอเมริกา เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างว่านอกจากจะเป็นแบรนด์จักรยานที่ได้รับความนิยมสูงสุดเจ้าหนึ่งของโลก ยังเป็นบริษัทจักรยานที่มักจะก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งไปด้วยการเน้นวิจัยและพัฒนาการออกแบบจักรยานเพื่อให้ได้จักรยานแข่งขันที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง และทุกครั้งที่เทร็ค ออกรถโมเดลใหม่ออกมา มักจะมาคู่กับความล้ำของวิศวกรรมและการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของสมรรถนะเฟรมจักรยานแข่งขันรูปแบบต่างๆได้เจาะจงยิ่งขึ้น


รูปภาพ
ซึ่งเทร็คได้แบ่งสายของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสือหมอบออกเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่
มาโดน (Madone) หมายถึงกลุ่มรถเน้นทำความเร็วบนทางราบ จุดเด่นนำหน้ามาด้วยความแอโร่ไดนามิคส์ที่สูงที่สุดอันดับต้นๆของโลก และสมดุลย์ระหว่างน้ำหนัก ความสติฟ และความสบายที่สมเหตุผล
อีมอนด้า (Emonda) หรือเสือหมอบที่มีน้ำหนักเบา สติฟส่งกำลังได้ดี เหมาะสำหรับการใช้งานบนภูเขาสูงชัน ทำอัตราเร่งกระชากได้ดีกว่า คงความสบายในระดับหนึ่งและไม่คำนึงถึงแอโร่ไดนามิคส์
โดมานี่ (Domane) เป็นกลุ่มเสือหมอบที่สร้างออกมาเพื่อรองรับการใช้งานบนผิวถนนสุดโหดของการแข่งขันคลาสสิคแบบวันเดียว จุดมุ่งหมายคือการทำความเร็วสูงที่สุดบนเส้นทางขรุขระได้โดยส่งแรงกระทำมาที่ผู้ขี่น้อยที่สุด


รูปภาพ
จะเห็นได้ว่าเสือหมอบทั้ง 3 สายพันธุ์ของเทร็ค ล้วนแต่มุ่งเน้นไปที่ความเด่นเฉพาะด้านของสมรรถนะที่แตกต่างกัน แต่เทร็คยังคงมีปัจจัยสำคัญที่นำมาเป็นแนวทางในการออกแบบ ซึ่งก็คือ ความ "สมดุลย์" ระหว่างพื้นฐานเฟรมจักรยานที่สำคัญ 4 ประการ ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่บอกว่าเฟรมนั้นๆมีบุคลิกภาพและสมรรถนะอย่างไร องค์ประกอบพื้นฐานทั้ง 4 ได้แก่
1.น้ำหนัก จักรยานที่มีน้ำหนักเบากว่าย่อมได้เปรียบ แต่น้ำหนักที่เบาเกินไปมักหมายถึงความสติฟที่ลดลง หรือความสบายที่หายไปด้วย ทรงท่อและเนื้อวัสดุเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของตัวแปรด้านน้ำหนักของเฟรม
2.ความสบายในการขี่ ซึ่งมาจากชนิดของวัสดุที่เลือกใช้ ร่วมกับรูปทรงของเฟรม องศาและมิติ รวมถึงจุดเด่นในการออกแบบที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการลดแรงสะเทือนจากผิวถนนที่มาสู่ผู้ชี่ให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าจะส่งผลตรงกันข้ามกับความสติฟของเฟรม
3.ความสติฟ หรือความแข็งของเฟรมในการส่งกำลัง เมื่อเราออกแรงลงไปที่ระบบขับเคลื่อน เฟรมที่เป็นเหมือนโครงสร้างของจักรยานจะเกิดการบิดตัวขึ้น ยิ่งบิดตัวมาก แรงที่กระทำก็เสียไปมากด้วย ดังนั้นเฟรมที่สติฟ คือเฟรมที่ไม่มีการบิดตัว หรือบิดตัวน้อยที่สุด แต่ยิ่งเฟรมแข็งมากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลต่อความสบายที่ลดลงไปด้วย
4.แอโร่ไดนามิคส์ หรือรูปทรงของเฟรมในส่วนต่างๆที่ลดแรงต้านและฉุดจากอากาศให้ได้มากที่สุด และเป็นปัญหาหลักของทั้งน้ำหนัก ความสบาย และความสติฟของเฟรม เพราะรูปทรงที่ได้ความแอโร่ฯมากก็จะเสียปัจจัยด้านอื่นไปด้วยนั่นเอง


รูปภาพ
จะเห็นได้ชัดว่า การออกแบบเฟรมจักรยานที่สมบูรณ์แบบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานทั้ง 4 ประการนั้นทำได้ยากเป็นอย่างมาก แต่เทร็คใช้แนวคิดดุลยภาพของการออกแบบนี้เป็นหัวใจหลักของทุกสายพันธุ์เสือหมอบมาเสมอ ดังนั้นสำหรับ โดมานี่ ถึงแม้ว่าความสบายจะเป็นเป้าหมายหลักของการออกแบบ แต่ด้วยความที่เป็นเสือหมอบที่สร้างมาเพื่อการแข่งขันระดับสูงสุดของโลก ดังนั้นเฟรมจึงยังต้องมีน้ำหนักที่เบา สร้างอัตราเร่งได้ดี ทำความเร็วได้ทั้งทางราบและทางภูเขาด้วยน้ำหนักที่สมเหตุผล ประกอบกับความสติฟที่ส่งกำลังได้ยอดเยี่ยมมาตรฐานเดียวกับสายพันธุ์อื่นๆ เพราะแม้เฟรมจะดีเพียงใด แต่ไม่สามารถส่งกำลังได้ดี ก็ไม่ใช่จักรยานแข่งที่ดี ด้วยปัจจัยพื้นฐานทั้งหมด ท้าทายให้ทีมงานออกแบบของเทร็คต้องสร้างนวัตกรรมการออกแบบขึ้นมาเพื่อดึงเอาจุดเด่นออกมาได้มากที่สุดและเกิดจุดด้อยน้อยที่สุดนั่นเอง


รูปภาพ
Latteral / Vertical Stiffness
ก่อนที่จะมาทำความรู็จักกับการออกแบบของ DomaneSLR (โดมานี่ เอสแอลอาร์) มารู้จักกับแรงพื้นฐานที่กระทำกับจักรยาน ซึ่งส่งผลกับโครงสร้างของเฟรมจักรยาน และเป็นที่มาของการออกแบบเฟรมจักรยานของบรรดาวิศวกรและนักออกแบบทั้งหลายกันพอสังเขป
1.แรงกระทำในแนวด้านข้าง
หมายถึงแรงกระทำที่สามารถทำให้เฟรมบิดตัวไปมาในแนวระนาบด้านข้างได้ เช่น แรงที่เราออกแรงกดบันไดลงไป เนื่องจากแนวของขาจานอยู่ออกมานอกตัวเฟรมจักรยาน และแนวบันไดเองก็อยู๋ห่างจากกึ่งกลางของเฟรมออกมาตามระยะคิวแฟ็คเตอร์ของขาจาน ทำให้แรงกระทำดังกล่าว ก่อให้เฟรมเกิดการบิดตัวได้ในแนวระนาบด้านข้าง ซึ่งการบิดตัวนี้จะส่งผลเสียต่อการส่งกำลังไปยังระบบขับเคลื่อนโดยตรง หรือแรงที่เกิดขึ้นที่ช่วงท่อคอของเฟรมในการสปรินท์ หรือเข้าโค้งที่น้ำหนักตัวของผู้ขี่ทำให้เฟรมเกิดการบิดตัวในแนวระนาบด้านข้าง และส่งผลต่อการควบคุมจักรยานเมื่อการบิดตัวนั้นส่งผลให้แนวของล้อหน้าและหลังไม่อยู่บนแนวเส้นเดียวกัน
domane graphic 1.jpg
domane graphic 1.jpg (53.42 KiB) เข้าดูแล้ว 15439 ครั้ง
ดังนั้นเฟรมจักรยานที่ดี ต้องมีความสติฟในแนวระนาบที่สูง รักษาแรงให้ส่งไปยังจุดต่างๆได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งก็หมายถึงเกิดการบิดตัว(หรือขัยบได้)น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการออกแบบเฟรมจักรยานทั่วไป คุณสมบัตินี้เกิดมาได้จากทั้งเสป็คของวัสดุ การเลือกใช้คาร์บอน กรรมวิธีการผลิต การวางทิศทางและจำนวนชิ้นส่วนของคาร์บอนที่เหมาะสม ไปจนถึงแม้แต่การอบด้วยอุณภูมิ และการดูแลกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ

2แรงกระทำในแนวดิ่ง
หมายถึงคุณสมบัติที่มีต่อแรงกระทำใดๆที่มาสู่เฟรมจักรยานในลักษณะแนวดิ่งกับทรงของเฟรม หรือเรียกเป็นคุณสมบัติว่า Vertical Stiffness (เวอร์ติคัลสติฟเนส : ความแข็งในแนวดิ่ง) หรือในทางกลับกันก็จะเรียกว่า Vertical Compliance (เวอร์ติคัล คอมไพลแอ็นซ์ : การให้ตัวได้ในแนวดิ่ง) ซึ่งมีนิยามกลับกันอยู่ อธิบายง่ายๆดังนี้ครับ เวอร์ติคัลสติฟเนส หมายถึงความแข็งในแนวดิ่งที่มีการบิดตัวได้น้อยเมื่อรับแรง ส่วนเวอร์ติคัลคอมไพลแอ็นซ์หมายถึงการให้ตัวได้ในแนวดิ่งซึ่งสลายแรงในแนวดิ่งได้อย่างดี เป็นนิยามที่เรียกคุณสมบัติของเฟรมในปัจจัยนี้
domane graphic 2.jpg
domane graphic 2.jpg (85.86 KiB) เข้าดูแล้ว 15439 ครั้ง
แรงกระทำในแนวดิ่งก็คือแรงที่ส่งจากพื้นถนนมาสู่ล้อ ซี่ล้อ และดุมล้อ ก่อนจะเข้าสู่โครงสร้างของเฟรมและวิ่งมาตามเฟรมก่อนจะถึงตัวผู้ขี่ผ่านจุดสัมผัส (Contact Point : คอนแท็คพอยท์) ดังนั้นแรงสะเทือนเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายของผู้ขี่ล้าไปเองโดยเธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของการขี่จักรยาน เราใช้กล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็กในการออกแรงขับเคลื่อน และยังใช้กล้ามเนื้ออีกหลายส่วนโดยเฉพาะที่ร่างกายท่อนบนรักษาให้ร่างกายอยู่นิ่งๆ เพื่อเป็นหลักของการออกแรงที่ดี หากร่างกายท่อนบนล้าจากการต้องทำงานหนักต่อสู้กับแรงสะเทือนที่เขย่าร่างกาย สุดท้ายก็จะไม่เหลือแรงที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อสำคัญส่งแรงขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
domane graphic 3.jpg
domane graphic 3.jpg (87.94 KiB) เข้าดูแล้ว 15439 ครั้ง
ดังนั้นในการออกแบบ นักออกแบบจะจงใจให้เฟรมสามารถขยับให้ตัวได้ในแนวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งแรงกระทำไปที่ระบบขับเคลื่อน เพื่อสลาย(หรือซับ)แรงสะเทือนที่ส่งขึ้นมายังผู้ขี่ให้ได้มากที่สุด และแนวที่เหมาะสมก็คือแนวการเคลื่อนที่ในทิศทางหน้า/หลัง โดยตรง ซึ่งไม่ส่งผลต่อความสามารถในการส่งกำลัง หรือความสติฟในแนวระนาบแต่อย่างใด


รูปภาพ
พื้นฐานการคิดนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างไร นักออกแบบเฟรมจักรยานรู้มานานมากแล้ว หลักฐานสำคัญคือเฟรมจักรยานในยุคโบราณที่ใช้วัสดุผสมผสานกันทั้งอลูมินั่มในจุดที่ต้องการความสติฟสูง และโครโมลิบดินั่ม(โครโมลี่ หรือเหล็กสตีลโครโมลิบดินั่ม) ในจุดที่ต้องการให้แรงสะเทือนลดลงเช่นหางหลัง(Seatstay) อย่างไรก็ตาม วัสดุจำพวกโลหะไม่สามารถควบคุมทิศทางการให้ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีข้อจำกัดในการขึ้นรูปเพื่อควบคุมทิศทางของแรงได้ ดังนั้นทางออกนี้จึงไม่เป็นที่นิยม จราบจนกระทุ่งยุคของวัสดุคอมโพสิทเข้ามาเกี่ยวข้องกับเฟรมจักรยาน และเลือกใช้จุดเด่นของคาร์บอนในการซับแรงสะเทือน(หรือสลายแนวแรงกระทำ) ในชิ้นส่วนหลักที่ต้องการความสบายจึงเป็นทางออกที่เป็นที่นิยมต่อมา
domane graphic 4.jpg
domane graphic 4.jpg (27.74 KiB) เข้าดูแล้ว 15439 ครั้ง
กระทั่งในปัจจุบัน เฟรมจักรยานเลือกใฃ้คุณสมบัติของคาร์บอนต่างชนิดในการดึงจุดเด่นทั้ง 2 ลักษณะแนวแรงออกมาให้ได้ดีที่สุด และมีแนวคิดพื้นฐาน ที่โดมานี่ ยึดมั่นคือการแบ่งเฟรมออกเป็น 2 ส่วนสำคัญอันได้แก่ ส่วนที่ทำหน้าที่ส่งกำลังเพื่อขับเคลื่อนจักรยาน ที่ต้องสติฟ แข็งแรง และส่วนที่ให้ตัวได้ในแนวที่ควบคุมเพื่อใช้ให้การขับขี่สบายขึ้น ลดแรงสั่นสะเทือนจากถนนที่ขึ้นมายังร่างกายของผู้ขี่ให้ได้มากที่สุด


รูปภาพ
ISOspeed
"ไอโซสปีด" เป็นเทคโนโลยีการออกแบบที่เทร็คคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่โดมานี่ในรุ่นก่อน (และนำมาปรับใช้กับสายพันธุ์มาโดดนปีล่าสุดเช่นกัน) ด้วยแนวคิดง่ายๆของการออกแบบที่ช่วยให้การให้ตัวได้ของเฟรมในครึ่งบนทำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และดูดซับหรือสลายแรงสะเทือนได้มากที่สุด โดยนำเอาลูกยางอีลัสโตเมอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบ แต่แตกต่างจากระบบซัสเพนชั่นของโช็คเสือภูเขาที่ใช้ลูกยางซับแรงสะเทือนในแนวตรง แต่เทร็คเลือกใช้ซัสเพนชั่นที่ได้จากลูกยางอิลัสโตเมอร์ในการซับแรงสะเทือนของการเคลื่อนที่หน้า/หลัง ของท่อนั่ง ซึ่งทำให้ท่อนั่งสามารถเคลื่อนตัวได้เป็นอย่างดี ซับแรงสะเทือนได้ดียิ่งขึ้น ในรัศมีการเคลื่อนที่น้อยกว่าเดิม
รูปภาพ
ผมขออธิบายง่ายๆดังนี้ครับ ท่อนั่งของโดมานี่ที่เป็นไปโซสปีดนั้น เป็นท่อนั่งที่ซ้อนกันอยู๋ 2 ชั้นในลักษณะเกือบอิสระจากกัน ลองจินตนาการว่ามีช่องว่างอยู่ระหว่างท่อนั่งทั้งสอง ดังนั้นท่อนั่งด้านในจึงขยับไปมาอยู๋ในพื้นที่ว่างนั้นได้ การขยับได้ก็คือการซับและสลายแรงสะเทือนออกไปนั่นเอง ทีนี้ลองจินตนาการว่างที่ว่างดังกล่าวมีเพียงด้านหน้าและหลังของวงรอบของท่อนั่งด้านใน ท่อไม่สามารถขยับไปด้านข้างได้เลย แถมยัดลูกยางอิลัสโตเมอร์เข้าไปอุดช่องว่างหน้า/หลังนั้นอีกที ดังนั้นระบบไอโซสปีดก็คือระบบวิศวกรรมที่ยอนให้ท่อขยับได้อยู่ข้างในและใช้ลูกยางซับแรงในการขยับนั้นอีกทีเพื่อสลายแนวแรงที่ขึ้นมาสู่ร่างกายเรามากที่สุดนั่นเอง
รูปภาพ
ซึ่งโดมานี่ เอสแอลอาร์ หรือโดมานี่ใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวใช้งานแข่งขันจักรยานอาชีพฤดูกาล 2016 เป็นครั้งแรก ได้นำเอาเทคโนโลยี ไอโซสปีดมาพัฒนาต่อยอดและบรรจุลงในการออกแบบเฟรมจักรยานรุ่นใหม่ทำงานร่วมกันถึง 3 จุดที่เป็นหัวใจของความสามารถในการซับแรงที่ยอดเยี่ยม


รูปภาพ
ไอโซสปีดปรับได้
นี่คือก้าวใหม่ของการออกแบบจักรยานเสือหมอบ เมื่อเทร็คนำเอาแนวคิดการออกแบบไอโซสปีดมาต่อยอดต่อไปอีก จนเกิดเป็นท่อนั่งที่สามารถปรับให้มีระดับความสามารถในการซับแรงสะเทือนที่แตกต่างกันได้ง่ายๆด้วยการไขสกรูวเพียงตัวเดียวแล้วเลื่อนสลักล็อคไอโซสปีดขึ้นและลงตามต้องการ หากตำแหน่งของสลักอยู่บนสุด ท่อนั่งจะให้ตัวได้น้อยที่สุด(เวอร์ติคัลคอมไพลแอ็นซ์ต่ำ เวอร์ติคัลสติฟเนสสูง) ท่อนั่งจะซับแรงได้น้อย แต่ก็มีความสติฟเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในทางกลับกัน หากสลักอยู๋ในตำแหน่งต่ำที่สุดเฟรมก็จะมีท่อนั่งที่ให้ตัวและซับแรงสะเทือนได้มาก(เวอร์ติคัลคอมไพลแอ็นซ์สูง เวอร์ติคัลสติฟเนสต่ำ) มีรัศมีการขยับหน้า/หลังกว้างขึ้น ซับแรงสะเทือนได้มากขึ้น ขับขี่สบายขึ้นนั่นเอง
รูปภาพ
การทำงานที่ดูแล้วล้ำหน้านี้ เกิดจากการออกแบบที่เรียบง่าย และชาญฉลาดของวิศวกรของเทร็คนั่นเอง ไม่มีกลไกไฮเท็ค หรือระบบที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะการออกแบบที่เรียบง่ายแต่ใช้ได้จริงหมายถึงการทำงานที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี ในความยุ่งยากต่ำ การดูแลรักษาแสนจะง่าย
รูปภาพ
หลักการทำงานง่ายนิดเดียวครับ ลองนึกภาพกระบอกไม้ไผ่ที่ผ่าซีกลงไป หากเราผ่าลงไปลึกๆ รอยผ่าก็จจะแยกออกกว้าง หากเราผ่าลงไปนิดเดียว รอยผ่าก็จะแคบ รอยแยกที่กว้างก็หมายถึงพื้นที่ว่างในการขยับของท่อนั่งสองชั้นที่มากขึ้น รอยแยกที่แคบก็หมายถึงการขยับที่น้อยลงนั่นเอง หากขยับน้อย ท่อนั่งก็จะซับแรงน้อยลงและมั่นคงมากขึ้น หากขยับได้มากก็จะซับแรงสะเทือนได้มากขึ้น ได้ความราบเรียบมากขึ้นนั่นเอง


รูปภาพ
ไอโซสปีดด้านหน้า
ระบบไอโซสปีดได้รับการยอมรับจากนักแข่งจักรยานอาชีพชั้นนำอย่าง ฟาเบียน คันเชลลาร่า ว่าช่วยให้การขี่จัรกยานไปบนผิวถนนที่ขรุขระ ทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ยังรู้สึกว่าด้านหน้าของจักรยานยังกระเด้งสะเทือนโยนตัวไปตามแรงสะท้อนจากการพุ่งเข้ากระแทกกับผิวถนนของจักรยานอยู๋ ทำให้ทีมวิศวกรของเทร็ตพัฒนานำเอาไอโซสปีดมาใส่ที่ท่อคอและซางตะเกียบของ โดมานี่ เอสแอลอาร์ เพิ่มความสามารถในการซับแรงสะเทือนให้ได้สมบูรณ์สมดุลย์กันทั้งคัน
รูปภาพ
หลักการก็เหมือนกับไอโซสปีดปกติ อาศัยการให้ตัวได้ของซางตะเกียบคาร์บอนซึ่งโดยปกติก็สามารถให้ตัวได้อยู๋แล้ว จากนั้นทำให้ทรงของท่อคอมีพื้นที่ว่างด้านในบังคับให้ซางตะเกียบสามารถขยับไปมาแนวหน้า/หลังได้ เพื่อช่วยซับแรงสะเทือนออกไป โดยปิดช่องว่างด้วยระบบลูกยางอิลัสโตเมอร์เช่นเดียวกันกับไอโซสปีดที่ท่อนั่ง ที่สำคัญได้ออกแบบระบบลูกปืนในท่อคอใหม่พิเศษถึง 3 ชั้น ช่วยให้ท่อคอและซางตะเกียบขยับได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรง แต่ไม่ส่งผลอะไรกับการควบคุมรถ และดูแลรักษาได้ง่ายไม่มีปัญหาเรื่องน้ำที่จะเข้าไปในระบบหมุน
รูปภาพ
ทั้งไอโซสปีดด้านหน้าแบบใหม่ ร่วมกับตะเกียบหน้าที่สามารถซับแรงสะเทือนได้ของโดมานี่รุ่นก่อนหน้า ทำให้ โดมานี่ เอสแอลอาร์ กลายเป็นเสือหมอบที่มี เวอร์ติคัลคอมไพลแอ็นซ์ด้านหน้า ดีที่สุดที่มีในท้องตลาดตอนนี้ โดยที่มีความสติฟแนวระนาบของท่อคอไม่ได้น้อยไปกว่าเสือหมอบในกลุ่มสมรรถนะแบบเดียวกันของคู่แข่งอื่นๆเลย หรือเรียกง่ายๆว่า สติฟพอๆกันแต่นุ่มสบายมากกว่านั่นเอง


รูปภาพ
แฮนด์ไอโซคอร์
เมื่อท่อนั่งสามารถปรับให้ซับแรงได้มาก-น้อยตามใจ ร่วมกับท่อคอที่ช่วยซับแรงได้ดีมากขึ้น ชุดแฮนด์ซึ่งเป็นจุดสัมผัสสำคัญของผู้ขี่จึงนำเอาระบบการผลิตและวัสดุศาสตร์ล้ำสมัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ในรหัสเทคโนโลยีที่เรียกว่า "ไอโซคอร์" มีหลักการออกแบบตั้งแต่ขั้นตอนกรรมวิธีการผลิต ระหว่างชั้นคาร์บอนแต่ละชั้นจะมีชั้นยางพิเศษบางๆแทรกอยู่ โดยยางเหล่านั้นจะทำหน้าที่ซับแรงสะเทือนก่อนจะมาถึงมือเราอีกต่อหนึ่ง ช่วยให้แฮนด์สามารถให้ตัวได้ดีแต่มีความเหนียวและซับแรงได้ยอดเยี่ยม


รูปภาพ
ทำไมต้องขี่สบาย?
เป็นคำถามคาใจของใครอีกหลายคน และเป็นที่มาของความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับเสือหมอบในกลุ่มเอ็นดูแรนซ์ของคนส่วนใหญ่ การซับแรงสะเทือนของเฟรมเสือหมอบในลักษณะนี้ รวมถึงองศาของเฟรมที่เฉพาะตัว ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เฟรมมีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ใช่เพียงเพื่อความสบายของคนขี่เท่านั้น หากแต่ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู๋ที่"ความเร็ว" ของการแข่งขัน ทั้งความเร็วที่ทำได้จากร่างกายที่ไม่อ่อนล้า และความเร็วที่ทำได้มากขึ้นบนผิวถนนขรุขระจากการควบคุมที่ดีขึน
รูปภาพ
เราเข้าใจเรื่องการซับแรงสะเทือนไปแล้วจากพื้นฐานแรงกระทำของเฟรมจักรยานและเทคโนโลยีไอโซสปีดของเทร็ค แต่ยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู๋ในการออกแบบที่สำคัญของ โดมานี่ เอสแอลอาร์ นั่นคือการควบคุมที่ยอดเยี่ยมจากการออกแบบมิติของเฟรมและการสลายแรงสะเทือนนั่นเอง โดมานี่ เอสแอลอาร์ เป็นรถในกลุ่มเอ็นดูแรนซ์ซึ่งมีลักษณะการออกแบบมาตรฐานอยู่ที่องศาการก้มของผู้ขี่น้อยลงเพื่อลดความเครียดที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อร่างกายท่อนบน และระยะเอื้อมที่สั้นลงเพื่อบังคับให้มีท่าขี่ที่ตั้งมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือการลดระยะความสูงของกะโหลกจากพื้นลงไปอีกหน่อย ทำให้ โดมานี่ เอสแอลอาร์ เป็นจักรยานเสือหมอบเอ็นดูแรนซ์ ที่ท่าขี่ไม่ก้มมาก แต่ไม่มีจุดศูนย์ถ่วงที่สูงเกินไป สามารถเข้าโค้งแคบและคมได้ง่ายและเสถียรกว่างรถในกลุ่มเดียวกันคันอื่นๆ การออกแบบนี้ ได้มาจากการร่วมพัฒนากับนักแข่งที่ใช้งานเสือหมอบนี้บนเส้นทางการแข่งของยุโรป ในกลุ่มรายการคลาสสิคเช่น ปารีส-รูเบซ์, ทัวร์ออฟแฟลนเดอร์, ลิเย่จ์-บัสตอง-ลิเยจ์ และ อัมเสทลโกลด์เรส ซึ่งมีเส้นทางที่ทุรกันดาร ผิวถนนที่ยากต่อการควบคุม ทางแคบ และเลี้ยวลัดเลาะไปมา
รูปภาพ
เสือหมอบเอ็นดูแรนซ์บางคัน อาจขี่ได้สบายมาก ซับแรงสะเทือนได้มาก แต่หากพะวงกับการออกแบบมิติให้ที่ขี่ทำได้สบายเพียงอย่างเดียว ก็จะเสียคุณสมบัติในการควบคุมรถที่ดีไปด้วย และส่งผลเสียในสนามแข่งขัน หรือในการใช้งานของนักจักรยานที่ต้องการความเร็วและปราดเปรียวบนเส้นทางท้าทาย



การทดสอบรอบสื่อมวลชนครั้งแรกของโดมานี่ เอสแอลอาร์
รูปภาพ
เทร็คประเทศไทย โดยบริษัทโปรไบค์ฯ ได้จัดการทดสอบเสือหมอบ โดมานี่ เอสแอลอาร์ขึ้น สำหรับสื่อมวลชนจักรยานทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ชั้นนำได้มาร่วมกันทดลองขี่ โดมานี่ เอสแอลอาร์ บนเส้นทางที่ออกแบบมาได้ท้าทายสมกับเฟรมระดับแข่งขันเช่นนี้ โดยเส้นทางแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่
1.เส้นทางถนนเรียบ ทางตรงยาว จำลองการใช้งานบนถนนทั่วไป เพื่อทดสอบว่า โดมานี่ เอสแอลอาร์ จะสามารถทำความเร็วบนทางเรียบได้ดีแค่ไหน
2.เส้นทางขรุขระ ทีมงานเลือกเอาผิวถนนยางมะตอยที่ยังลงผิวไม่หมด มีทั้งความขรุขระจากพื้นผิวที่ไม่เรียบเสมอ ยังมีเศษกรวดและยางมะตอยที่หลุดร่อนเป็นอุปสรรค แถมมีความท้าทายด้วยโค้งลัดเลาะชายป่า กับความลื่นของถนนอีกด้วย
3.เส้นทางขึ้น-ลง สลับไปมา ในลักษณะของเนินชันระยะสั้นๆ สลับกันไปตามแนวเนินเขา ที่บังคับให้ผู้ขี่ต้องออกแรงระเบิดใส่เนินเพื่อพา โดมานี่ เอสแอลอาร์ ไปข้างหน้าให้ได้


รูปภาพ
จักรยานที่ใช้ทดสอบ
สื่อต่างๆจะได้รับจักรยานสำหรับการทดสอบคนละคัน โดยครั้งนี้เทร็คได้ส่งเสือหมอบมาให้ได้ลองสัมผัสกันใน 2 รุ่นได้แก่
-ดิสค์เบรค ดูราเอสดีไอทู ล้อ 700x32
-รุ่นเบรคธรรมดา ดูราเอสดีไอทู ล้อ 700x25
ซึ่งส่วนตัวผมได้ทดสอบบนรุ่นเบรคธรรมดา ชุดขับเคลื่อนดูราเอสดีไอทู ล้อบอนเทรเกอร์ 700x25 เสป็คทั้งคันต้องบอกว่าเป็นท็อปที่สุดของทุกชิ้นส่วน ทั้งยี่ห้อโปร และบอนเทรเกอร์ และทำน้ำหนักทั้งคันอยู่ที่ราวๆ 6.9-7 กม.
รูปภาพ
จุดเด่นที่น่าสนใจนอกจากเทคโนโลยีการออกแบบที่ล้ำหน้าอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด ยังรวมกับเสป็คของรถที่จับใส่มาให้เลือกได้สองลักษณะคือรุ่นดิสค์เบรค และรุ่มริมเบรค สำหรับริมเบรค โดมานี่ เอสแอลอาร์ ตัวท็อปจะมากับระบบเบรคไดเร็คท์เมาท์(ดูอัลไพว็อท) ที่มีความสามารถในการเบรคระดับเทพเป็นที่ยอมรับกันจากสื่อทั่วโลก ร่วมกับชิ้นส่วนต่างๆที่บอกเลยว่า "จัดเต็ม" มากๆ ทำให้โดมานี่ เอสแอลอาร์ ที่ผมได้มาทดสอบ เป็นเสป็คระดับแข่งขันเต็มตัวอย่างแท้จริง
รูปภาพ
ดังนั้นคำถามที่มักจะมีคนถามกันเกี่ยวกับ "รถเอนดูแรนซ์" ที่กังขากันว่าไม่เหมาะกับการซิ่ง และเป็นจักรยานสำหรับการขี่สบายๆ ชิลๆระยะทางยาวๆ กลายเป็นโจทย์สำคัญของผมไปโดยปริยาย ด้วยเซ็ทอัพของล้อ 25 มม. ที่ด้อยกว่าคันอื่นๆที่มากับล้อ 32 บอกได้คำเดียวว่าเมื่อไปถึงช่วงที่ถนน"ดิบ" โลกมันช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก่อนอื่นมาดู โดมานี่ เอสแอลอาร์ ดิสค์เบรคกันบ้างครับ
รูปภาพ
ชุดขับเคลื่อนพื้นฐานเป็นดูราเอส ดีไอทู แต่มือชิฟท์เตอร์เป็นแบบ non-series (นอนซีรีส์ : ไม่ระบุรุ่น) ใช้ระบบเบรคไฮโดรลิคส์น้ำมัน ใบดิสค์ 140 มม. แบบ โฟลทเมาท์ (Flat Mount) มาตรฐานแบบใหม่สำหรับดิสค์เบรคน้ำหนักเบา
รูปภาพ
ด้านหน้าใช้แกนของดุมดิสค์ 12 มม. (12x100) ซึ่งแตกต่างจากแกนของดิสค์เบรคเสือภูเขาที่นิยมใช้ 15x100 คาดว่าเพื่อลดน้ำหนักและความแข็งแรงที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เสือหมอบน่าจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ 15 มม.



รูปภาพ
บนเส้นทางปกติ ผมเลือกทดสอบปรับระดับความแข็งของไอโซสปีดที่ท่อนั่งให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุด หรือซับแรงสะเทือนน้อยที่สุด เพราะผมอยากรุ็ว่า โดมานี่ เอสแอลอาร์ หากวิ่งบนทางธรรมดา การที่ท่อนั่งสามารถขยับให้ตัวได้จะกลายเป็นอุปสรรคกับการทำความเร็วหรือไม่ แต่ต้องยอมรับครับว่าที่ตำแหน่งปรับแข็งที่สุด โดมานี่ เอสแอลอาร์ แทบไม่ต่างไปจากเสือหมอบนุ่มๆที่ซับแรงสักคันเลย โดยเฉพาะบนถนนทั่วไป ไม่รู้สึกถึงการให้ตัวได้ของท่อนั่งแต่อย่างใด ในขณะที่ก็ไม่รู้สึกว่าตัวรถจะมีการขยับให้ตัวได้แตกต่างไปจากเสือหมอบอื่นๆตามปกติ นอกเสียจากจังหวะที่จงใจพารถวิ่งเข้ารูดกับแถบชลอความเร็วบนพื้นถนน ที่จะสามารถรับรู้ได้ไม่ยากว่าเบาะสะเทือนน้อยลงมาก ที่สำคัญ ที่มือก็รับรู้ถึงความเรียบจากไอโซสปีดท่อคอได้เป็นอย่างดี
รูปภาพ
แต่ไฮไลท์ของการทดสอบอยู่ที่สภาพเส้นทางท้าทายของผิวถนนแนวการแข่งคลาสิคที่ทีมงานจัดมาระยะทางประมาณ 4 กม. ให้ลิ้มลองกันได้ 2 รอบเพื่อปรับไอโซสปีดให้แตกต่างกันและลองสัมผัสดูว่าผู้ขี่สามารถรับรู้ได้หรือไม่ถึงความต่างของการซับแรงสะเทือนจากผิวถนน
รูปภาพ
สภภาพถนนขรุขระ สั่นสะเทือน ลื่นเล็กน้อยจากกรวดลอย หินลอย และความโค้งลัดเลาะไปตามแนวคลองส่งน้ำ แต่ไม่มีหลุมบ่อให้ต้องกังวล ดังนั้น อุปสรรคก็อยู่แค่เทคนิคการขี่บนเส้นทางคลาสสิค และการเข้าโค้งบนผิวทางขรุขระคดเคี้ยวที่แตกต่างกัน เป็นวิบากชีวิตพอสมควรสำหรับผมที่แทบไม่ได้จับเสือภูเขามาเป็นสิบๆปี กับสื่อมวลชนท่านอื่นๆที่เชี่ยวชาญทางเสือภูเขาเป็นพิเศษ ผ่านไปบนเส้นทางได้แบบบินฉิว
รูปภาพ
และถ้าใครชอบดูการแข่งแนวคลาสสิคก็จะรู็ว่า คนขี่ตัวเล็กๆ จะเสียเปรียบมากๆบนเส้นทางแบบนี้ เพราะน้ำหนักรวมที่น้อย ทำให้แรงกระเด้งกระดอนจากผิวถนนส่งผลโมเมนตั้มของรถลดไปมากกว่าคนตัวใหญ่ ที่รักษาการเคลื่อนที่เอาไว้ได้ แถมถ้ามีการสะบัด ดีดผิวทาง ก็มีโอกาสที่จะเสียการควบคุมได้ง่ายกว่า ซึ่งสำหรับผมที่มากับเสป็คล้อ 700x25 ด้วยแล้วสูบลม 110psi ถือเป็นความท้าทายยิ่ง แต่ก็ผ่านไปได้รอบแรก ลองดูไลน์และสังเกตุผิวทางไปก่อน ถึงกระนั้นก็ทำความเร็วไปในระดับพอสนุกสนานที่เฉลี่ย 4 กม. 32 กม./ชม.
รูปภาพ
พอจอดผมรีบขอปรับไอโซสปีดลงมาล่างสุดเพื่อให้เฟรมทำหน้าที่ได้เต็มที่ ต้องยอมรับอีกแล้วครับว่าความสติฟและการส่งกำลังของเฟรมทำได้ดีมาก ซึ่งเมื่อไอโซสปีดถูกปรับอยู่ในระดับแข็งที่สุด เฟรมก็กระเด้งกระดอนบนผิวทางแบบนี้ใช้ได้เลย แต่สิ่งที่ทำให้มั่นใจมากกว่าเสือหมอบปกติคือช่วงหน้ารถที่ไม่โยนตัวเท่าที่คิด จากไอโซสปีดในท่อคอ ซึ่งช่วยให้รถวิ่งไปข้างหน้าได้นิ่งขึ้น สะท้านน้อยลง และมีอาการ"ดุ้น" เมื่อเจอผิวทางขรุขระน้อยกว่ามาก ดังนั้นรอบที่สอง ผมปรับทุกอย่างอ่อนสุด และทดลองใส่ลงไปเบาะๆที่ระยะทางเท่าเดิม อัดลงไปราวๆ 220-300 วัตต์ ลดรอบขาลงแล้วย่ำเนิบๆ จับที่บาร์บนแบบคำแนะนำของบรรดาโปรสายคลาสสิค ประคองเบาๆแล้วปล่อยให้รถพุ่งเสยเข้าไปเอง
รูปภาพ
ผลคือความมันส์บังเกิดทันที เมื่อรถเกิดเกาะถนนขึ้นมาอย่างรู้สึกได้ แรงสะเทือนที่ส่งมาที่ตัวน้อยกว่ารอบแรกอย่างเห็นได้ชัด และสมดุลย์ของหน้าหลังมากกว่าเดิม ทำให้สามารถทำความเร็วไปได้มากขึ้นโดยที่ไม่ได้รู้สึกระแวงจะล้มไปด้วย รอบนี้ผ่านเส้นทางสุดโหดไปได้แบบนิ่มๆด้วยความเร็ว 42 กม./ชม. บอกได้เลยครับว่าหากเป็นเสือหมอบที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับเส้นทางแบบนี้ จะเกิดอาการกระเด้ง กระดอน หลุดโค้งง่ายๆ ดื้อไลน์กันเฉยๆก็เป็นได้ไม่ยาก สรุปว่าบทเส้นทางแบบนี้ สอบผ่านกันเห็นๆแบบไม่ผิดคาดครับ
รูปภาพ


กลับมาบนถนนเรียบกันบ้าง แต่ผิวเรียบไม่ได้แปลว่าเป็นทางราบ เพราะหนึ่งในการแข่งสำคัญของรายการคลาสสิคคือ ลิเย่จ์-บัสตอง-ลิเยจ์ ซึ่งมีเส้นทางเนินเขาสลับอยู่ไม่น้อย และ ทัวร์ออฟแฟลนเดอร์ที่ต้องไต่เขากระแทกความชันเกินสิบเปอร์เซ็นต์อยู่หลายจุด ทำให้ผู้จัดเลือกเส้นทางขึ้น-ลงให้ได้ลองระเบิดเนินกันดูว่าทำได้ดีหรือไม่ ซึ่ง โดมานี่ เอสแอลอาร์ จะเจิกับข้อกังขา ว่าเมื่อท่อนั่งขยับได้ เฟรมนิ่มขี่สบาย จะยืนโยกยัดเข้าไปแล้วจะย้วยด้วยหรือเปล่า
รูปภาพ
จากเส้นทางแบบนี้ ทำให้การขี่เป็นแบบอินเทอร์วัลไปโดยปริยาย ซึ่งก็สนุกและได้ลองยัดกันสุดๆทุกเนิน ยืนใส่จนถึงยอดเนินแล้วกระแทกส่งลงมาต่อ ก่อนที่จะลองปล่อยให้รถไหลต่อดูโมเมนตั้มของรถ นั่งบนท่อบนมุดหลบลม ก่อนจะยืนโยกไล่เกียร์ยัดเนินต่อไป เช่นนี้ตลอดระยะทางช่วงนี้
รูปภาพ
ผมพยายามเลี้ยงเอาไว้ที่ช่วงเทรสโชลด์ของตัวเอง และระเบิดขึ้นไปที่ราวๆ 10-12 วัตต์ต่อกิโลกรัมสลับไปเรื่อยๆ ทั้งนั่งและยืนโยก ผลที่ได้รับจากความรู้สึกในการขี่คือ เมื่อยืนโยกรถเต็มที่ โดมานี่ เอสแอลอาร์ แทบไม่มีฟิลลิ่งแตกต่างจากเสือหมอบปกติเลย เพราะเมื่อก้นเราออกจากเบาะมาแล้ว และปล่อยน้ำหนักทั้งหมดลงไปบนบันได รถก็ทะยานออกไปข้างหน้าได้ตามแรงที่ส่ง ที่สำคัญ พอเลื่อนตัวลงมานั่งบนท่อนอนขดตัวหลบลมมุดทิ้งลงเนิน มันก็กระด้างกระดอนไม่ได้ต่างไปจากเฟรมทั่วไปเลยแม้แต่น้อย
รูปภาพ
จะมีสิ่งที่รับรู้ได้ก็คือช่วงด้านหน้าของรถที่ให้ตัวได้บ้างตามแรงที่กระแทกลงไป ยิ่งหากใครเป็นคนยืนโยกแบบทิ้งตัวขย่มๆลงไปตรงๆทั้งตัว มีการลงน้ำหนักที่มือด้วยแล้วล่ะก็ จะรู้สึกว่าหน้ารถยุบได้จริงๆครับ ทว่า... นั่นไม่ใช่การออกแรงยืนโยกที่ดีนะครับ เปลืองแรงโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นในสถานการณ์ปกติก็ไม่ได้ถือว่มีผลเสียอย่างไร
รูปภาพ
ทางด้านทางราบ ยาวๆ หรือเนิน 1-2% ที่ยาวเป็นกิโลๆ จุดนี้น่าจะเป็นจุดอ่อนที่ชัดเจนที่สุดสำหรับโดมานี่ เอสแอลอาร์ เพราะรถรักษาโมเมนตั้มที่ความเร็วสุงมากๆได้ไม่ดีนัก ต่างจากรถทรงแอโร่ฯที่ทำได้ดีกว่ามากๆ ร่วมกับการสปรินท์แบบกดตัวลงต่ำๆแล้วอัดรถโยกซ้าย-ขวา ซึ่งท่อคอไม่ได้ก่ออาการให้ตัวได้ในแนวด้านข้าง แต่เป็นแฮนด์ไอโซคอร์ที่ให้ตัวได้ตามจังหวะการดึงและดันรถไปด้วย ผมเชื่อว่าไม่ได้ส่งผลมากกับสมรรถนะการขี่ แต่เป็นอารมณ์ที่รู้สึก "ดึ๋ง" มากไปหน่อยเท่านั้น



รูปภาพ
ข้อดีของโดมานี่ เอสแอลอาร์
1.ความสบายในการขี่
ก็เป็นที่แน่นอนครับว่าเสือหมอบคันนี้มีหัวใจอยู่ที่ความสบายเป็นหลัก ทั้งการซับแรงสะเทือนจากถนน และท่าขี่ที่ต่อให้กดเสต็มลงหมด เอาแหวนออกจนสุด ก็ยังไม่ได้ฟิลลิ่งขี่ดุดันมากนัก (หากใครชอบขี่แบบมุดๆ ดุๆ) หากอยากจะแต่งให้ซิ่งหรือท่าขี่ที่โหดหน่อยก็ต้องมองหาเสต็มยาวขึ้น และองศากดลงมากกว่าปกติมาแก้ไขตรงนี้กัน ซึ่งจุดนี้เห็นได้จากรถของฟาเบียน คันเชลลาร่า ที่มีองศาพิเศษ เพื่อให้ได้ท่าขี่ที่ดุดันกว่าปกติ แต่ก็อย่าลืมนะครับว่าร่างกายของเค้าแกร่งกว่าคนปกติมาก

2.การควบคุมที่ยอดเยี่ยม
เสือหมอบที่ฐานล้อยาว เพื่อให้รถนิ่งและทรงตัวได้ง่าย มักมาคู๋กับอาการ "ตื้อ" ในโค้งและขืนเวลาเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงๆ ในทางกลับกันเสือหมอบฐานล้อสั้นๆรถจะว่องไว ซ่อกแซ่กได้ดี คมกริบ ขยับนิดเป็นมา แต่ก็ทรงตัวยากกว่า สำหรับโดมานี่ เอสแอลอาร์ เป็นการผสมผสานที่ลงตัวของฐานล้อที่ยาวนิ่งมั่นคง และจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำสามารถดึงรถให้ติดขาได้ง่าย ดังนั้น รถจึงนิ่งแต่ไม่ตื้อในสถานการณ์คดเคี้ยว และกลายเป็นจุดเด่นที่หาบุคลิกภาพแบบนี้ไม่ง่ายเลยทีเดียว

3.น้ำหนักเบา
ผมไม่ได้หมายถึงเบาระดับ 6-7 ขีดแบบพวกเฟรมไต่เขานะครับ แต่สำหรับเฟรมเอนดูแรนซ์ ที่มากับกลไกการออกแบบขนาดนี้ และมีน้ำหนักเฟรมเปล่า(ไม่รวมตะเกียบ/หลักอาน) อยู่รวๆ 0.95 กก. บวกลบตามขนาดและสี ถือว่าทำน้ำหนักได้ยอดเยี่ยมมากๆ ต้อยกนิ้วให้กับเทคโนโลยีคาร์บอน OCLV ของเทร็ค ที่ช่วยให้การขึ้นรูปทำได้อย่างแนบแน่นสนิท แข็งแรงโดยใช้วัสดุนี้อยลง กำจัด่วนเกินออกไปได้มาก

4.ไอโซสปีดปรับได้
การปรับได้เป็นจุดเด่นที่ชัดเจนอย่างมาก สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวต่างกัน ต้องการความสามารถในการซับแรงที่ต่างกันด้วย และการขี่บนเส้นทางที่ต่างกัน ก็สามารถปรับระบบไอโซสปีดที่ท่อนั่งให้แตกต่างกันตอบสนองความต้องการได้สมบูรณ์ขึ้น ถึงแม้ว่าการปรับจะไม่สามารถทำไปด้วยปั่นไปด้วยได้ (จริงๆก็ทำได้นะครับ) แต่ก็สะดวกเพียงแค่ใช้ประแจปอนด์(ที่แถมมาให้กับเฟรม) ขันน็อตแค่ตัวเดียว จากนั้นเลื่อนสลักยึดขึ้นหรือลงตามต้องการ แล้วขันล็อคตามทอร์คที่ฟิกซ์มากับตัวประแจ ก็จะได้บิคลิกของรถที่หลากหลายสมใจมาขี่ได้



รูปภาพ
ข้อด้อยของโดมานี่ เอสแอลอาร์
1.แอโร่ไดนามิคส์
เป็นข้อเสียชัดเจนที่สุดที่สัมผัสได้ เพราะที่ความเร็วสูงบนทางราบ ต้องเติมค่อนข้างมาก การสปรินท์ความเร็วสูงที่ความเร็ว 50+ รู้สึกว่ารถทะยานออกไปได้ยากกว่าเสือหมอบแอโร่ฯที่น้ำหนักมากกว่าบางตัวด้วยซ้ำ แต่มันไม่ใช่ข้อด้อยที่ทำให้เฟรมตัวนี้ไม่ดีนะครับ เพราะหากเข้าใจการออกแบบเฟรม จริงๆแล้วทีมงานออกแบบจงใจที่จะไม่ยุ่งกับด้านนี้เลย ส่วนหนึ่งเพราะเทร็คมีมาโดนเป็นสายพันธุ์ความเร็วที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเราสามารถแก้ไขข้อนี้ด้วยการเลือกล้อที่เหมาะสมมาช่วยได้ ดังนั้นหากท่านครอบครองโดมานี่ เอสแอลอาร์ ก็ควรจะมีล้อเอาไว้ให้หลากหลายกับสภาพเส้นทางไปด้วย

2.การดูแลรักษาในระยะยาว
ไม่ว่าจะเ)็นระบบกลไกต่างๆ หรือลูกยางอิลัสโตเมอร์ ผมมองว่าในระยะยาวมันก็ต้องมีอายุการใชช้งานและต้องการการดูแลที่เหมาะสมมากกว่าเสือหมอบธรรมดา ไม่มากก็น้อย การล้าง ทำความสะอาดที่อาจมีปัจจัยเพิ่มเติมบ้าง ไม่ได้มากมายถึงขนาดพิเศษ แต่ก็ไม่ได้ง่ายชนิดน้ำราดแล้วจบกันแน่ครับ ไหนจะความร้อนที่ส่งผลกับอิลัสโตเมอร์ และการเก็บรักษา เนื่องจากเพิ่งออกมาเราจึงยังหาคำตอบไม่ได้ว่าระยะยาวจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ แต่ข้อนี้ก็ไม่ได้ต้องกังวลมากอีกเช่นกัน เพราะทางผู้นำเข้าได้ยืนยันแล้วว่าเทร็คพร้อมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆสำรองเอาไว้ และเตรียมสั่งเข้ามารองรับความต้องการในระยะยาวเรียบร้อยแล้ว และนโยบายการประกันแบบ"Life Time" ที่ดูแลกันไปยาวๆของผู้นำเข้าและบริษัทแม่องก็น่าจะให้ความมั่นใจได้เช่นกัน

3.มันส์ ไม่ดิบ!
ผมมักจะนิยามรถขี่สบายๆทั้งหลายแบบนี้แหละครับ อย่าหาว่าผมตำหนิเลย เพราะในมุมหนึ่งของการเลือกจักรยานมาปั่นของใครบางคน ต้องการความดิบ ดุดัน ผ่านถนนไปเท่าไหร่ สะเทือนส่งมาหาหมดเต็มที่ ล้าไม่กลัว กรอบไม่เกรง ใจอยากจะแรง แรงสั้นแรงยาวก็ตามแต่รสนิยมของแต่ละคน แต่เสือหมอบกลุ่มนี้ ต่อให้เราทำอัตราเร่งได้จัดจ้าน เร็วจี๋ แต่ก็ยากจะรู้สึกสะใจเพราะส่วนหนึ่งของความมันส์คือความรู็สึกที่ถนนผ่านเราไปเร็วขึ้นนั่นเอง แต่ข้อด้อยข้อนี้จะไม่เกิด หากท่านไม่ได้มองหาอะไรดิบๆมาเป็นตัวตั้งนะครับ


รูปภาพ
โดมานี่ เอสแอลอาร์ เหมาะกับใคร?
ปกติผมต้องสรุปว่า หลังจากการทดสอบ และการออกแบบที่นำมาเล่าสู่กันฟัง เรามาหากันว่ากลุ่มเป้าหมายที่น่าจะชอบจักรยานคันนี้จะเป็นแบบไหนกัน แต่คราวนี้ผมจะสรุปไปอีกแบบก่อนครับว่า "จักรยานเอนดูแรนซ์" แท้ที่จริงคืออะไรกันแน่ แล้วค่อยวกมาสรุปเรื่องโดมานี่ฯ กัน

ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับเสือหมอบเอนดูแรนซ์
-เสือหมอบเอนดูแรนซ์ เอาไว้ขี่ชิลๆ
พอพูดถึงเสือหมอบ เวลาพนักงานขายแนะนำ หรือคนทั่วไปแนะนำ ก็มักจะบอกว่ารถแบบนี้ไว้ขี่ชิลๆ สบายๆไกล มันขี่สบาย ไม่ซิ่ง หากอยากซิ่งไปหารถเบา รถพุ่งขี่จะดีกว่า แต่ต้องบอกเลยว่าไม่จริงครับ เสือหมอบ จะอย่างไรโดยดีเอ็นเอ สายพันธุ์ลึกๆก็คือรถสปอร์ทเอาไว้ซิ่ง ทำความเร็ว เพียงแต่แต่ละคันซิ่งแบบไหน อย่างไรก็แตกต่างกันไปด้วย ยิ่งสำหรับโดมานี่ เอสแอลอาร์ ปรับระดับความสติฟแนวดิ่งได้ ยิ่งหมายความว่าสามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ส่วนความสติฟในจุดสำคัญๆก็ไม่ได้แตกต่างกับเสือหมอบอื่นๆ ดังนั้น หากใครเกรงว่าเสือหมอบแบบนี้จะซิ่งไม่ออก คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ก่อนล่ะครับ
-รถนุ่ม ไม่พุ่ง
ข้อนี้หนักหนาเลยล่ะครับ เพราะความนุ่ม กับความพุ่งนั้นเป็นนามธรรมล้วนๆ บางครั้งความพุ่งก็มาจากแค่ความรู้สึกตอบสนองที่ส่งมาถึงได้ ดังนั้น รถเบาๆพุ่งๆบางตัว กดยังไงก็พุ่ง เร่งจี๊ดจ๊าด แต่คนขี่ไม่รู้สึกมากเพราะหางหลังออกแบบมาเรียวเล็กเป็นเอกลักษณ์ซับแรงได้เยี่ยม ใครๆขี่หากไม่เข้าใจจักรยานจริงก็จะบอกว่ารถขี่ไม่สนุกกดไม่ไป ในขณะที่รถกระด้างพวกอลูมินั่มเต็มๆบางคัน ขี่สะท้านทรวงไส้แทบไหลไปกองกันที่ตาตุ่ม แต่พอยัดกระแทกบิดกันกลับเบี้ยวไปตามแรงได้ พวกนี้ก็ไม่ได้แปลว่าแข็งแล้วจะพุ่ง ดังนั้น พุ่ง กับ นุ่ม ต้องแยกกันให้ออกครับ เอามารวมกันเมื่อไหร่ ออกทะเลทุกที


รูปภาพ
สรุป.....
ถ้าอยากได้เสือหมอบคันเดียว ครบรสหลากหลาย กว้างๆ ไปได้หลายที่ ขี่ได้หลายทาง และเน้นว่าขี่นานได้ไม่หนักสังขาร วินาทีนี้ก็คงต้องยกให้โดมานี่ เอสแอลอาร์ มาเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นมากๆ ถึงแม้ว่าหากท่านไม่ได้เน้นขี่นาน และลองมองดูสภาพสังขารผิวถนนที่ท่านขี่แล้วพบว่ากระเด้ง กระดอน หลุมบ่อ ท่อแตก อยากขี่ได้โดยไม่ต้องพวงว่าจะสะบัดคว่ำ หรือใส่ยางกว้างๆขี่เนียนๆ ก็ต้องยอมรับว่า โดมานี่ เอสแอลอาร์ ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในระดับหัวแถวอีกเช่นกัน แถมวันไหนอยากซิ่ง ก็ปรับไอโซสปีด เอาออกไปใส่บนทางเรียบๆกริบๆ หาล้อเบาๆ ขอบสูงไหลดีๆ ยางหน้ากว้างซัก 25 มม. เท่านี้ก็เหมือนกับได้รถอีกคันมาแล้วครับ รวมข้อดีกันทั้งหลายแบบนี้ จะติดปัญหาก็เหลืออยู่แค่ .... ค่านิยม เท่านั้น ที่ยังง้างให้ยอมรับเหตุผลซื้อกันไม่ได้
ลองถามใจตัวเองดูนะครับ ว่าขี่จักรยาน อยากได้อะไร? เราให้คุณค่ากับความนิยม หรือให้คุณค่ากับจักรยาน??

รายละเอียดด้านเทคนิค เจาะลึกการเปิดตัว
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic. ... &t=1421827[homeimg=300,250]http://www.thaimtb.com/forum/picture_mt ... 814937.jpg[/homeimg]
ฟังสาระจักรยาน Podcast
https://open.spotify.com/show/76iDUCWXgqqixg1CmoSDIp
ข่าวสารจัรกยาน
https://www.facebook.com/cyclinghubthailand/
kanawee
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 24
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.พ. 2011, 23:10
Bike: Bianchi Impulso 2014, Canyon Ultimate CF SLX 2014, OLtre XR2 team belkin, BMC TE02 2016, Ridley NoahSL team LottoSudal 2016
ติดต่อ:

Re: Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย kanawee »

เยี่ยมครับ อยากจัดเลยเนี่ยะ
aobbyx
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 540
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ธ.ค. 2012, 16:41
ติดต่อ:

Re: Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย aobbyx »

Trek ทำรถจักรยานได้ทันสมัยจริงๆ ห่วงอย่างเดียวเรื่องการบำรุงรักษาจะยุ่งยากนิดหน่อย

ราคาก็เอาเรื่องเหมือนกันค่ายนี้ :)
โอนไว ส่งไว บริการประทับใจ วางใจผม :lol:
cjlift
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 101
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.ย. 2014, 09:19
Bike: Trek Domane 5.9
ติดต่อ:

Re: Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย cjlift »

พอจะมีโอกาสได้ปั่นรุ่นล่างลงมามั้ยครับ เช่น Domane SL/S แบบ Emonda บ้าง
SLR คนธรรมดาอย่างผมเอื้อมไม่ถึงจริงๆ ถ้าไม่มีรุ่นล่างจะได้จัด Domane 5.2 รุ่นเก่าไปเลย
ton.rayong
สมาชิก
สมาชิก
โพสต์: 86
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 มิ.ย. 2011, 12:35
Tel: 0897507543
team: ton.rayong
Bike: ฺBMC GF02,TREK Superfly
ตำแหน่ง: Rayong
ติดต่อ:

Re: Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย ton.rayong »

คันหลายแสน อยากได้แพงโพ้ด
ปั่นเพื่อตัวเองและคนรอบข้าง
Bicycle Rayong
สมาชิกกลุ่ม จักรยานระยอง ไว้ชวนกันปั่น แนะนำเส้นทาง หาความรู้ สอบถามราคา
ออกทริป ขายของไม่ได้ใช้
https://www.facebook.com/groups/464315120341576/
รูปประจำตัวสมาชิก
suwitpr
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 890
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ธ.ค. 2011, 15:22
Bike: TREK 29er superfly9.6
ตำแหน่ง: เชียงใหม่
ติดต่อ:

Re: Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย suwitpr »

ปักไว้อ่าน
เสือภูเขา ... ไม่มีวันตาย !!!
รูปประจำตัวสมาชิก
ethylalc
ขาประจำ
ขาประจำ
โพสต์: 634
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ส.ค. 2011, 19:59
Bike: Specialized E5 2015
ตำแหน่ง: onnut bkk

Re: Test Ride : Trek DomaneSLR เทร็ค โดมานี่ เอสแอลอาร์ นิยามใหม่ของความเรียบและแรงในหนึ่งเดียว

โพสต์ โดย ethylalc »

นุ่มคือสบาย พุ่งคือเร่งติดเท้า อยู่ที่ฟิลลิ่งล้วนๆ
ตอบกลับ

กลับไปยัง “เสือหมอบ (roadbike)”